แม้ไม่ใช่วันหยุดราชการสำหรับบุคคลทั่วไป แต่ วันครูแห่งชาติ 16 มกราคม ของทุกปีก็เป็นหนึ่งในวันสำคัญที่ปรากฏบนปฏิทิน นั่นเพราะ “ครู” เป็นอาชีพที่เสียสละและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการศึกษาของไทย ซึ่งนอกจากจะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ตามหลักวิชาการแล้ว “ครู” ยังทำหน้าที่อบรมสั่งสอนสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์รอบตัวให้แก่ศิษย์ เราจึงถูกปลูกฝังให้เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์มาแต่ครั้งอดีต
เหตุใดวันที่ 16 มกราคม ของทุกปีจึงเป็น วันครู
วันครูหรือ Teachers’ Day เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 นับย้อนไปกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2488 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา ระบุให้กระทรวงศึกษาธิการมีสภาที่เรียกว่า “คุรุสภา” อันมีสถานะเป็นนิติบุคคลและผู้ที่ประกอบวิชาชีพครูทุกคนดำรงสถานะเป็นสมาชิกของคุรุสภา
คุรุสภาจึงเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันวิชาชีพครู ทำหน้าที่นำเสนอนโยบายการศึกษา ควบคุมจรรยาบรรณและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์พร้อมดูแลสวัสดิการให้แก่ครูและครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครูทั่วประเทศ
ในแต่ละปีคุรุสภาจึงจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ครูทั่วประเทศได้นำเสนอผลงาน สอบถามข้อสงสัย พร้อมติดตามการดำเนินงานของคุรุสภาในรอบปีที่ผ่านมาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ดูแล
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2499 การประชุมสามัญคุรุสภาประจำปีในวาระนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า
เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า “วันครู” ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง
ซึ่งคำกล่าวนี้สอดคล้องกับความต้องการของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในปีเดียวกันนั้นเองที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาและมีมติเห็นสมควรที่จะให้มี “วันครู” เพื่อรำลึกถึงบุญคุณ ส่งเสริมสามัคคีธรรม และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพครู ทั้งยังจะเป็นวันที่ครูจากหลายสถาบันการศึกษาได้มาพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอน การทำงาน และสวัสดิภาพของการประกอบวิชาชีพครู
จนกระทั่งวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีได้มีมติประกาศให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น วันครูแห่งชาติ พร้อมให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศเป็นวันหยุดของครูและนักเรียนทั่วประเทศ ดังนั้นวันครูจึงเกิดขึ้นครั้งแรกในปีถัดมา คือ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 นั่นเอง
กิจกรรมวันครูแห่งชาติ
การจัดงาน วันครูแห่งชาติ ครั้งแรกนั้นใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน (ปัจจุบันคือสนามศุภชลาศัย) โดยกิจกรรมแต่เดิมนั้นได้กำหนดให้มีการจัดทำอนุสรณ์งานวันครูไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อาทิ การทำหนังสือหรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุที่เกี่ยวกับครู ซึ่งปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมวันครูเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น โดยจัดให้มี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
- กิจกรรมทางศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตรเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ครูผู้ล่วงลับ
- พิธีรำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว พิธีคารวะครูผู้สอนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ รวมทั้งพิธีปฏิญาณตนและการกล่าวระลึกถึงพระคุณของครู
- กิจกรรมสร้างความสามัคคีระหว่างครูที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน เช่น การแข่งขันกีฬาสามัคคี การจัดงานเฉลิมฉลองหรืองานรื่นเริง พร้อมแสดงนิทรรศการผลงานของครูและการมอบรางวัลเชิดชูครูดีเด่นประจำปี เป็นต้น
คำขวัญวันครู
แม้วันครูจะจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 แต่คำขวัญวันครูนั้นปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งในระยะแรกจะเป็นคำขวัญวันครูจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา ทั้งนี้ช่วง พ.ศ. 2522 – 2529 ลักษณะของคำขวัญวันครูจะเป็นการให้โอวาทเพื่อนำไปใช้เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นครูที่ดี ต่อมาจึงได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นข้อความที่กระชับ จำง่าย และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยบางปีเป็นคำขวัญที่มาจากบุคคลทั่วไป (หากมีการจัดประกวดคำขวัญวันครู) ในระยะหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นคำขวัญจากนายกรัฐมนตรีเช่นในปัจจุบัน
ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์วันครู
ด้วยธรรมชาติของกล้วยไม้ซึ่งกว่าจะเติบโตผลิดอกสวยงามต้องใช้ทั้งเวลาและการทุ่มเทดูแลเอาใจใส่ เช่นเดียวกับการอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดีมีความรู้เพื่อเติบโตเป็นอนาคตของชาตินั้นก็ต้องใช้เวลา และการดูแลใส่ใจเช่นเดียวกัน คณะกรรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. 2539 จึงได้ประกาศให้ดอกกล้วยไม้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันครูตั้งแต่นั้นมา
“วันไหว้ครู” ไม่ใช่ “วันครู”
เนื่องจากนักเรียนไทยทุกคนต่างต้องผ่านกิจกรรมไหว้ครูทุกปี คนส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยกับวันไหว้ครูมากกว่าวันครูบางคนจึงอาจสับสนคิดว่าเป็นวันเดียวกัน แต่ “วันครู” ไม่ใช่ “วันไหว้ครู” ด้วยวันครูนั้นถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ในขณะที่วันไหว้ครูไม่มีการกำหนดวันที่แน่ชัดในแต่ละปี นิยมจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงระยะแรกหลังจากเปิดภาคการศึกษาใหม่ของโรงเรียนในสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่เป็นศิษย์ได้ทำพิธีไหว้บูชาครู ระลึกถึงพระคุณของครู และฝากตัวเป็นศิษย์ก่อนเริ่มต้นการเรียนการสอนในปีการศึกษานั้น ๆ
ครูเป็นดั่งแม่พิมพ์และพ่อพิมพ์ของชาติซึ่งทำหน้าที่หล่อหลอมลูกศิษย์ให้เติบโตเป็นคนดีมีวิชา สร้างคนคุณภาพออกสู่สังคมรุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อให้ท่านได้ทราบว่าเรายังระลึกถึงพระคุณที่สามอยู่เสมอ วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีอย่าลืมกลับไปไหว้บูชาคารวะครู หากไม่มีเวลาว่างหรืออยู่ห่างไกลสามารถเลือกส่งข้อความ การ์ด หรือส่งของขวัญแทนใจไปก็ได้ เชื่อว่าคุณครูคงมีความสุขและอิ่มเอมใจไม่ใช่น้อย
ที่มาข้อมูล : Sanook, Thansettakij, Sanook, Thansettakij, วันไหว้ครู, Thairath, pptvhd36