สีทาบ้าน ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้บ้านน่าอยู่ แต่มีใครรู้บ้างว่าสีทาผนังบ้านนั้นมีประโยชน์มากกว่าความสวยงาม และยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้คุณได้รู้ว่าสีแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร และประโยชน์ของสีทาผนังบ้านมีอะไรบ้าง ทำไมจึงต้องพิถีพิถันในการเลือก มาติดตามความรู้ดี ๆ จากเราต่อไปนี้กัน แล้วคุณจะสามารถเลือกสีทาผนังบ้านได้อย่างถูกต้อง มีคุณภาพและความทนทาน
ประเภทของสีที่ใช้ทาผนังบ้าน
หากแบ่งตามชนิดของสีที่ใช้งานสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- สีน้ำมัน
เป็นสีที่ผลิตจากอัลคิด เรซิน (Alkyd Resin) ที่มาจากพืชมีความเงางาม ทนทานต่อความร้อน สามารถแข็งตัวเป็นฟิล์มแข็งได้เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจน นิยมนำมาทาไม้หรือเหล็กเพื่อสร้างความเงางาม แต่จะต้องผสมกับทินเนอร์ก่อนเมื่อต้องนำมาใช้งาน
- สีน้ำอะคริลิก
เป็นสีที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาให้สามารถทาบนพื้นปูนให้มีความสวยงาม ปกปิดรอยแตกร้าวและลายงา ทนต่อสภาวะอากาศ สามารถใช้ทาภายนอกและภายในบ้านได้
สีทาบ้าน ภายในและภายนอก
หลังจากรู้แล้วว่าสีประเภทใดที่เหมาะจะนำมาทาสีบ้าน โดยเน้นที่พื้นผิวที่เป็นปูนกับคอนกรีต นั่นก็คือสีน้ำอะคริลิก ซึ่งก็จะแยกออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่นำไปใช้ ได้แก่
- สีทารองพื้น เป็นสีที่ใช้สำหรับรองพื้นก่อนทาสีจริง เพื่อลดความเป็นด่างและช่วยให้สีจริงมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นปูนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสีทารองพื้นปูนก็จะแบ่งได้ออกเป็น สีทารองพื้นปูนเก่าและสีทารองพื้นปูนใหม่
- สีทารองพื้นปูนเก่า ใช้สำหรับทารองพื้นปูนที่ผ่านการทาสีมาแล้ว ทาเพื่อปรับสภาพพื้นผิวให้เรียบก่อนทาสีชั้นหน้าทับลงไปและเป็นการปรับพื้นสภาพผิวเพราะจะต้องทำการขัดสีเดิมออกเนื่องจากเสื่อมสภาพ มีรอยด่างจากราหรืออื่น ๆ โดยจะต้องเตรียมพื้นผิวให้มีความสะอาดและแห้ง จึงจะสามารถทาสีรองพื้นปูนเก่าได้
- สีทารองพื้นปูนใหม่ ใช้สำหรับทารองพื้นปูนที่ผ่านการฉาบและทิ้งให้แห้งแล้วอย่างน้อย 30 วัน เพื่อลดความเป็นด่างของปูนที่ฉาบ
- สีทาภายใน คือ สีสำหรับทาพื้นผิวปูนภายในบ้าน อาคารหรือเพดาน มีความนุ่มนวล เนื้อสีมาก ไม่มีกลิ่นฉุน ให้ความละเอียดสูง เช็ด ถู ทำความสะอาดได้ง่าย มีสารเคมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย จึงเหมาะสำหรับทาผนังภายในบ้าน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน เป็นต้น
- สีทาภายนอก คือ สีที่มีการผสมสารเคมีและสิ่งเจือปนอื่น ๆ เพื่อให้สามารถคงต่อสภาวะแวดล้อมภายนอกบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการทนต่อความร้อน แสงแดด และน้ำฝน ดังนั้นสีทาภายนอกจำเป็นต้องมีคุณสมบัติดีกว่าสีทาภายใน สามารถปกป้องการแตก หลุดร่อนของสี มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ที่สำคัญติดทนนาน อีกทั้งยังกันความชื้นและเชื้อราได้
