พอพูดถึงตักบาตรเทโว หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงการตักบาตรในช่วงวันออกพรรษา ซึ่งบางวัดบางพื้นที่ก็จะมีการจัดขบวนพระสงฆ์มารับบิณฑบาตรกันอย่างยิ่งใหญ่ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าการตักบาตรเทโวนั้นมีที่มาอย่างไร แล้วการตักบาตรเทโวนั้นมีความหมายอะไร วันนี้เรามีสาระดี ๆ เกี่ยวกับการตักบาตรเทโวมาฝากกันเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมความรู้ความเข้าใจก่อนออกไปร่วม ตักบาตรเทโว 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้
ทำไมจึงต้องตักบาตรเทโว
การตักบาตรเทโวเป็นการตักบาตรในช่วงวันออกพรรษาก็คือหลังจากออกพรรษาแล้วหนึ่งวัน เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาช้านานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คำว่า “เทโว” มีที่มาจากคำในภาษาบาลีว่า “เทโวโรหณะ” ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก
โดยในช่วงเข้าพรรษาพระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปเทศนาธรรมแก่พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้จำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังออกพรรษาจึงเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสส์ ใกล้เมืองพาราณสี ระหว่างที่ลงมาจากสวรรค์ พุทธศาสนิกชนต่างก็มารอต้อนรับเสด็จและใส่บาตรกันให้ขวักเบียดเสียดกันด้วยความปิติ จึงเรียกการตักบาตรในครั้งนี้ว่าตักบาตรเทโวโรหณะ หรือเป็นการตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้ากลับจากสวรรค์ ซึ่งก็ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
วันตักบาตรเทโวจึงมีชื่อทางการว่าวันเทโวโรหณะหรือวันต้อนรับการเสด็จกลับจากเทวโลก ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยวันตักบาตรเทโวในปี 2566 นี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 66
หลาย ๆ วันก็จะมีการจัดกิจกรรมตักบาตรเทโวขึ้นโดยพระภิกษุสงฆ์และสามเณรจะเดินลงมาจากวิหาร สมมติว่าบรรดาพระสงฆ์นั้นลงมาจากบันไดสวรรค์ เป็นการจำลองเหตุการณ์ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนและผู้ศรัทธาก็จะมาตักบาตรกันเพื่อความเป็นสิริมงคล
ประเพณีการตักบาตรเทโว
การตักบาตรเทโวในแต่ละวัดแต่ละท้องถิ่นก็จะมีประเพณีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป อย่างที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ในไทย ก็ต้องประเพณีตักบาตรเทโวที่วัดเขาสะแกกรังหรือวัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี ด้วยตัววัดตั้งอยู่บนยอดเขาสูงมีบันไดสูงชัดพาดผ่านกว่า 449 ขั้น ในวันตักบาตรเทโวจะอันเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรนำหน้าขบวนสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า แล้วตามด้วยพระสงฆ์และสามเณรเรียงแถวกันลงมากว่า 500 รูป เป็นภาพที่สวยงามราวกับเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ที่วัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรีก็มีประเพณีตักบาตรเทโวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะก็คือการตักบาตรลูกโยน หรือตักบาตรข้าวต้มลูกโยน โดยที่มาก็คือในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ผู้คนต่างปรารถนาจะใส่บาตร ทำให้คนที่อยู่ห่างออกไปทางด้านหลังไม่สามารถจะใส่บาตรได้จึงใช้วิธีการโยนอาหารมาใส่บาตร
ข้าวต้มลูกโยนจึงเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของการตักบาตรเทโว เป็นข้าวต้มมัดที่ทำมาจากข้าวเหนียวผัดกับกะทิ ถั่วดำ ผสมน้ำตาลทรายและเกลือ แล้วนำมาห่อด้วยใบเตยหรือใบมะพร้าวอ่อนในรูปแบบทรงกรวยและเหลือปลายใบไว้เป็นหางยาวสำหรับจับโยนลงใส่บาตร นอกจากที่วัดพระพุทธฉายแล้ว การตักบาตรข้าวต้มลูกโยนยังมีที่วัดท่าไทร จังหวัดสุราษฏร์ธานี วัดตระพังทอง สุโขทัย และที่วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี ก็ยังมีการตักบาตรข้าวต้มลูกโยนอยู่ด้วย
นอกจากนั้นก็ยังมีงานประเพณีตักบาตรเทโววัดเขาดีสลักที่พระภิกษุสงฆ์กว่า 100 รูปจะเดินลงมาจากมณฑปรอยพระพุทธบาทตามบันไดนาคมารับบิณฑบาตร หรือที่วัดวรนาถบรรพต พระอารามหลวง ที่ตั้งอยู่บนยอดเขากบจังหวัดนครสวรรค์ พระสงฆ์เดินลงจากยอดเขากบทางบันได พร้อมขบวนมังกรทองและขบวนนางฟ้าลงมาจากยอดเขา เป็นภาพบรรยากาศที่งดงามมาก
ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสามารถเข้าร่วมประเพณีตักบาตรเทโวได้ทุกที่ตามความสะดวก เพราะเกือบทุกวัดทั่วประเทศไทยก็จะจัดกิจกรรมนี้ขึ้นแทบทุกวัดเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สืบสานประเพณีและเสริมสร้างกุศลกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต โดยวัดหลายแห่งยังมีกิจกรรมทางพุทธศาสนาอื่น ๆ ให้ได้ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม ทำสมาธิวิปัสสนา ฟังธรรมเทศนา มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล เป็นต้น
เตรียมอาหาร ตักบาตรเทโว 2566
อาหารที่เหมาะจะนำมาตักบาตรเทโวส่วนใหญ่จะเน้นเป็นอาหารแห้งที่เก็บได้ง่าย เพราะมีคนมารอตักบาตรจำนวนมาก หากนำกับข้าวหรือผลไม้สดมาร่วมตักบาตรอาจจะไม่สะดวก กว่าจะเสร็จสิ้นการตักบาตรก็เสี่ยงที่จะบูดเน่าหรือแตกเละได้
โดยอาหารที่เหมาะกับการตักบาตรเทโวก็จะเป็นพวกข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มลูกโยน ข้าวสารบรรจุถุงเล็ก ๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง อาหารกระป๋อง น้ำดื่ม นมกล่อง น้ำผลไม้แบบกล่อง ขนมขบเคี้ยว รวมไปถึงยาสามัญประจำบ้าน เป็นต้น
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าทุกคนคงพอเข้าใจถึงการตักบาตรเทโวหันมากขึ้นว่ามีความสำคัญอย่างไร ซึ่งประเพณี ตักบาตรเทโว ที่กำลังใกล้เข้ามานี้ ก็ถือโอกาสเชิญชวนชาวพุทธออกไปสืบสานประเพณีร่วมกันตักบาตรเทโวเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เกิดความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต