อาการแพ้อาหารในเด็ก สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกน้อยได้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองจึงควรรู้วิธีการเช็กอาการแพ้อาหารและการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้จากโรงพยาบาลชั้นนำมาฝากเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตั้งแต่วิธีสังเกตอาการแพ้อาหารไปจนถึงวิธีการดูแลหรือการปฐมพยาบาลเมื่อ ลูกแพ้อาหาร เบื้องต้น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในการดูแลลูกน้อยมากขึ้น
อาการแพ้อาหารในเด็กคืออะไร?
อาการแพ้อาหารเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงได้สร้างภูมิต้านทานชนิด อี (Immunoglobulin E: IgE) ออกมา ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยอาหารที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้บ่อย ได้แก่ ถั่ว นม ไข่ ข้าวสาลี ปลา และอาหารทะเล
โดยลักษณะ ลูกแพ้อาหาร มีตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อยไปจนถึงปฏิกิริยารุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ไปจนถึงหายใจติดขัด ปัจจัยที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการแพ้อาหารมีหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม แหล่งที่มาของอาหาร การทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น
สัญญาณบ่งบอกว่า ลูกแพ้อาหาร
การรู้ถึงสัญญาณและอาการแพ้อาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับลูกได้ทันท่วงที โดยสัญญาณหรืออาการแพ้อาหารแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
- แบบเฉียบพลัน สำหรับอาการแพ้ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากรับประทานอาหารภายในไม่กี่นาที ถึง 1 ชั่วโมง และมักมีอาการรุนแรงที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น อาการหายใจติดขัด ระบบหัวใจล้มเหลว หรือระบบการทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว
- แบบไม่เฉียบพลัน มักเกิดปฏิกิริยาไม่รุนแรงและเกิดหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้ตั้งแต่ 1 – 24 ชั่วโมง เช่น ผื่นลมพิษ อาเจียน ท้องร่วง สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน และแม้แต่อาหารที่ก่อภูมิแพ้เพียงเล็กน้อยก็สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาได้
วิธีป้องกันการแพ้อาหาร
ความรุนแรงของอาการแพ้อาหารในเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนที่มีลูกเล็กวัย 6 เดือนขึ้นไป มักกังวลเกี่ยวกับการแพ้อาหารของลูกมากเป็นพิเศษ จึงพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโอกาสก่อให้เกิดอาการแพ้
แม้ว่าจะทำให้เด็ก ๆ ไม่ต้องเสี่ยงกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแต่ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ว่าเด็กแพ้อาหารอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นและต้องรับประทานอาหารนอกบ้านอาจเกิดอาการแพ้อาหารในเด็กขึ้นมาได้ สำหรับการป้องกันการแพ้อาหารของเด็กมีดังนี้
- เด็กเล็กวัย 6 เดือนขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่เริ่มรับประทานอาหารอื่นที่มีประโยชน์กับร่างกายนอกจากนมได้บ้างแล้ว ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือทดลองให้ลูกรับประทานอาหารทีละอย่างและคอยสังเกตความผิดปกติ
- เด็กวัยกำลังโต สามารถรับประทานอาหารได้เป็นปกติ แต่หากพบว่ามีอาการแพ้อาหารบางอย่างควรหลีกเลี่ยง
ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลเรื่องการแพ้อาหารเนื่องจากคนในครอบครัวมีประวัติการแพ้อาหารรุนแรงก็มีโอกาสที่เด็กจะเกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน แต่หากต้องการเช็กให้ชัวร์ว่าเด็กมีความเสี่ยงในการแพ้อาหารชนิดไหนบ้าง สามารถทำโปรแกรมทดสอบภูมิแพ้อาหาร Oral Food Challenge Test ที่โรงพยาบาลได้ โดยโปรแกรมทดสอบภูมิแพ้อาหารแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบ Skin Prick Test หรือการทดสอบทางผิวหนัง ทราบผลภายใน 15 – 20 นาที และแบบ Blood Test For Specific IgE การทดสอบจากผลเลือด ทราบผลภายใน 3 – 5 วัน
สำหรับเด็กมักจะนิยมทดสอบภูมิแพ้อาหารแบบ Skin Prick Test หรือการทดสอบทางผิวหนัง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการใส่สารก่อภูมิแพ้จำนวนเล็กน้อยลงบนผิวหนังแล้วใช้เข็มเล็ก ๆ สะกิดผิวเล็กน้อยเพื่อทดสอบอาการระคายเคือง ใช้เวลาไม่นาน จึงเหมาะกับเด็ก ๆ โดยหลังจากที่ทดสอบหากเกิดการนูนขึ้นหรือมีปฏิกิริยาขึ้นแสดงว่าเกิดการแพ้
วิธีดูแลและปฐมพยาบาลเมื่อ ลูกแพ้อาหาร
คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันการแพ้อาหารของเด็ก ๆ ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เริ่มต้นด้วยการแจ้งให้สมาชิกในครอบครัว ครู และคนอื่น ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กให้ทราบว่าเด็กมีความเสี่ยงในการแพ้อาหารประเภทใด เพื่อให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดคอยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงในเด็กวัยกำลังโตควรเน้นย้ำเรื่องการหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของเด็ก
- แปะข้อมูลติดต่อกรณีฉุกเฉินในจุดที่เห็นได้ชัด การแจ้งเบอร์ติดต่อในกรณีฉุกเฉินแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับเด็ก หรือเขียนเบอร์ติดต่อบนภาชนะบรรจุอาหารและกล่องอาหารกลางวันของลูกอย่างชัดเจน รวมถึงระบุว่าลูกแพ้อาหารชนิดใด จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้
- อ่านฉลากอาหารที่ไม่คุ้นเคยทุกครั้ง การอ่านฉลากอาหารเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันไม่ให้ลูกแพ้อาหาร โดยคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรอ่านส่วนผสมให้ละเอียดว่ามีอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือไม่ เช่นนมไข่ ถั่วลิสง ข้าวสาลี รวมถึงสารปรุงแต่งรส สารเติมแต่ง หรือสารกันบูด เป็นต้น
ในส่วนของวิธีการปฐมพยาบาลเมื่อพบว่าเด็กมีอาการแพ้อาหาร เริ่มต้นด้วยการหยุดรับประทานอาหารชนิดนั้นหรือมีส่วนผสมของอาหารที่แพ้โดยทันที และปฐมพยาบาลดังนี้
- กรณีที่อาการแพ้ไม่รุนแรง เช่น ตาบวม ปากบวม มีผื่นคันเล็กน้อย สามารถรับประทานยาแก้แพ้ได้
- กรณีที่อาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจติดขัด ผื่นคันขึ้นเยอะ ท้องเสียรุนแรง ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหรือแพทย์โดยทันที
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ ลูกแพ้อาหาร การทดสอบภูมิแพ้อาหารเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติการแพ้อาหารรุนแรง รวมถึงคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายหลังจากการรับประทานอาหารจะช่วยให้เด็ก ๆ ไม่เกิดอันตรายจากการแพ้อาหารได้
ที่มาข้อมูล: phyathai , vejthani , enfababy , synphaet , paolohospital , rama.mahidol