ความแตกต่างระหว่างสีทาผนังภายในและภายนอก
สิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดเป็นความแตกต่างระหว่างสีทาภายในและสีทาภายนอกคือ ความเข้มข้นของสีสำหรับทาผนังภายนอกจะมีความเข้มข้นของสีมากกว่าสีทาแบบภายใน ในขณะที่สีทาภายในจะให้ความนุ่มนวลมากกว่า ที่สำคัญคือไม่มีกลิ่นฉุนและสารเคมีจำนวนมาก จึงนิยมนำมาทาสีภายในบ้านนั่นเอง
ในส่วนของข้อแตกต่างอื่น ๆ ได้แก่ สีทาภายนอกจะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าสีทาภายใน เพราะมีการเติมแต่งสารเคมีอื่น ๆ เพื่อคุณสมบัติพิเศษเข้าไปเพื่อให้สีมีความคงทนต่อสายลม แสงแดดและน้ำฝนได้ดี รวมถึงป้องกันการรั่วซึมของน้ำฝนเข้าสู่ภายในตัวอาคารด้วย
สีทาผนังภายนอก นำมาทาภายในได้หรือไม่ ?
ด้วยราคาสีทาภายนอกค่อนข้างสูงและมีกลิ่นสารเคมีค่อนข้างรุนแรงกว่าสีทาภายใน จึงไม่นิยมนำมาทาภายใน ในขณะที่สีทาผนังภายในก็ไม่เหมาะนำไปใช้ทาภายนอกเพราะว่าทนทานต่อสภาพอากาศภายนอกได้ด้อยกว่า ซึ่งจะทำให้สีซีดจางและเสื่อมสภาพไวกว่าที่กำหนด ดังนั้นจึงควรเลือกใช้สีให้ถูกต้องตามคุณสมบัติ จะทำให้ได้รับทั้งความคุ้มค่าและความทนทาน
ประโยชน์ของการเลือก สีทาบ้าน ที่มีคุณภาพ
- เพื่อความสวยงามและน่าอยู่
- ปกป้องความร้อนและแสงแดดที่ตกกระทบบนผิวบ้าน เนื่องจากสีบางชนิดมีคุณสมบัติที่จะกันความร้อนและรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ได้
- ปกป้องรอยแตก รอยร้าว รอยแตกลายงาจากการแห้งตัวของปูนหลังการฉาบได้
- ทำความสะอาดได้ง่าย เนื่องจากเป็นสีอะคริลิก
- ช่วยให้บ้านไม่ร้อน
- สำหรับคนที่เชื่อในเรื่องของโชคและดวงเกี่ยวกับสีและที่อยู่อาศัยก็จะช่วยเสริมโชค หนุนดวงให้แก่ผู้อยู่อาศัยเมื่อเลือกสีที่ถูกโฉลกได้
ดังนั้น ในการเลือก สีทาบ้าน นอกจากจะเลือกที่ความสวยงามแล้ว ก็ควรเลือกจากประโยชน์และการใช้งานที่เหมาะสมจึงจะถูกต้อง เพื่อคุณภาพของงานที่ดีและจะได้ไม่ต้องมาแก้ในภายหลัง เพราะหากใช้สีผิดประเภทนอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังต้องเสียเวลาในการรื้อและทาสีใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีในส่วนของคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ อีกที่เจ้าของบ้านควรรู้เกี่ยวกับการเลือกซื้อ เช่น คุณสมบัติการสะท้อนรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น การเลือกสีให้เหมาะกับห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน ตลอดจนการเลือกสีให้ถูกโฉลกกับผู้อยู่อาศัย จะทำให้บ้านสวยงามน่าอยู่ และอยู่อาศัยอย่างมีความสุข
ที่มาข้อมูล: captaincoating , toagroup , toagroup , homeguru , deltapaint