การเตรียมตัว สัมภาษณ์งาน เป็นเรื่องน่ากังวลของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เป็น First Jobber ในบทความนี้เราจะมาเผยเคล็ดลับและเทคนิคที่จำเป็นเพื่อช่วยให้นำเสนอทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการจัดรูปแบบเรซูเม่และเพิ่มความมั่นใจในการสัมภาษณ์งาน
เทคนิคเขียนเรซูเม่สำหรับผู้สัมภาษณ์งานครั้งแรก
เรซูเม่สมัครงาน คือ เอกสารสรุปข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน การเขียนเรซูเม่ได้ดีจะทำให้เกิดความประทับใจแรกที่นายจ้างมีต่อคุณ โดยเทคนิคการเขียนเรซูเม่ให้น่าสนใจมีดังนี้
- กระชับ เรซูเม่ที่ดีควรสรุปข้อมูลที่ต้องการให้นายจ้างรู้ไว้ในหน้าเดียว โดยข้อมูลที่สำคัญที่สุดและจำเป็นจะต้องมี คือ การเขียนประสบการณ์ทำงาน การฝึกอบรม ประวัติการพัฒนาตัวเอง รวมถึงความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับสายงาน
- ใช้เลย์เอาต์แบบมืออาชีพ การเลือกฟอนต์สำหรับเขียนเรซูเม่ยื่นสมัครงานควรเลือกฟอนต์ที่สะอาดและอ่านง่าย เช่น Cordia New หรือ Angsana New และใช้ขนาดฟอนต์ประมาณ 14 – 16 พอยต์ รวมถึงการใช้สัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อยให้ชัดเจน สบายตา อ่านง่าย
- เน้นทักษะที่สอดคล้องกับรายละเอียดงาน การเขียนเรซูเม่ที่ดีควรเขียนใหม่ทุกครั้งที่ยื่นสมัครงาน เนื่องจากรายละเอียดของงานแต่ละงานหรือแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันไป การเขียนเรซูเม่ใหม่ทุกครั้งควรเน้นทักษะที่สอดคล้องกับรายละเอียดของงานจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจได้มากขึ้น
- ประสบการณ์ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จตอนเรียนหรือทำงาน เช่น การจัดทำโครงการ การจัดตั้งชมรม หรือการแข่งขัน ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เรซูเม่ของคุณน่าสนใจมากกว่าคู่แข่ง
- ตรวจคำถูกคำผิดก่อนเสมอ การพิมพ์ผิดทางด้านไวยากรณ์หรือการสะกดคำผิดอาจทำให้การสื่อสารคลาดเคลื่อนได้และยังเป็นการแสดงถึงความใส่ใจในการทำงานด้วย ซึ่งนายจ้างหรือผู้สัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์สูงมักจะมีสายตาอันแหลมคมประเมินความสามารถในการทำงานจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้สมัครงานมองข้าม
เคล็ดลับและเทคนิคเตรียมตัวสำหรับการ สัมภาษณ์งาน
เมื่อเรซูเม่ได้รับความสนใจจากนายจ้างและถูกเรียกเข้ารับการสัมภาษณ์ก็ถึงเวลาที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม
- ศึกษาองค์กร ทำความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับค่านิยม วัฒนธรรม และความสำเร็จล่าสุดขององค์กร ความรู้นี้จะช่วยในการตอบคำถามเฉพาะหน้า รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนใจในตัวองค์กร ซึ่งจะมีผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีและเป้าหมายที่แท้จริงของผู้สมัคร
- ทำความเข้าใจกับข้อกำหนดของงาน จงจำไว้ว่าการสัมภาษณ์งานไม่ใช่แค่การได้งานทำ แต่เป็นการพูดคุยเพื่อให้ได้ทำงานที่ตัวเองถนัดหรือมีความชอบ การศึกษารายละเอียดและข้อกำหนดในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การทราบถึงทักษะและคุณสมบัติที่องค์กรต้องการจะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์พิจารณาว่ามีความเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่มากขึ้น
- ฝึกตอบคำถามสัมภาษณ์งาน แม้ว่าจะไม่สามารถคาดเดาคำถามที่จะเกิดขึ้นได้อย่างละเอียด แต่ผู้สมัครงานควรฝึกฝนตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติการเรียน การทำงาน หรือคำถามสัมภาษณ์งานที่พบได้บ่อย เพื่อฝึกตอบคำถามใช้ชัดเจน กระชับ และแสดงถึงจุดแข็งของตัวเอง
