เชื่อว่าไอจีสตอรี่ของเพื่อน ๆ นอกจากถ่ายรูปตัวเองกับชาวแก๊งแล้ว รูปเด็ดที่พลาดไม่ได้ก็คือรูปอาหารแน่นอน เมื่อเมนูจัดเสิร์ฟเสร็จสรรพ ทุกคนต่างก็ต้องหยุดแย่งกันถ่ายรูปเพื่อแชร์ภาพไปยังไอจีสตอรี่ก่อนเริ่มรับประทานเสียก่อน ซึ่งการ ถ่ายรูปอาหาร อย่างมีเทคนิค ย่อมดีกว่าการถ่ายแล้วอัปโหลดไปให้เสร็จ ๆ ไม่อย่างนั้นแล้วองค์ประกอบจะดูสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ดังนั้นเราจึงทำเทคนิคการถ่ายรูปให้อาหารออกมาน่าสนใจ และสร้างความแตกต่างกว่าคนอื่น ๆ มาฝากกัน
จัดวางองค์ประกอบ ถ่ายรูปอาหาร อย่างไรดี?
- เคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย
ก่อน ถ่ายรูปอาหาร อย่าลืมว่าต้องเคลียร์สิ่งสกปรกบนโต๊ะให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นคราบน้ำ หลอด พลาสติก เศษอาหารที่หกอยู่ ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้จะดึงสายตาของผู้ชมออกจากโฟกัสของเมนูที่ต้องการนำเสนอ ทำให้ความน่าสนใจของอาหารลดลง ดังนั้นการเคลียร์ background ให้เรียบร้อย ย่อมช่วยให้อาหารจานนั้น ดูน่ารับประทานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% เลยทีเดียว และภาพถ่ายไม่ควรเผลอติดมือ แขน หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้ร่วมรับประทานเข้ามาด้วย
- ไม่ควรถ่ายรูปตกเฟรม
เมื่อมีอาหารจำนวนมากอยู่บนโต๊ะ เพื่อน ๆ ก็คงอยากเก็บรูปภาพให้ครบ ซึ่งมือใหม่มักถ่ายรูปตกเฟรมเป็นประจำ เช่น เมนูบนโต๊ะอาหารมีจำนวน 5 อย่าง แต่รูปภาพที่ถ่ายออกมาเหลือเพียง 4 เมนูครึ่ง อีกครึ่งรูปดันหลุดออกจากเฟรมไปเสียได้ ทำให้องค์ประกอบของภาพไม่ครบ กลายเป็นว่าผู้ชมไอจีสตอรี่ต้องมานั่งเดาอีกว่าครึ่งเมนูที่หลุดออกจากภาพไป เป็นเมนูอะไรกันแน่ ดังนั้นเราแนะนำว่าควรถ่ายภาพให้พอดีกับระยะเฟรม ก็ใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องถ่ายให้ครบทุกเมนูบนโต๊ะ
- แสงธรรมชาติก็ช่วยได้
ร้านอาหารบางแห่งตกแต่งร้านในสีโทนร้อน เมื่อแสงแดดส่องเข้ามาภายในร้าน จะได้เฉดสีส้มแบบอ่อน ๆ ในภาพ เราจึงแนะนำให้ไปนั่งบริเวณใกล้เคียงกับแสงแดดส่องถึง แต่ไม่ควรนั่งติดหน้าต่างเสียทีเดียว เพราะมีโอกาสถ่ายภาพย้อนแสงได้ ทำให้ภาพที่ได้แสงจากธรรมชาติช่วย จะดูมีบรรยากาศอบอุ่น ช่วยให้เมนูจานนั้นน่ารับประทานขึ้นไปอีก
- อย่าลืมถ่ายรูปแบบ Action
ช้อน-ส้อมบนโต๊ะไม่ควรวางอยู่เฉย ๆ ให้กลายเป็นตัวประกอบของภาพถ่ายอย่างยิ่ง เพราะเราสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ช่วยให้อาหารดูน่ารับประทานขึ้นได้ เช่น ใช้มีดกำลังตัดชิ้นสเต๊ก หรือใช้ส้อมม้วนเส้นสปาเกตตี เข้าด้วยกันแล้วถ่ายรูป และไม่ควรให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้กำลังใช้อุปกรณ์ปรากฏเข้ามาในรูปภาพ เพราะการถ่ายลักษณะดังกล่าว ต้องการให้ผู้ชมเห็นเมนูอาหารอย่างใกล้ชิดที่สุด และในกรณีที่ต้องการถ่ายรูป “คนกับอาหาร” ควรจัดให้นายแบบ/นางแบบ มีขนาดไม่เกินช่วงครึ่งตัวบนของเฟรมภาพ โดยกำหนดให้อยู่ในท่านั่งบนเก้าอี้ และวางอาหารอยู่บนโต๊ะ ส่วนการโพสของนายแบบ/นางแบบจะส่งยิ้ม เท้าคาง เอียงศีรษะ หรือทำอะไรก็ได้ แต่ต้องเห็นอาหารบนจานอย่างชัดเจน
- ไม่ควรถ่ายแบบโต๊ะจีนกับทุกเมนู
