หากพูดถึงยาแผนโบราณหลาย ๆ คนคงจะนึกไปถึงยาสมุนไพร เช่น ยาหอม ยาหม่อง ยาแก้กระษัย เป็นต้น เอกลักษณ์ของยาเหล่านี้ก็คือมีความขมและกลิ่นแรงไม่น่ารับประทานเอาเสียเลย แต่เชื่อหรือไม่ว่ายาแผนโบราณจากสมุนไพรนั้นมีผลข้างเคียงน้อยและราคาถูกกว่ายาแผนปัจจุบัน จึงนิยมใช้เป็นทางเลือกในการรักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบันอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น ยาเขียว ที่จะใช้รักษาอาการไข้หวัด ตัวร้อน ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันมากใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย วันนี้เราเลยจะมาเผยสรรพคุณของเจ้ายาเขียวกันว่าเป็นอย่างไร ตามไปหาคำตอบกันได้เลย
ยาเขียว คืออะไร?
ยาเขียว เป็นหนึ่งในตำรับยาแพทย์แผนไทยที่มีปรากฏตามตำราแพทย์แผนไทยหลายฉบับ ทั้งฉบับหลวงและฉบับท้องถิ่นตามพื้นที่และภูมิปัญญาในพื้นถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยหัวใจสำคัญของยาเขียวคือเป็นยาที่ทำมาจากสมุนไพรโดยใช้ส่วนของใบมาเป็นส่วนผสมหลักของยา ทำให้ตัวยามีสีเขียวจึงกลายเป็นที่มาของชื่อว่ายาเขียวนั่นเอง
สมุนไพรที่นำมาเป็นส่วนผสมของยาเขียวจะเป็นสมุนไพรที่มีรสขมและมีฤทธิ์เย็น เช่น ใบพิมเสน ใบบอระเพ็ด ใบย่านาง ใบชิงช้าชาลี ใบมะระ ใบสะเดา ใบน้ำเต้า ใบหนาด เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ยาเขียวเป็นตำรับยาที่ได้ถูกจัดให้อยู่บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาเขียวหอม ประกอบไปด้วยตัวยาและสมุนไพรหลายชนิดรวมกัน เช่น ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ใบสันพร้าหอม รากแฝกหอม หัวเปราะหอม แก่นจันทน์ขาวหรือจันทร์ชะมด แก่นจันทน์แดง ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง เนระพูสี พิษนาศน์ มหาสดำ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง
สรรพคุณของยาเขียว
ในยาเขียวหรือยาเขียวหอมนั้นจะมีสมุนไพรฤทธิ์เย็นจำนวนมากทำให้สรรพคุณหลักของยาเขียวช่วยขับพิษร้อนในร่างกาย ช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายให้สมดุล แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ลดพิษไข้ รวมถึงลดความร้อนจากอาการไข้ จึงใช้เป็นยาบรรเทาอาการไข้ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงได้ นอกจากนั้นยังใช้รักษาโรคหัดและอีสุกอีใส โดยสามารถรับประทานหรือจะนำมาบดผสมกับน้ำแล้วทาบริเวณแผลภายนอกก็ได้เช่นกัน
ขนาดและวิธีใช้ยาเขียวชนิดผงในผู้ใหญ่รับประทานละลายน้ำครั้งละ 1 ช้อนชา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ส่วนเด็กเล็กรับประทานละลายน้ำครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ส่วนยาเขียวแบบเม็ดขนาดที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ เด็กเล็กรับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ
ข้อควรระวังในผู้ป่วยที่แพ้ละอองแพ้เกสรดอกไม้ และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน
เทียบสรรพคุณ ยาเขียว ยอดนิยมในท้องตลาด