- รู้จักตัวเองมากขึ้น การตอบคำถามสัมภาษณ์ให้มีโอกาสได้งานในฝันควรมีพื้นฐานมาจากความหลงใหลในงาน หากผู้สัมภาษณ์ให้แนะนำตัวเอง การพูดถึงเหตุผลที่อยากทำงานและความพยายามในการพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้งาน เช่น การฝึกอบรม การเรียนทักษะอื่นที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น จะเป็นการช่วยเพิ่มความน่าสนใจและทำให้ผู้สัมภาษณ์รับรู้ถึงความตั้งใจได้
- First Impression การให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นสิ่งแรกที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์หรือนายจ้างประเมินความเหมาะสมกับหน้าที่การงาน หากผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่รู้ว่าจะแต่งตัวแบบไหนสามารถเริ่มต้นด้วยการสวมเบลเซอร์จะช่วยให้ภาพลักษณ์ดูภูมิฐานแต่ไม่เคร่งเครียดเกินไปและสามารถนำมาแมตช์กับเสื้อผ้าได้หลากหลายลุค นอกจากเสื้อผ้าความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้สมัครควรมาถึงสถานที่สัมภาษณ์ก่อนเวลาเพื่อจัดการรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูดี เสื้อผ้าไม่ชุ่มเหงื่อ จัดแต่งทรงผมให้เข้าทรงเรียบร้อย และมีกลิ่นกายหอมสดชื่น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่านสัมภาษณ์งานได้
คำถามสัมภาษณ์งาน ที่พบเจอได้บ่อย
แม้ว่าคำถามสัมภาษณ์แต่ละตำแหน่งงานหรือแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็จะมีบางคำถามที่ผู้สัมภาษณ์งานใช้บ่อย ๆ ดังนี้
- แนะนำตัวเองหน่อย คำถามปลายเปิดนี้ให้โอกาสในการแสดงประสบการณ์และทักษะที่เกี่ยวข้องของคุณ การตอบคำถามนี้ให้ดีจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจได้ เน้นไปที่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานหรือความสำเร็จในงานที่ผ่านมา (ถ้ามี)
- ทำไมถึงอยากทำงานนี้หรือที่นี่ เป็นคำถามที่วัดความรู้เกี่ยวกับภาระหน้าที่ของงานและองค์กร คุณจึงควรตอบคำถามที่เน้นคุณค่า พันธกิจ และความสำเร็จล่าสุดของตำแหน่งหน้าที่หรือองค์กร โดยนำมาเชื่อมโยงความทะเยอทะยานในอาชีพของคุณกับประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับอย่างสมเหตุสมผล
- จุดแข็งและจุดอ่อนของคุณคืออะไร เมื่อพูดถึงจุดแข็งให้เน้นทักษะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาระหน้าที่ของงาน สำหรับจุดอ่อนให้เลือกตอบในสิ่งที่สามารถพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ง่าย
- เล่าประสบการณ์ในการทำงานที่เลวร้ายที่สุดและวิธีแก้ ควรเริ่มตอบคำถามด้วยการเล่าสถานการณ์งาน ตามด้วยกระบวนการทางความคิดในการแก้ปัญหา วิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาและเล่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ในกรณีที่แก้ปัญหาไม่สำเร็จควรบอกถึงบทเรียนที่ได้รับจากปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
- อีก 5 ปีข้างหน้าคุณจะเป็นอย่างไร แสดงความทะเยอทะยานและเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน โดยตอบคำถามให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทและการเติบโตในหน้าที่ที่บริษัทเสนอ รวมถึงบอกถึงความตั้งใจในการเรียนรู้และรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ด้วย
การรู้วิธีเขียนเรซูเม่ให้น่าสนใจเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสเรียก สัมภาษณ์งาน เทคนิคต่าง ๆ ที่เราเตรียมมาให้จะช่วยให้คุณสามารถนำเสนอความสามารถของคุณให้องค์กรหรือนายจ้างรับรู้ได้อย่างประสิทธิภาพ สร้างความประทับใจและเพิ่มโอกาสในการได้งานในฝัน
ที่มาข้อมูล: thairath , cleo , workventure