ประจำเดือนถือเป็นฝันร้ายของสาว ๆ หลายคน บางคนอาจมีอาการปวดหน่วงตลอดทั้งวันทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่าย ไม่สบายตัว หรือบางรายมีอาการปวดหนักจนต้องนอนขดอยู่กับที่ไม่สามารถลุกไปทำงาน ไปเรียน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้เลยก็มี ดังนั้นวันนี้เราจะมาแชร์วิธีลดอาการ ปวดประจำเดือน แบบง่าย ๆ ไม่ต้องพึ่งยา ไม่ต้องไปหาหมอ ทำได้ด้วยตัวเราเอง พร้อมเผยความจริงเรื่องที่มักเข้าใจผิดว่าทำแล้วสามารถลดอาการปวดท้องในช่วงประจำเดือนได้ ถ้าพร้อมแล้วอย่ารอช้าตามมาดูกันได้เลยค่ะ
6 วิธีลดอาการ ปวดประจำเดือน ฉบับทำเองง่าย ๆ
- ใช้ถุงน้ำร้อนประคบบริเวณท้องน้อย
วิธีลดอาการปวดประจำเดือนง่าย ๆ ที่ทำมาตั้งแต่โบราณนั่นคือการใช้ถุงน้ำร้อนประคบเพื่อลดอาการปวด เนื่องจากความร้อนมีประสิทธิภาพในการช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณมดลูกคลายตัว ไม่บีบรัดจนก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดนั่นเองค่ะ
โดยให้ใช้น้ำร้อนผสมกับน้ำอุณหภูมิห้องปริมาณครึ่งต่อครึ่งเพื่อให้น้ำไม่ร้อนจนเกินไป จากนั้นประคบทิ้งไว้ 10 – 20 นาที อาการปวดจะดีขึ้นได้
- เคลื่อนไหวร่างกายบ้าง ไม่นอนอยู่นิ่ง ๆ
หลายคนเมื่อมีอาการปวดประจำเดือนมักเลือกนอนหรือนั่งนิ่ง ๆ อย่างเดียว เพราะคิดว่ายิ่งขยับประจำเดือนยิ่งไหลมาก แท้จริงแล้วเพื่อน ๆ ควรลุกเดินให้กล้ามเนื้อบริเวณมดลูกคลายตัวลดอาการบีบรัด จะทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลงได้ หรือจะเลือกวิธีการออกกำลังกายเบา ๆ ขยับขา ขยับแขน ขยับเอวบ้างเล็กน้อยก็ได้เช่นกันค่ะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนให้เพียงพอถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรปฏิบัติกันอยู่แล้ว เมื่อพักผ่อนเพียงพอฮอร์โมนในร่างกายจะทำงานได้ปกติ ไม่ก่อให้เกิดอาการบีบรัดของกล้ามเนื้อ ทำให้ประจำเดือนมาตรงเวลาและสภาพอารมณ์ไม่แปรปรวนมากเกินไป
- ลดความเครียด
วิธีนี้อาจจะทำได้ยากสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่ทราบหรือไม่ว่าความเครียดก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวการหลักที่ทำให้ประจำเดือนของเรามาไม่ปกติ มาไม่ตรง และมาพร้อมกับอาการปวดท้องที่รุนแรง
เนื่องด้วยความเครียดส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ รวมไปถึงระบบต่าง ๆ ในร่างกายทั้งบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อาจเกิดการบีบรัดมากเกินไป ก่อให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนหนักตามมานั่นเอง
- ดื่มน้ำขิง
น้ำขิงถือเป็นตัวช่วยเด็ดตั้งแต่สมัยโบราณที่นำมาดื่มบรรเทาอาการปวดท้องได้ดี มีสรรพคุณช่วยคลายกล้ามเนื้อไม่ให้บีบตัวแน่น ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และยังช่วยทำให้หลับสบายอีกด้วย
- ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมาก
ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว ในช่วงที่มีประจำเดือนเพื่อเป็นการทดแทนเลือดที่เสียไปและสามารถลดอาการปวดท้องได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นการดื่มน้ำสะอาดยังช่วยทำให้ฮอร์โมนและระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ผิวสวยใสจากภายในสู่ภายนอก ดูเป็นสาวสุขภาพดีอีกด้วย
