เมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนคนไทยชาวพุทธจะเริ่มนึกถึงประเพณีอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญ นั่นก็คือประเพณีถวายเทียนพรรษาในเทศกาลเข้าพรรษา วันพระใหญ่แห่งปี เป็นประเพณีบุญที่ชาวพุทธให้ความสำคัญ มีการตระเตรียมข้าวของเพื่อถวายพระ ใส่บาตร พร้อมกับการฝึกท่อง บทสวดถวายเทียนพรรษา ซึ่งเชื่อกันว่า การทำบุญและสวดมนต์บทนี้ให้อานิสงส์หลายประการแก่ผู้ปฏิบัติ
วันแรกของการเข้าพรรษาเรียกว่า ปุริมพรรษา ภาษาบ้าน ๆ ใช้คำง่าย ๆ อีกอย่างว่าจำพรรษา ความหมายก็คือวันที่พระสงฆ์ต้องอยู่ประจำวัดหรือที่ใดที่หนึ่ง เช่น ปลักกลดในป่า โดยไม่สามารถเดินทางไปไหนได้เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มจากวันแรกซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ปีไหนที่มีเดือน 8 สองครั้งก็จะถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ครั้งที่สองเป็นวันเข้าพรรษา สำหรับปี 2566 นี้ วันเข้าพรรษาตรงกับวันพุธ ที่ 2 สิงหาคม ในส่วนของฆราวาสทั้งหลายจะมีการนำของมาถวายแด่พระสงฆ์ที่จะต้องอยู่จำพรรษาเป็นเวลานาน พร้อมกับจัดพิธีทางศาสนาตามประเพณีโบราณคือพิธีแห่เทียนพรรษา
พิธีแห่เทียนพรรษาและการเตรียม บทสวดถวายเทียนพรรษา
เทียนพรรษาเป็นของถวายพระซึ่งมีทั้งความหมายที่ดีและมีประโยชน์ในการใช้งาน ความหมายของการถวายเทียนคือเป็นการนำความสว่างไสวมาให้และเป็นการจุดประกายสติปัญญาให้สุกปลั่งดั่งแสงสว่างของเทียน การนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองเหมือนแสงที่เรืองรองและการมีบริวารรายล้อมคอยสนับสนุน ส่วนประโยชน์ของเทียนก็คือการนำมาใช้เพื่อส่องสว่าง เพราะในสมัยโบราณถือว่ามีความจำเป็นเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้
ในปัจจุบันแม้ว่าจะไม่ได้ใช้เทียนส่องสว่างเป็นหลัก แต่ยังคงต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ อยู่เสมอ และพิธีถวายเทียนพรรษาก็ยังคงจัดกันต่อไปตามประเพณี ซึ่งมีการถวายเทียนทั้งสองแบบคือแบบที่ใช้จุดไฟได้กับเทียนพรรษาแบบสวยงามแต่จุดไฟไม่ได้ ทำขึ้นเพื่อบูชาพระรัตนตรัยเท่านั้น
ตามประเพณีโบราณพิธีการถวายเทียนนี้จะต้องมีการเตรียมตัวท่องบทสวด ถวายเทียนพรรษา อย่างพร้อมเพรียงเพื่อให้เกิดอานิสงส์และเพื่อเป็นการตั้งจิตของผู้ถวายให้มีสมาธิในการทำบุญทำกุศล ที่สำคัญก็คือเพื่อเป็นการสืบสานคำสอนของพระพุทธเจ้าเพราะความจริงแล้วบทสวดมนต์ต่าง ๆ นั้นมาจากบทเรียนธรรมะที่พระสงฆ์ศึกษาเล่าเรียนกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในพิธีแห่เทียนก็เช่นกัน พระสงฆ์จะนำสวดเพื่อให้ฆราวาสทั้งหลายได้สวดตาม
ประเพณีแห่เทียนพรรษา ในแต่ละท้องถิ่น
