ยาสามัญประจำบ้าน เป็นสิ่งที่ทุกบ้านควรต้องมี แต่บางทีเราก็ละเลยและไม่ใส่ใจจนกว่าสมาชิกในครอบครัวจะมีอาการเจ็บไข้ไม่สบายหรือเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน ซึ่งเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องใช้ยาบางครั้งยาที่ต้องการอาจจะไม่มีหรือหมดอายุไปแล้ว เพื่อความอุ่นใจมาเช็กลิสต์ยาสามัญประจำบ้านกันดีกว่าว่ามีครบและพร้อมใช้งานหรือไม่
ยาสามัญประจำบ้านคืออะไร?
ยาสามัญประจำบ้านคือชุดยาที่ใช้ป้องกัน รักษา บรรเทาความเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บเบื้องต้น เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน น้ำมูกไหล ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก เมารถ เมาเรือ แผลหกล้ม มีดบาด เป็นต้น ซึ่งยาสามัญประจำบ้านจะมีความปลอดภัยในระดับหนึ่งจึงสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาหรือนอกสถานพยาบาล โดยไม่ต้องอาศัยการสั่งจ่ายจากบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร
ยาสามัญประจำบ้าน มีอะไรบ้าง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งยาสามัญประจำบ้านออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ และยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันซึ่งใช้กันบ่อยในชีวิตประจำวัน
ซึ่งยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน มี 52 รายการ แบ่งได้เป็น 15 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 : ยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ อาการจุกเสียด แน่นท้อง อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากปัญหาอาหารไม่ย่อยหรือมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป ยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยลดอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่
- ยาเม็ดลดกรด – ยาลดกรดอะลูมินาแมกนีเซีย (ชนิดเม็ด)
- ยาน้ำลดกรด – ยาลดกรดอะลูมินาแมกนีเซีย (ชนิดน้ำ)
- ยาเม็ดแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ – โซดามิ้นท์ (ชนิดเม็ด)
- ยาขับลม – ยาขับลม (ชนิดน้ำ)
- ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ – ยาธาตุน้ำแดง
- ยาน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ – โซเดียมไบคาร์บอเนต
- ยาทาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ – ทิงเจอร์มหาหิงค์
- กลุ่มที่ 2 : ยาแก้ท้องเสีย เมื่อเกิดอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษไม่ควรใช้ยาหยุดถ่าย เนื่องจากร่างกายสามารถขับเชื้อโรคให้ออกมาพร้อมกับอุจจาระหรืออาเจียน การกินยาหยุดถ่ายจึงเป็นการกักเก็บเชื้อโรคไว้ในร่างกายทำให้หายช้า แต่สามารถบรรเทาอาการด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS)
- ผงน้ำตาลเกลือแร่
- กลุ่มที่ 3 : ยาระบาย สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการขับถ่ายหรือท้องผูก สามารถใช้ยาสามัญประจำบ้านในกลุ่มนี้เพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่ายและบรรเทาอาการท้องผูก
- กลีเซอรีน – ชนิดเหน็บทวารสำหรับเด็ก
- กลีเซอรีน – ชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่
- แมกนีเซีย (ชนิดน้ำ)
- ยาระบาย – มะขามแขก
- ยาระบาย – โซเดียมคลอไรด์ ชนิดสวนทวาร
- กลุ่มที่ 4 : ยาถ่ายพยาธิ เพื่อใช้ขับถ่ายพยาธิชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นพยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุด พยาธิแส้ม้า พยาธิไส้เดือน หรือพยาธิปากขอ
- ยาถ่ายพยาธิ – มีเบนดาโซล
- กลุ่มที่ 5 : ยาบรรเทาอาการปวด ลดไข้ นอกจากเป็นกลุ่มยาที่ใช้เพื่อลดไข้แล้ว ยังนิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดทั่วไปที่ไม่รุนแรง อาทิ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อ
- ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้ – พาราเซตามอล
- ยาน้ำบรรเทาปวด ลดไข้ – พาราเซตามอล
- ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้ – แอสไพริน
- พลาสเตอร์บรรเทาปวด
- กลุ่มที่ 6 : ยาแก้แพ้ แก้หวัด ลดน้ำมูก ใช้สำหรับบรรเทาอาการภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งอาการคัน คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือผื่นลมพิษ