3 เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ประจำเดือน
- เป็นประจำเดือนห้ามดื่มน้ำเย็น
หลายคนมีความเชื่อว่าเมื่อเป็นประจำเดือนต้องห้ามดื่มน้ำเย็น เพราะจะทำให้เลือดจับกันเป็นก้อน ไม่ถูกขับออกมาทั้งหมด เลือดประจำเดือนจะตกค้างในร่างกายทำให้ปวดท้องหนักกว่าเดิม แท้จริงแล้วการดื่มน้ำเย็นในช่วงประจำเดือนมาไม่ได้ส่งผลเช่นนั้นเลย
การดื่มน้ำเย็นจะมีผลต่ออุณหภูมิในร่างกายแต่ไม่ได้ส่งผลต่ออาการปวดท้องประจำเดือน แต่จะก่อให้เกิดอาการป่วยได้ง่ายขึ้นหากดื่มน้ำที่เย็นจัดในอากาศที่ร้อนมาก ๆ เพราะร่างกายจะเกิดการปรับอุณหภูมิไม่ทันก็เท่านั้นเอง
- ห้ามดื่มน้ำมะพร้าวในช่วงเป็นประจำเดือน
มีความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวหากดื่มในช่วงที่เป็นประจำเดือนจะทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนหนักขึ้น หายช้า และทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติในรอบถัดไป แท้ที่จริงแล้วน้ำมะพร้าวไม่ใช่สิ่งต้องห้ามเมื่อเป็นประจำเดือนแต่อย่างใด เพียงแต่ในน้ำมะพร้าวมีสารที่ชื่อว่า ไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ถูกหลั่งออกมาในช่วงเป็นประจำเดือน
แต่ก็ไม่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณของเลือดประจำเดือนหรือการเลื่อนประจำเดือนในรอบถัดไป เพียงแต่หากได้รับไฟโตเอสโตรเจนในปริมาณที่เยอะมากจริง ๆ ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณมดลูกบีบตัวจนเกิดอาการปวดได้เช่นกัน ฉะนั้นใครที่อยากดื่มน้ำมะพร้าวในวันที่เป็นประจำเดือนก็สามารถดื่มได้ในปริมาณพอเหมาะ
- ห้ามสระผม เพราะจะทำให้ประจำเดือนหยุดไหล
อีกหนึ่งความเชื่อที่หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการสระผมจะทำให้ประจำเดือนหยุดไหล กลั้นไว้ไม่ถูกระบายเลือดเสียออกมา ทำให้เกิดอาการปวดท้องหนักมากขึ้น ความเป็นจริงแล้วการสระผมไม่ได้ก่อให้เกิดอาการประจำเดือนหยุดไหลแต่อย่างใด
เพียงแค่ในช่วงการเป็นประจำเดือนฮอร์โมนและร่างกายของผู้หญิงจะอ่อนแอมากกว่าช่วงปกติ ดังนั้นการสระผมอาจก่อให้เกิดอาการผมร่วงได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้นเอง
อาการปวดท้องประจำเดือนถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับสาว ๆ ทุกคน แต่หากมีอาการปวดมากผิดปกติเมื่อไหร่ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาการปวดประจำเดือนรุนแรงก็อาจเป็นสัญญาณของโรคร้าย เช่น เนื้องอกในโพรงมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ติดเชื้อในมดลูก เป็นต้น
ไม่เพียงอาการปวดเท่านั้น สีของประจำเดือนเองก็บ่งบงถึงสุขภาพของเราได้เช่นกัน สาว ๆ จึงจำเป็นต้องสังเกตตนเองอยู่เสมอ ฉะนั้นหากนำวิธีการลดอาการ ปวดประจำเดือน ที่เราได้แนะนำในวันนี้ไปลองใช้แล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้นหรือปวดหนักอยู่บ่อยครั้ง ควรไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย หากมีความผิดปกติจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
ที่มาข้อมูล: bumrungrad , paolohospital , paolohospital