คาถาชินบัญชร หนึ่งในบทสวดมนต์ยอดนิยมของพุทธศาสนิกชนซึ่งเชื่อกันว่ามีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก หากหมั่นสวดมนต์หรือภาวนาเป็นประจำจะเกิดความเป็นสิริมงคล ช่วยปกป้องคุ้มครองขจัดภัยไม่ให้ศัตรูเข้ามากล้ำกลาย ทั้งยังมีคุณด้านเมตตามหานิยมด้วย
ประวัติความเป็นมาของพระคาถาชินบัญชร
สันนิษฐานว่าพระคาถาชินบัญชรนั้นมีต้นกำเนิดจากลังกา โดยพระมหาเถระจำนวน 14 รูป ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการประพันธ์บทอาราธนาพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ พระธรรมเจ้า 9 ประการ และบารมีธรรมของพระอรหันต์สาวกที่จัดเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ซึ่งพระมหาเถระทั้ง 14 รูป จะต้องเขียนคาถารูปละ 1 บท แล้วจึงนำมาประมวลรวมกันเป็นคาถา 14 บท เพื่อใช้สำหรับป้องกันภัยอันตรายให้แก่พระราชโอรสพระองค์หนึ่งในสมัยนั้น ด้วยสถานที่ที่เหล่าพระมหาเถระใช้ในการรวมตัวกันและทำภารกิจนี้อยู่ใกล้กับ “ปล่องเบ็งชร” หรือคูหาที่เปิดเป็นช่องหน้าต่างในพระมหาปราสาท คาถานั้นจึงได้ชื่อว่า “ชัยบัญชร”
ต่อมามีหลักฐานปรากฏว่าในปี พ.ศ.1981 “พระชัยมังคละ” พระมหาเถระแห่งเมืองหริภุญไชย หรือเมืองลำพูนในปัจจุบัน ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระเขี้ยวแก้วที่ลังกาแล้วได้พบกับครูบาอาจารย์ชาวลังกาซึ่งท่านได้มอบคาถา “ชัยบัญชร” พร้อมประวัติความเป็นมาให้ เมื่อพระชัยมังคละเดินทางกลับมาถึงลำพูนจึงได้สวดพระคาถานี้ถวายแด่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาในสมัยนั้น ต่อมาพระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้ใช้คาถาชัยบัญชรนี้เป็นคาถาสวดประจำพระราชสำนักเพื่อปัดเป่าเสนียดจัญไร ทั้งยังทรงให้คัดลอกเพื่อเผยแพร่ไปยังวัดต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือกระทั่งถึงกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าพระคาถาชินบัญชรเข้าสู่แผ่นดินสยามทางหัวเมืองเหนือ
ต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรได้ออกเดินทางธุดงค์เข้าไปในเขตวัดร้างเมืองกำแพงเพชร และได้พบกับคัมภีร์โบราณที่เก่าแก่ชำรุดซึ่งภายในมีการจารึกพระคาถาชัยบัญชรด้วยอักษรธรรมล้านนาเป็นภาษาบาลี นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้สามเณรโตศึกษาภาษาบาลีและอักขระล้านนาอย่างแตกฉาน เมื่อท่านได้ศึกษาจนทราบว่าคาถาชัยบัญชรนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และมีพลังแห่งอานุภาพมากจึงได้ดัดแปลงแก้ไขเนื้อหาเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งฉันทลักษณ์ภาษาบาลี และความหมายที่เป็นสิริมงคล
จากนั้นจึงได้สวดถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์ทรงมีรับสั่งว่าเป็นบทสวดที่ไพเราะ และทรงถามต่อว่า “ได้มาจากไหน ขรัวโตแต่งเองหรือไม่” ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์โตได้ถวายการตอบว่า “หามิได้ เป็นสำนวนเก่าของเมืองเหนือ นำมาแก้ไขดัดแปลงใหม่ ตัดตอนให้สั้นเข้า ของลังกายาวกว่านี้” ด้วยเหตุที่คัมภีร์ชัยบัญชรต้นฉบับไม่ปรากฏนามของผู้ที่จารึก สมเด็จพระพุฒาจารย์โตจึงไม่สามารถอ้างอิงชื่อของผู้ประพันธ์ได้ เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนเลยต่างเข้าใจว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์โตคือผู้แต่งพระคาถาชินบัญชร ซึ่งในความเป็นจริงนั้นท่านเพียงแต่ดัดแปลงแก้ไขเพื่อให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปรับชื่อจากเดิม “ชัยบัญชร” มาเป็น “ชินบัญชร” ก็มีการสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาพระคาถาชินบัญชรกลายมาเป็นบทสวดที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้
