อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) หนึ่งในโรคภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน ด้วยสาเหตุจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนสารเคมี เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย สารพิษของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อปรสิต เป็นต้น รวมทั้งพิษจากโลหะหนัก ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และท้องเสียถ่ายเหลว ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถหายได้เองหากรู้จักวิธีการดูแลรักษาที่ดีพอ
อาการของภาวะอาหารเป็นพิษ
ส่วนใหญ่มีอาการเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวซึ่งอาจจะถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน อุจจาระมากผิดปกติ (มากกว่า 8 – 10 ครั้งต่อวัน) ปวดมวนท้อง มีไข้ หากไข้ขึ้นสูงจะหนาวสั่นและปวดหัว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซึม มือเท้าเย็น ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถซึ่งหากอาการรุนแรงอาจทำให้ตาลายหรือหมดสติได้ กรณีเด็กเล็กพบว่ามีอาการปากแห้ง ตาโหล และร้องไห้แบบไม่มีน้ำตา
อย่างไรก็ตามอาการอาหารเป็นพิษไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจเกิดภาวะวิกฤตจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำและมีการติดเชื้อในระบบอื่นของร่างกาย ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย อายุ โรคประจำตัวอันจะส่งผลต่อภูมิต้านทานของร่างกาย
เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเสื่อม รวมถึงการทำงานของระบบทางเดินอาหารซึ่งโดยปกติแล้วกรดในกระเพาะอาหารและการเคลื่อนไหวของลำไส้จะสามารถทำลายเชื้อโรคที่แปลกปลอมได้
ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากพบว่าอาการของโรคมีความรุนแรง เช่น อุจจาระบ่อยเกิน 6 ครั้ง/วัน มีเลือดปนในอุจจาระหรืออาเจียน ไข้สูงลอยกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ปวดท้องรุนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ หนังตาตก ชารอบปาก หายใจลำบาก อ่อนเพลียหน้ามืดเนื่องจากร่างกายขาดน้ำ ปัสสาวะสีเข้มมากหรือปัสสาวะไม่ออกนานกว่า 6 ชั่วโมง
โดยเฉพาะหากอาการโดยรวมไม่ทุเลาภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการอาหารเป็นพิษเรื้อรัง รวมทั้งเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 70 ปี เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โรคไตเสื่อมเรื้อรัง หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
อาหารกลุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค อาหารเป็นพิษ
ได้แก่ อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสมและอาหารปรุงสุกที่ทิ้งไว้นานโดยไม่ได้อุ่นร้อน อาหารที่ผลิตหรือปรุงไม่สะอาด น้ำดื่มและน้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน เนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลไม่สด
รวมทั้งอาหารที่ปนเปื้อนอาหารทะเลหรือล้างด้วยน้ำทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อ ส่วนผสมของอาหารไม่ได้มาตรฐาน เช่น น้ำปลาร้าไม่สะอาด ถั่วลิสงหรือพริกแห้งขึ้นรา กุ้งแห้งใส่สี ผักและผลไม้สดล้างไม่สะอาด โดยเมื่อรับประทานอาหารกลุ่มเสี่ยงเข้าไปแล้วจะมีระยะฟักตัวของโรค 12 – 24 ชั่วโมง หรืออยู่ในช่วงประมาณ 4 – 30 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค จึงค่อยแสดงอาการ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดอาการอาหารเป็นพิษ
ปกติแล้ว อาหารเป็นพิษ มีระยะเวลาดำเนินโรค 1 – 7 วัน หากอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เองภายใน 24 – 48 ชั่วโมง โดยระหว่างนั้นให้ใช้วิธีรักษาและดูแลตนเองดังนี้
- ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) เพื่อช่วยรักษาสมดุลของสภาวะสารน้ำในร่างกายซึ่งสูญเสียไปทั้งทางการถ่ายอุจจาระและอาเจียน อาจใช้เป็นผงเกลือแร่สำเร็จรูปหรือผสมน้ำเกลือแร่เองด้วยการใช้น้ำต้มสุก 750 มล. น้ำตาลทราย 30 มล. หรือ 3 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่น 2.5 มล. พยายามจิบดื่มระหว่างวันบ่อย ๆ เพื่อให้สมดุลกับสิ่งที่เสียไป โดยสังเกตได้จากปัสสาวะที่ต้องออกมากและใส
- รับประทานยาตามอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน หรือยาพาราเซตามอลหากมีอาการไข้ร่วมด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา และไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่ายเนื่องจากระบบการทำงานของร่างกายสามารถขับเชื้อโรคและสารปนเปื้อนให้ออกมาพร้อมอุจจาระหรืออาเจียนได้ ดังนั้นการกินยาหยุดถ่ายจึงเป็นการกักเก็บเชื้อโรคไว้ในร่างกายส่งผลให้อาการทุเลาช้าไม่หายสักที
- ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้มากขึ้น เลี่ยงกิจกรรมหนัก ๆ เช่น การออกกำลังกาย หรืองานบ้านที่ใช้แรง
- ใส่ใจในสุขลักษณะของอาหารและเครื่องดื่มให้มากขึ้น เลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่มีรสจืด ย่อยง่ายและปรุงสุกใหม่ ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม แกงจืด ผักต้ม น้ำมะพร้าว ขนมปัง เป็นต้น
- งดรับประทานอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนม (นม ชีสโยเกิร์ต) ผลไม้ อาหารรสจัด อาหารย่อยยาก อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารหมักดอง อาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิดทั้งชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจทำให้อาการกำเริบหนักขึ้นได้
การป้องกันอาการอาหารเป็นพิษ
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเสร็จสิ้นกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ เช็ดน้ำมูก สัมผัสสัตว์เลี้ยง ทิ้งขยะ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก
- ดูแลห้องครัวให้สะอาดถูกสุขลักษณะ จัดเก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์ต่าง ๆ เครื่องครัวและอุปกรณ์ต้องสะอาดอยู่เสมอ ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ไม่ใช้อุปกรณ์หรือภาชนะร่วมกันระหว่างของที่ปรุงสุกแล้วกับวัตถุดิบซึ่งยังไม่ผ่านการปรุง เช่น ไม่ใช้เขียงที่หั่นเนื้อสดมาหั่นผักต้ม หรือใช้มีดร่วมกันโดยไม่ผ่านการล้าง
- หมั่นเช็กอุณหภูมิของตู้เย็น โดยต้องไม่เกิน 4.4 องศาเซลเซียส และช่องแช่แข็งควรมีอุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส
- เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ล้างวัตถุดิบทุกอย่างให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหารโดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ต้องรับประทานสดควรล้างด้วยน้ำไหลหรือแช่ด่างทับทิม ระมัดระวังอาหารที่ปรุงสุกแล้วไม่ให้มีการปนเปื้อนจึงควรแยกอาหารสุกและอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนออกจากกัน หากมีอาหารค้างมื้อควรอุ่นร้อนหรือทำให้สุกใหม่ก่อนรับประทาน
- ดื่มและใช้น้ำสะอาด โดยเลือกดื่มน้ำขวดหรือน้ำที่ผ่านการกรองแล้วเพื่อสุขอนามัยที่ดี
การรับประทานอาหารตามใจปากอาจจะทำให้ลำบากร่างกายด้วยภาวะอาหารเป็นพิษได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดภาวะ อาหารเป็นพิษ จึงต้องใส่ใจในการเลือกรับประทาน อย่าลืมกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ที่มาข้อมูล: vibhavadi , medparkhospital , chulalongkornhospital , sikarin , kapook , doctor