ปัจจุบันกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาระบบ บัตรประชาชนดิจิทัล หรือ Digital ID ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนใช้งานง่าย ลดภาระในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ ไม่ต้องคอยถ่ายเอกสารให้ปวดหัวอยู่ ซึ่งมาดูกันดีกว่าว่าการสมัครบัตรประชาชน Digital ทำอย่างไร และมีวิธีการรักษาเอกสารภาครัฐด้วยวิธีอื่นอย่างไรบ้าง
การสมัคร บัตรประชาชนดิจิทัล
บัตรประชาชนดิจิทัลสามารถสมัครผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยขั้นตอนแรกให้เริ่มดาวน์โหลดแอปพลิเคชันชื่อ “ThaID” (รุ่นเก่าชื่อ D.DOPA) หรือหากลงทะเบียนไม่เป็น อาจเดินทางไปอำเภอใกล้บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแทนให้ แต่ถ้าเลือกลงทะเบียนด้วยตนเอง เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเสร็จแล้ว ให้ดำเนินการต่อดังนี้
- ระบบลงทะเบียนของแอปพลิเคชัน จะขึ้นหน้าต่างออกมา 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ลงทะเบียนด้วยตนเอง และ 2) ลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ลงทะเบียนเลือกหน้าต่างแรก
- กดยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ เพื่อให้ระบบของแอปพลิเคชันเข้าถึงกล้องถ่ายรูป และอัลบั้ม
- ถ่ายรูปด้านหน้า และด้านหลังบัตรประชาชน โดยให้ภาพของบัตรเห็นเต็มรูป ไม่เบลอ จากนั้นตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ถ้าถูกต้องให้กดยืนยัน
- เซลฟี่หน้าตนเอง สำหรับยืนยันตัวตน ควรถ่ายในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และเห็นใบหน้าตัวเองชัดเจน
- ตั้งรหัสผ่าน โดยรหัสผ่านที่แนะนำในการใช้งาน คือ มีความยาวอย่างน้อย 8 ตัวอักษร ใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่-เล็กสลับกัน และควรใช้อักขระพิเศษอย่าง + – @ ด้วย เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
- ระบบจะให้ยืนยันรหัสผ่านอีกหนึ่งครั้ง เพื่อยืนยันว่าตั้งรหัสผ่านถูกต้อง และไม่ตั้งรหัสเรียงกัน หรือซ้ำเกิน 4 ตัว เช่น “5678” หรือ “5555” หากตั้งรูปแบบดังกล่าว จะไม่ผ่านตามข้อกำหนดของแอปพลิเคชัน
- ระบบจะแจ้งเตือนความยินยอม ก่อนเข้าสู่ระบบครั้งแรก เป็นอันเสร็จสิ้นการสมัคร
แต่หากใครที่ยังคิดว่ายุ่งยากและซับซ้อนเกินไป ก็สามารถนำไปให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการให้แทนได้เช่นเดียวกัน โดยวิธีการก็ง่าย ๆ ดังนี้
- เปิดแอปพลิเคชั่น กดเข้าหน้าต่าง ลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
- เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนให้พร้อม ให้ผู้ขอรับบริการมอบบัตรประชาชนตัวจริงให้แก่เจ้าหน้าที่
- เจ้าหน้าที่กดยอมรับ ทั้งข้อตกลงและเงื่อนไขบริการต่าง ๆ
- กรอกเลขบัตรประชาชน ทั้ง 13 หลักของผู้สมัครให้ถูกต้อง
- สแกนนิ้วชี้ ของผู้รับบริการกับเครื่องของเจ้าหน้าที่
- กำหนดรหัสผ่าน โดยเจ้าหน้าที่จะนำสมาร์ทโฟนไปสแกน QR code จากนั้นให้ผู้รับบริการสร้างรหัสผ่าน 8 หลัก
- ระบบจะแจ้งเตือนขอความยินยอม ก่อนเข้าสู่ระบบเป็นครั้งแรก ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
ธุรกรรมอะไรที่ บัตรประชาชนดิจิทัล สามารถใช้งานได้
- บริการกรมสรรพากร
ผู้เสียภาษีสามารถนำบัตรประชาชนประเภทดิจิทัล บนแพลตฟอร์ม NDID ของกรมสรรพากร เป็นอีกช่องทางยืนยันตัวตนรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากการใช้บัตรประชาชนตัวจริง สำหรับเข้าใช้บริการรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ 1.การยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษี 2.บริการอื่นของกรม ฯ ที่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อกำหนดของ NDID Platform
- สถาบันทางการเงิน