ในท้องตลาดทุกวันนี้มียาเขียวหรือยาเขียวหอมวางจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ ทั้งแบบที่ผ่านมาตรฐานมีเลขที่จดแจ้งชัดเจนและแบบที่ปรุงจากสมุนไพรกันสด ๆ ตามร้านยาจีนยาแผนโบราณทั่วไป ซึ่งยาเขียวยี่ห้อยอดนิยมที่เราจะนำมาเปรียบเทียบสรรพคุณกันในวันนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ยี่ห้อ ได้แก่ ยาเขียวตราใบโพธิ์ และยาเขียวตราใบห่อ
- ยาเขียวตราใบโพธิ์
ยาสมุนไพรตำรับโบราณที่มีอายุมากว่า 100 ปี เป็นยาเขียวแบบผง ตัวยาประกอบไปด้วยสมุนไพรหลายชนิด แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้
ตัวยาตรง ประกอบด้วย
- ใบพิมเสน ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน และถอนพิษไข้
- ใบผักกระโฉม สรรพคุณแก้ไข้พิษ อาการหวัดและตัวร้อน
- ใบหมากผู้หมากเมีย สรรพคุณแก้อาการตัวร้อน มีไข้ เหือดหัด อีสุกใส และอีดำอีแดง
- แก่นจันทน์ สรรพคุณแก้ไข้สูง ลดกระสับกระส่าย
ตัวยาช่วย ประกอบด้วย
- เนระพูสี มีฤทธิ์แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ
- พิษนาศน์ ช่วยดับพิษไข้กาฬ และแก้ไข้เซื่องซึม
- มหาสดำ สรรพคุณช่วยแก้ไข้พิษไข้กาฬ ช่วยให้ไม่กระหายน้ำ และแก้ร้อนใน
- รากไคร้เครือ สรรพคุณแก้พิษไข้และพิษกาฬ
- ว่านกีบแรด ช่วยแก้พิษตานซาง
- ว่านร่อนทอง มีฤทธิ์ช่วยคุมธาตุและแก้พิษฝี
ตัวยาประกอบ ประกอบด้วย
- ใบสันพร้าหอม ช่วยขับเหงื่อ และแก้ไข้
- รากแฝกหอม สรรพคุณแก้ท้องอืดจุกเสียดแน่น รวมไปถึงช่วยขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ
- เปราะหอม สรรพคุณแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ มีส่วนช่วยขับลมในลำไส้
- ดอกพิกุล ช่วยแก้ลม บำรุงโลหิต
- ดอกบุนนาค มีรสหอมเย็นจึงช่วยแก้ร้อนได้ ลดอาการกระสับกระส่าย
- ดอกสารภี สรรพคุณแก้ไข้ที่มีพิษร้อน แก้โลหิตพิการ ช่วยบำรุงหัวใจ
- เกสรบัวหลวง แก้ไข้รากสาด รวมไปถึงไข้ที่มีพิษร้อน
- ยาเขียวตราใบห่อ
ตำนานยาสมุนไพรที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 40 ปี โดดเด่นด้วยรูปแบบ ยาขมตอกเม็ด เจ้าแรกของไทย มีหลากสูตรหลายตำรับยา แต่ที่นำมาแนะนำในวันนี้เป็นสูตรยาเขียวชนิดเม็ดรุ่นคลาสสิก ในหนึ่งเม็ดประกอบด้วยตัวยาทั้งหมด 3,000 กรัม ซึ่งประกอบไปด้วย
- ใบสันพร้าหอม รสหอมสุขุม สรรพคุณแก้ไข้ ขับเหงื่อ
- ใบพิมเสน สรรพคุณแก้ไข้ตัวร้อน ถอนพิษไข้
- พิษนาศน์ สรรพคุณดับพิษไข้กาฬ แก้ไข้เซื่องซึม
- จันทร์เทศ ช่วยควบคุมร่างกายไม่ให้เย็นจนเกินไป
- ตัวยาอื่น ๆ แก้ร้อนใน ถอนพิษไข้ แก้ปวดหัวตัวร้อน กระหายน้ำ และออกหัดอีสุกอีใส
เป็นอย่างไรกันบ้างกับสาระดี ๆ เกี่ยวกับ ยาเขียว สมุนไพรที่เรานำมาฝากในวันนี้ หวังว่าเพื่อน ๆ คงพอจะเข้าใจถึงประโยชน์และสรรพคุณของยาเขียวกันไปบ้างแล้ว ใครที่อยากจะลองใช้สมุนไพรบำบัดเป็นแพทย์ทางเลือกในการดูแลสุขภาพยามเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ แนะนำให้มียาเขียวสมุนไพรติดบ้านไว้เลย
ที่มาข้อมูล: workpoint , pharmacy.su , kapook , pharmacy.mahidol