พลังอานุภาพแห่งพระคาถาชินบัญชร
ปัจจุบัน พระคาถาชินบัญชร ให้ความหมายที่เข้าใจอย่างง่ายว่าเป็นดั่งเกราะเพชรอันแข็งแกร่งซึ่งสามารถป้องกันภยันตรายเลวร้ายต่าง ๆ ได้ทั้งหมด เนื่องจากในบทสวดมีการเสริมพลังพุทธคุณให้ยิ่งใหญ่ด้วยการอัญเชิญบารมีของ 80 พระอรหันต์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และอาราธนาพระสูตรอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอานุภาพในด้านต่าง ๆ ให้มาสถิตอยู่ในทุกส่วนของร่างกายเปรียบดั่งกำแพงแก้วคอยคุ้มกันตั้งแต่ศีรษะลงมาจรดปลายเท้าจึงยากที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้
- หากหมั่นสวดพระคาถาชินบัญชรเป็นประจำจะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ได้ มีคำกล่าวว่าหากสวดชินบัญชรวันละ 3 จบ จะเกิดอานุภาพคุ้มครองผู้ที่สวด 1 วัน 1 คืน หรือในขณะเดินทางให้นึกภาวนาสวดพระคาถาในใจจะช่วยให้รอดปลอดภัยจากอุบัติเหตุทั้งปวง
- ช่วยเพิ่มเมตตามหาเสน่ห์และเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ที่สวดเป็นประจำ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ร้ายแรงเช่นไรให้ตั้งใจภาวนาจะปลอดภัย สามารถป้องกันภัยจากคุณไสยต่าง ๆ ทั้งยังช่วยล้างอาถรรพ์สถานที่อัปมงคลให้มีความเป็นมงคลเพิ่มขึ้น
- ช่วยในการประกอบสัมมาอาชีพให้ค้าขายดีมีกำไร มีรายได้ดีขึ้น หากเป็นนักเรียนจะช่วยให้ความจำดีมีสมาธิและเรียนหนังสือเก่ง
- หากหมั่นภาวนาประจำมิได้ขาดจะกลายเป็นคนมีวาจาศักดิ์สิทธิ์และพบเจอเรื่องอัศจรรย์ใจได้บ่อย เช่น ฝันเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า หากนอนภาวนาจนกระทั่งหลับก็จะหลับไปด้วยความสุข
- มีสติอยู่กับตัว
- สำหรับผู้ที่มีสมาธิสูงสามารถสวดภาวนาพระคาถานี้ในการทำน้ำมนต์แก้โรคภัยไข้เจ็บ แก้วิกลจริต หรือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตได้
- หากเป็นผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ การหมั่นสวดมนต์ภาวนาพระคาถาชินบัญชรเป็นประจำจะช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น
- ช่วยลดวิบากกรรมให้เบาบางลง
- หากสวดพร้อมกันหลายคนในเวลาเดียวกันจะเกิดเป็นพลังอานุภาพบริสุทธิ์ที่แผ่ไพศาลให้ทุกคนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
วิธีการสวด คาถาชินบัญชร
การสวดมนต์ภาวนาคาถาชินบัญชรควรเริ่มสวดในวันพฤหัสบดีข้างขึ้น หากสะดวกให้จัดเตรียมดอกไม้ 3 สี หรือดอกบัว 9 ดอก และดอกมะลิร่วง (เด็ดก้านดอก) 1 กำ ธูปหอม 9 ดอก เทียน 9 เล่ม โดยเริ่มจากจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วตั้งนะโม 3 จบ ต่อด้วยบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จากนั้นตั้งจิตนึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์โต แล้วจึงสวดภาวนาพระคาถาชินบัญชรตามด้วยกล่าวคำแผ่เมตตา
คาถาชินบัญชร (แบบย่อ)
ชิ นะ ปัญ ชะ ระ ปะ ริ ตัง มัง
รัก ขะ ตุ สัพ พะ ทา
(9 จบ)
สำหรับผู้ที่สนใจอยากสวดคาถาชินบัญชรแบบเต็ม สามารถหาซื้อบทสวดได้ที่Lazadaซึ่งมีหลายรูปแบบให้เลือกทั้งแผ่นพับและหนังสือ เหมาะทั้งใช้เป็นหนังสือสวดมนต์ประจำตัวหรือแจกจ่ายเป็นธรรมทานก็จะได้รับบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่
ที่มาข้อมูล: matichonweekly , wongnai , thaiware , lucky4u