การถ่ายภาพอาหารวิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ “Closed Up” เพื่อนำเสนอความน่าสนใจของเมนูนั้น ๆ มือใหม่หัดถ่ายรูปบางครั้งมักถ่ายรูปแบบโต๊ะจีนตลอด โดยถ่ายรูปแบบมุมกว้าง ให้ผู้ชมเห็นทุกอย่างบนโต๊ะอาหาร ซึ่งวิธีนี้ก็ไม่ผิดนัก แต่เหมาะสำหรับเมนูแบบบุฟเฟ่ต์ มากกว่าการถ่ายรูปกับเมนู A La Carte เพราะเมนูอาหารจานเดียว หรืออาหารแบบ Fine Dining จัดเสิร์ฟมาสำหรับการรับประทานคนเดียว การถ่ายรูปแบบ Closed up บ่งบอกว่าเราเป็นผู้รับประทานอาหารจานนั้น ที่สำคัญอาหาร A La Carte และ Fine Dining มักตกแต่งบนจานมาพร้อมสรรพ ทำให้การถ่าย Closed Up จึงช่วยแสดงความสวยงามบนจานอาหารได้มากที่สุด
แนะนำสมาร์ทโฟนช่วยให้การถ่ายรูปเทพขึ้น
การใช้สมาร์ทโฟนที่มีกล้องสเปกสูง ย่อมช่วยให้การถ่ายรูปอาหารจานนั้นดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น ซึ่งมีสมาร์ทโฟนที่น่าสนใจดังนี้
1. Xiaomi Redmi 12 5G
สมาร์ทโฟนขนาด 6.67 นิ้ว หน้าจอ AMOLED มาพร้อมกับกล้องหลัง 3 ตัว ได้แก่ 1.กล้องหลักขนาด 48 MP, 2.กล้องเลนส์กว้างพิเศษ 8 MP และ 3.กล้องมาโคร 2 MP โดยกล้องหลักของ Xiaomi รุ่นนี้มีคุณสมบัติดีเยี่ยม เมื่อต้องถ่ายภาพในเวลากลางคืน ส่วนกล้องหน้ามีขนาด 13 MP รูรับแสง f/2.45 นอกจากนี้ฟังก์ชันของกล้องยังมาพร้อมกับโหมดถ่ายภาพบุคคล เอฟเฟกต์โบเก้ธรรมชาติ และยังขยายพื้นที่จัดเก็บได้ถึง 1TB จึงเหมาะมากสำหรับสายถ่ายรูป และอัดวิดีโอเก็บไว้
2. Samsung Galaxy A54
อีกหนึ่งสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงจากค่าย Samsung ที่ประกอบด้วยกล้องหลัง 3 ตัว ได้แก่ 1.กล้อง Ultra-Wide 12 MP, 2 กล้องหลัก 50 MP และ 3.กล้องมาโคร 5 MP ในส่วนของกล้องหน้า มีขนาดเท่ากับ 32 MP ซึ่งกล้องหลังยังมาพร้อมฟีเจอร์ถ่ายภาพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโหมด “Food” ที่ช่วยสนับสนุนการถ่ายภาพกับเมนูต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร, โหมด FUN ที่สร้างฟิลเตอร์ให้ภาพดูสนุก สร้างเสียงหัวเราะกับเพื่อน ๆ และโหมด Pro Video ซึ่งช่วยให้เราตั้งค่า Speed Shutter ด้วยตนเองได้
ใช้ฟีเจอร์มือถืออย่างไร ให้ ถ่ายรูปอาหาร ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
- ตั้งเวลาถ่ายภาพ เชื่อหรือไม่ว่าการกดชัตเตอร์ถ่ายภาพแต่ละครั้ง จะมีแรงสั่นสะเทือน ทำให้รูปภาพขยับจากจุดที่ตั้งโฟกัสไว้ และมีโอกาสที่ภาพเบลอได้ แต่การตั้งเวลาถ่ายภาพ จะช่วยให้เราวางสมาร์ทโฟนตรงไหนก็ได้ เช่น วางบนไม้เซลฟี่ หรือไม้กันสั่น เป็นต้น จึงไม่ต้องเสียเวลากด และในระหว่างนี้เราสามารถจัดท่าทางให้องค์ประกอบของภาพออกมาดูสมบรูณ์ยิ่งขึ้น
- โหมด Pro ก็ช่วยมือใหม่ได้เช่นกัน ในโหมดโปร แนะนำให้ผู้ถ่ายภาพ ตั้งค่า ISO ให้สูงที่สุด เพราะเมื่อ ISO สูงขึ้น จะทำให้ภาพโดยรวมออกโทนสว่างมากกว่าเดิม และปรับสี (Color Tone) ของภาพให้เข้มขึ้น เพื่อดึงสีสันของเมนูอาหารจานนั้นออกมาได้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคอื่น ๆ ที่มือใหม่หัดถ่ายภาพอาหาร สามารถเรียนรู้ให้ภาพสมบูรณ์ขึ้นได้ เช่น แต่งรูปด้วยสีที่ตัดกับอาหาร เพื่อดึงโทนสีของเมนูนั้นเด่นขึ้น การเลือกใช้พื้นหลังสีขาว สำหรับสร้างจุดโฟกัสไปยังเมนูอาหาร 100% ทั้งนี้การถ่ายภาพอาหารไม่ยากอย่างที่คิด หากตั้งใจก็ถ่ายภาพสวย ๆ ได้เช่นกัน
ที่มาข้อมูล : mangozero , thaimobilecenter , mxphone