- ยาเม็ดแก้แพ้ ลดน้ำมูก – คลอร์เฟนิรามีน
- กลุ่มที่ 7 : ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ยาสามัญประจำบ้านในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช่วยระงับการไอ ขับเสมหะและทำให้ชุ่มคอ
- ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก
- ยาแก้ไอน้ำดำ
- กลุ่มที่ 8 : ยาดมหรือยาทาแก้วิงเวียนศีรษะ ช่วยบรรเทาอาการหน้ามืดและคัดจมูก
- ยาดมแก้วิงเวียน – เหล้าแอมโมเนีย
- ยาดมแก้วิงเวียน แก้คัดจมูก
- ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
- กลุ่มที่ 9 : ยาแก้เมารถ เมาเรือ ยากลุ่มนี้ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ รวมทั้งอาการอื่น ๆ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการเดินทาง
- ยาแก้เมารถเมาเรือ – ไดเมนไฮดริเนท (ชนิดเม็ด)
- กลุ่มที่ 10 : ยาสำหรับโรคตา นอกจากใช้เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาหรือตาอักเสบจากการติดเชื้อแล้ว ในปัจจุบันมักจะเจอกับปัญหาอาการตาล้า ตาแห้ง หรือระคายเคืองตาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ยากลุ่มนี้จึงค่อนข้างมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น
- ยาหยอดตา – ซัลฟาเซตาไมด์
- ยาล้างตา
- กลุ่มที่ 11 : ยาสำหรับโรคที่เกี่ยวกับปากและลำคอ ยากลุ่มนี้ช่วยบรรเทาอาการอักเสบในช่องคอ ลดอาการระคายเคือง เจ็บคอ รวมถึงบางตัวยายังช่วยรักษาโรคฝ้าขาวในช่องปากและบรรเทาอาการปวดฟันได้ด้วย
- ยากวาดคอ
- ยาอมบรรเทาอาการระคายคอ
- ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ
- ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า – เยนเชี่ยนไวโอเลต
- ยาแก้ปวดฟัน
- กลุ่มที่ 12 : ยาสำหรับใส่แผลและล้างแผล ยาล้างแผลทำหน้าที่ชะล้างเชื้อโรค สิ่งสกปรก และสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ก่อนที่จะใส่ยารักษาแผล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้แผลสมานได้ดีขึ้นเนื่องจากไม่มีสิ่งรบกวน ยาล้างแผลใช้ได้ทั้งแผลที่ถูกของมีคมบาด แผลฉีกขาด แผลถลอก แผลผ่าตัด แผลกดทับ แผลไหม้ น้ำร้อนลวก และแผลเรื้อรังจากเบาหวาน สำหรับยาใส่แผลสดเพื่อช่วยในการรักษาและสมานแผล
- ยาไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์
- ยาเอทิลแอลกอฮอล์
- น้ำเกลือล้างแผล
- ทิงเจอร์ไอโอดีน
- ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล
- โพวิโดนไอโอดีน
- ยารักษาแผลติดเชื้อ – ซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีนครีม
- กลุ่มที่ 13 : ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและแมลงกัดต่อย
- ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง
- กลุ่มที่ 14 : ยาสำหรับโรคผิวหนัง ยาทาแก้ผื่นคันจากเชื้อราหรือการอักเสบมีหลายรูปแบบสามารถเลือกใช้ได้ตามอาการ ที่สำคัญคือต้องเลี่ยงการแกะหรือเกาผิวหนังบริเวณที่คันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ยาทาแก้ผดผื่นคัน – คาลาไมน์
- ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
- ยารักษาเกลื้อน – โซเดียมไทโอซัลเฟต
- ยารักษาหิด เหา โลน – เบนซิล เบนโซเอต
- ยารักษาหิด – ขี้ผึ้งกำมะถัน
- ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง
- กลุ่มที่ 15 :ยาบำรุงร่างกายเป็นกลุ่มยาสำหรับช่วยซ่อมแซม บำรุง และเสริมสร้างการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ยาเม็ดบำรุงโลหิต – เฟอร์รัสซัลเฟต
- น้ำมันตับปลาชนิดแคปซูล
- น้ำมันตับปลาชนิดน้ำ
- ยาเม็ดวิตามินซี
- ยาเม็ดวิตามินบีรวม
- ยาเม็ดวิตามินรวม
เมื่อทราบแล้วว่ายาสามัญประจำบ้านมีอะไรบ้าง อย่าลืมจัดหาติดบ้านไว้อย่างน้อย 1 ชุด และควรจัดเก็บยาไว้ในตู้เก็บยาเพื่อให้พ้นมือเด็ก เลี่ยงการโดนแสงแดด และแบ่งหมวดหมู่ให้ชัดเจน เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้งาน หมั่นตรวจสอบด้วยว่ายาเสื่อมสภาพและหมดอายุหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีต้องเปลี่ยนยาทันทีเพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน
ที่มาข้อมูล : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, WORLD WIDE PHARMA, Pobpad