จากเดิมการเปิดบัญชีเงินฝาก ต้องทำเรื่องที่สาขาของธนาคารเท่านั้น ซึ่งเสียเวลาเป็นอย่างมาก แต่การเข้ามาของบัตรประชาชนรูปแบบใหม่ ช่วยให้การเปิดบัญชีเงินฝากเป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เพราะทำเรื่องเปิดบัญชีเงินฝากทางออนไลน์ได้ และนอกจากบริการเปิดบัญชีเงินฝากแล้ว การขอสินเชื่อทางออนไลน์ก็ทำได้เช่นกัน
- กรมการปกครอง
การไปอำเภอหรือสำนักงานเขตจะเป็นเรื่องไม่ยากอีกต่อไป เพราะบัตรประชาชนรูปแบบดิจิทัล ช่วยให้การติดต่อเรื่องต่าง ๆ ง่ายขึ้น เช่น การจดทะเบียนสมรส การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล หรือการโอนย้ายทะเบียนบ้าน ฯลฯ ไม่ต้องเสียเวลาถ่ายเอกสารเหมือนเดิม และหากเจ้าหน้าที่ปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจบัตรประชาชน เพียงเปิดแอป ThaID ก็แสดงตัวตนได้แล้ว หมดปัญหาลืมบัตรไว้ที่บ้าน
- โครงการอื่นภาครัฐ
ปัจจุบันโครงการชิมช้อปใช้ ได้นำระบบบัตรประชาชนรูปแบบดังกล่าวมาร่วมใช้งานด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ล่าสุดมีถึง 3 เฟสแล้ว และคาดว่าโครงการอื่นต่อจากนี้ อาจใช้บัตรประชาชน Digital อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่เตรียมพร้อมประยุกต์ใช้งานกับเอกสารอื่น ๆ ด้วย เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่จะสนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลผ่าน Digital ID และกรมที่ดินเองก็นำบัตรประชาชนแบบดิจิทัล มาช่วยยืนยันในการดำเนินการแล้วภายในระบบ
เก็บรักษาข้อมูลด้วยวิธีอื่นอย่างไรดี?
แม้แอพ ThaID สามารถช่วยเก็บข้อมูลในรูปแบบบัตรประชาชนดิจิทัล แต่เอกสารทางราชการก็มีจำนวนมาก การรักษาเอกสารไว้ในกระเป๋า ก็ยังมีโอกาสสูญหาย เพราะเราอาจหลงลืมว่าเก็บไว้ที่ไหน แถมตอนย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ เราอาจทำตกหล่นระหว่างขนย้ายของได้อีก ดังนั้นการเก็บเอกสารทางราชการอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีวิธีอะไรอีกบ้าง นอกจากกระเป๋า หรือแอป ThaID
- ระบบ Google Drive เป็นระบบการเก็บข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด เพราะเป็นการเก็บรักษาภายใต้ระบบ Cloud ทำให้เปิดผ่านสมาร์ทโฟนที่ไหนก็ได้ ซึ่งข้อดีของการนำเอกสารทางราชการไว้ในระบบ Google drive คือ มั่นใจได้ว่าไม่มีทางหายแน่นอน เมื่อมีเอกสารเพิ่มเติม ก็อัปโหลดเก็บไว้ได้ทันที แต่การเก็บรักษาข้อมูลรูปแบบนี้ อาจมีข้อจำกัดตรงที่ถ้าเดินทางไปยังพื้นที่อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ อาจดาวน์โหลดไฟล์เอกสารออกมาไม่ได้
- สร้างโฟลเดอร์ การเก็บไว้ในโฟลเดอร์ ไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต เพียงแค่สแกนเอกสารไว้ในโฟลเดอร์ ซึ่งวิธีนี้เหมาะแก่ผู้มีคอมพิวเตอร์ PC แต่การดึงข้อมูลออกมายากกว่า Google Drive เพราะไม่สามารถใช้ผ่านสมาร์ทโฟนได้ ยกเว้นเลือกใช้งานระบบ One-drive เพราะสามารถซิงค์ข้อมูลระหว่าง PC กับสมาร์ทโฟนได้
ซึ่งการเก็บรักษาข้อมูลทั้ง 2 รูปแบบ การใช้งานคอมพิวเตอร์ที่สเปกแรงก็จะดีกว่า เพราะสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ยาวนาน เช่นคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows 10 รองรับการเก็บเอกสารรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Google Drive หรือ One-drive ช่วยให้การเก็บเอกสารทางราชการเป็นเรื่องง่าย
บัตรประชาชนรูปแบบดิจิทัล เป็นเรื่องที่ประชาชนควรให้ความสนใจ เพราะในอนาคตหน่วยงานภาครัฐอาจทยอยหันมาใช้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น หากไม่เข้าใจการใช้งานข้อมูลดิจิทัล อาจเสียเวลาในการทำธุรกรรมกับทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างไม่จำเป็น ที่สำคัญบัตรประชาชนแบบดิจิทัล มีประโยชน์ในด้านของการรักษาความปลอดภัย ลดโอกาสการปลอมแปลงตัวตน จึงควรศึกษาเรื่องนี้กันไว้แต่เนิ่น ๆ
ที่มาข้อมูล: thairath , bora.dopa , standard-uat , springnews , dittothailand