เมื่อเราไปทำบุญที่วัดกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มักจะทำนอกจากการกราบไหว้พระประธานประจำวัดนั้น ๆ ก็คือการไปกราบไหว้และปิดทอง พระประจำวันเกิด ซึ่งในแต่ละวันก็จะมีพระที่มีพุทธลักษณะแตกต่างกัน เคยสงสัยกันไหมว่าพระประจำวันเกิดแต่ละปางนั้นมีที่มาอย่างไร ตามไปหาคำตอบพร้อมกันได้ในบทความนี้เลย
พระประจำวันเกิด ของคนทั้ง 8 วัน
วันอาทิตย์ : ปางถวายเนตร
ลักษณะของพระปางถวายเนตรเป็นพระพุทธรูปยืน พระเนตรทั้งสองข้างจ้องเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองข้างประสานกันอยู่บริเวณพระเพลา (ตัก) โดยพระหัตถ์ข้างขวาวางทับพระหัตถ์ซ้าย
ความเป็นมาของปางนี้เกิดเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลา 7 วัน แล้วได้เสด็จไปทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรตลอดเวลา 7 วัน
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอาทิตย์
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะคุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา
เวทะคุ สัพพะธัมเมเตเม นะโมเต จะมังปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโมวิ มุตตานัง นะโมวิมุตติยา อิมังโส ปะริต ตังกัตวา โมโร จะระติ เอสะนา
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโสตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติงเย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติฯ
(สวดวันละ 6 จบ)
วันจันทร์ : ปางห้ามญาติหรือปางห้ามสมุทร
พระประจำวันจันทร์เป็นพระปางห้ามญาติ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน ยกพระหัตถ์ขวาเพียงข้างเดียวขึ้นมาเสมอหน้าอกเป็นกิริยาห้าม ส่วนปางห้ามสมุทรจะยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นมา
ตำนานความเป็นมาของพระปางห้ามญาติเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงห้ามญาติฝั่งพระบิดากับฝั่งพระมารดาไม่ให้ทะเลาะแย่งน้ำกันเพื่อนำไปเพาะปลูก ส่วนปางห้ามสมุทรนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์ห้ามลม ห้ามฝน ห้ามพายุ และห้ามน้ำท่วม เพื่อทำลายทิฐิของเหล่าชฎิล (นักบวชลัทธิบูชาไฟ) จนยอมบวชเป็นสาวกในพุทธศาสนา
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันจันทร์
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง ธัมมานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
(สวดวันละ 15 จบ)
วันอังคาร : ปางไสยาสน์
พระพุทธรูปปางนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน
ตำนานปางนี้มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าประทับบรมทมแบบสีหไสยาส์ใต้ต้นรังก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอังคาร
ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเขปิ ปาณิโน ปะติฏฐะมะธิคัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิสัมภะวา คะณะนา นะ จะ มุตตานัง ปะริตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 8 จบ)
วันพุธกลางวัน : ปางอุ้มบาตร
พระประจำวันพุธกลางวันเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์โอบอุ้มบาตรเอาไว้ สันพระบาตรวางชิดกัน
ตำนานปางนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงไปเทศนาพระประยูรญาติ แล้วเสด็จไปอุ้มบาตรโปรดสัตว์จนพระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาทรงเข้าใจผิดคิดว่าไปขอทานชาวบ้าน พระพุทธเจ้าได้อธิบายว่าการออกบิณฑบาตเป็นการไปโปรดสัตว์จึงต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญ
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธกลางวัน
สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 17 จบ)
วันพุธกลางคืน : ปางป่าเลไลยก์
ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งประทับบนก้อนศิลา พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนเข่า ส่วนพระหัตถ์ขวาหงาย มีช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำและลิงถือรวงผึ้งถวายรับใช้
ตำนานของปางป่าเลไลยก์นั้นเกิดที่เมืองโกสัมพี พระสงฆ์เกิดแตกสามัคคีไม่ยอมอยู่ในพุทธโอวาท พระพุทธเจ้าจึงเข้าไปในป่าปาลิไลยกะเพียงลำพัง มีพญาช้างและพญาลิงมาคอยปรนนิบัติ ต่อมาชาวบ้านไม่พบพระพุทธเจ้าจึงพากันติเตียนหมู่ภิกษุสงฆ์ เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นสำนึกผิดจึงได้ไปทูลเชิญพระพุทธเจ้ากลับมา
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธกลางคืน
กินนุ สันตะระมาโนวะ ราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต ติฏฐะสีติ สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ พุทธาคาถาภิคิโตมหิ โนเจ มุญเจยะ จันทิมันติ
(สวดวันละ 12 จบ)
วันพฤหัสบดี : ปางสมาธิ
ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา
ความเป็นมาของปางสมาธิเกิดขึ้นตอนที่ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปางนี้จึงเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์นั้น เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปางตรัสรู้
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพฤหัสบดี
ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง วัฏฏะชาติยัง ยัสสะ เตเชนะ ทาวัคคิ มะหาสัตตัง วิวัชชะยิ เถรัสสะ สารีปุตตัสสะ โลกะนาเถนะ ภาสิตัง กัปปัฏฐายิ มะหาเตชัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 19 จบ)
วันศุกร์ : ปางรำพึง
ลักษณะพระประจำวันเกิดวันศุกร์เป็นพระพุทธรูปประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันบนพระอุระ (อก) ในลักษณะพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
ตำนานความเป็นมาเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้ายืนรำพึงพิจารณาธรรมที่ได้ตรัสรู้ใต้ต้นไทรว่าละเอียดลึกซึ้งและยากเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจ จึงเกิดความคิดว่าจะไม่เผยแพร่ธรรม ท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลอาราธนาให้แสดงธรรมคำสอน พระองค์จึงหันกลับมาสั่งสอนธรรมให้แก่มนุษย์
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันศุกร์
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 21 จบ)
วันเสาร์ : ปางนาคปรก
ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นบัลลังก์และปรกแผ่พังพานเหนือพระเศียร
ตำนานของพระปางนาคปรกนั้นเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก เกิดฝนตกลงมาไม่หยุด พญามุจลินท์นาคราชมาแสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขนด 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้าไม่ให้โดนฝน รวมถึงป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามากล้ำกราย
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันเสาร์
ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตาฯ เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ
(สวดวันละ 10 จบ)
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วหวังว่าจะเข้าใจลักษณะและที่มาของพระประจำวันเกิดปางต่าง ๆ กันมากขึ้น และถ้าหากมีเวลาว่างก็อย่าลืมเข้าวัดไปสักการะปิดทองและสรงน้ำ พระประจำวันเกิด ของตัวเอง เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต
ที่มาข้อมูล: Wreathmala, Watpamahachai, Pptvhd36