พิธีบุญครั้งนี้จัดกันทั่วไปในทุกภาคของไทย ที่ผ่านมาเราได้เห็นประเพณีแห่เทียนพรรษาในจังหวัดต่าง ๆ จัดกันยิ่งใหญ่โดยเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานีมีการจัดที่โดดเด่นกว่าที่อื่น มีขบวนแห่สวยงาม อีกจังหวัดหนึ่งที่เน้นกิจกรรมเข้าพรรษาด้วยการตักบาตรและเวียนเทียนอย่างจริงจังนั่นก็คือที่จังหวัดนครพนม ส่วนที่จังหวัดสระบุรีมีกิจกรรมสำคัญคือพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของงานนี้ ขณะที่จังหวัดสุรินทร์ก็มีความเป็นเอกลักษณ์เช่นกันคือพิธีตักบาตรบนหลังช้าง
ลักษณะของพิธีการต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัดอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ รวมถึงขั้นตอนการสวดมนต์อาจจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันทั้งหมดเสียทีเดียว แต่โดยทั่วไปจะเริ่มด้วยการกล่าวบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล แล้วเริ่มสวดคำถวายเทียนจำนำพรรษาและคำถวายเทียนเข้าพรรษา ทั้งในภาษาบาลี สันสกฤต และคำไทย
บทสวดถวายเทียนพรรษา และของทำบุญที่ควรมี
บทสวดถวายเทียนพรรษา มีหลายบทโดยด้วยกัน โดยแต่ละบทอาจมีถ้อยคำแตกต่างกันเล็กน้อย แต่สาระสำคัญคือการถวายเทียนเพื่อประโยชน์แด่พระสงฆ์และขออานิสงส์แห่งบุญให้บังเกิดแก่ผู้ถวายรวมถึงญาติพี่น้อง กัลยาณมิตร ในที่นี้ขอแนะนำบทสวดฉบับสั้นและง่าย สำหรับผู้ที่ต้องการทำบุญถวายเทียนได้ฝึกท่องจำก่อนทำพิธี
คำสวดมนต์
อิมานิ มะยัง ภันเต, วัสสิกะปะทีปานิ, สะปะริวารานิ,
เตมาสัง, พุทธัสสะ, ปูชะนัตถายะ, อิมัสสะหมิง อาวาเส,
นียาเทมะ, สาธุโน ภันเต, อะยัง เตมาสัง, วัสสิกะปะทีปานัง,
ทานัสสะ, อานิสังโส, อัมหากัญเจวะ, ฑีฆะรัตตัง ,
หิตายะ , สุขายะ , นิพพานายะ จะ ฯ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเทียนพรรษาพร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ไว้ในอาวาสแห่งนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายเทียนพรรษาตลอดพรรษานี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อมรรคผลนิพพานแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ
ในเทศกาลเข้าพรรษานี้นอกจากการถวายเทียนพรรษาแล้ว ควรมีของทำบุญอื่น ๆ โดยทั่วไปจะมีการถวายผ้าอาบน้ำฝน เพราะเป็นของใช้จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ รวมถึงอาหารสำเร็จรูปที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ยาต่าง ๆ เพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ยาแก้ไข้ ยาธาตุ ยาหม่อง ผ้าพันแผล พร้อมถวายปัจจัยแด่พระสงฆ์ ซึ่งจะต้องจำวัดปฏิบัติกิจเป็นเวลาถึง 3 เดือน
กิจกรรมในวันเข้าพรรษาสำหรับชาวพุทธยังควรมีการรักษาศีล ฟังธรรมอย่างเป็นกิจวัตร ในช่วงเวลาตลอด 3 เดือนนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการเข้าวัดเข้าวา ไม่เพียงแค่เทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้นการเข้าวัดทำบุญสามารถทำได้ตลอดไป หากใครมีเวลาและสะดวกที่จะทำได้ถือเป็นเรื่องที่ดีและจะนำสิ่งดี ๆ มาสู่ชีวิตของเรา
ที่มาข้อมูล: kalyanamitra , pr.rbru , isranews , pptvhd36