คุณแม่มือใหม่หลายท่านมีความสงสัยเกี่ยวกับการ อยู่ไฟ ว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ไม่ทำได้หรือไม่ ทำแล้วดีอย่างไร หรือมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง เป็นธรรมดาสำหรับบทบาทใหม่ของความเป็นแม่มีเรื่องให้เรียนรู้และเตรียมตัวเตรียมใจมากมาย การตั้งครรภ์และคลอดลูกถือเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่มีผลกับร่างกายของคุณแม่โดยตรงจึงอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะอยากให้ร่างกายเราคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดและดีที่สุดหลังคลอด
อยู่ไฟหลังคลอด จำเป็นหรือไม่
ถ้าเป็นสมัยโบราณการอยู่ไฟหลังคลอดถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพราะการแพทย์ยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน การคลอดยังเป็นแบบคลอดธรรมชาติ ยังไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ยังไม่มียาที่ทันสมัย ยังใช้หมอตำแย คลอดแบบบ้าน ๆ การรักษาตัวหลังคลอดของคุณแม่จึงต้องอาศัยวิถีธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ส่งต่อมาแบบรุ่นสู่รุ่น นั่นก็คือการอยู่ไฟนั่นเอง
แต่ปัจจุบันมีแพทย์ออกมาให้ความเห็นในเรื่องการอยู่ไฟว่าไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณแม่จะต้องทำ เพราะการคลอดดูแลโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีการฉีดยาเพื่อให้มดลูกเข้าอู่ป้องกันภาวะการตกเลือดและช่วยขับน้ำคาวปลาจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีการคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอดก็ตาม
อย่างไรก็ตามแพทย์ให้ความเห็นถึงการอยู่ไฟว่าถึงแม้ไม่ได้จำเป็นและไม่มีผลการวิจัยหรือการศึกษาใดที่บ่งชี้แน่ชัดเรื่องการอยู่ไฟแล้วทำให้มดลูกเข้าอู่หรือร่างกายแข็งแรงขึ้นเร็วกว่าการไม่อยู่ไฟ การอยู่ไฟหลังคลอดมีข้อดีในเรื่องช่วยให้คุณแม่หลังคลอดรู้สึกผ่อนคลาย การนวดประคบต่าง ๆ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี มีผลกับการไหลของน้ำนม ที่สำคัญคือช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้
ดังนั้นการอยู่ไฟจึงถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล คุณแม่พิจารณาอยู่ไฟหรือไม่ตามความเหมาะสม โดยหากต้องการอยู่ไฟยุคสมัยใหม่ไม่ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน เพียงแต่การจัดลำดับความสำคัญคืออย่าให้การอยู่ไฟขัดขวางหรือกระทบต่อการให้นมลูกเท่านั้นเอง
การ อยู่ไฟ ทำอย่างไรบ้าง
อย่างที่เกริ่นไว้ช่วงต้นว่า การอยู่ไฟยุคนี้ไม่ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน ถ้าเป็นสมัยก่อนการอยู่ไฟผู้หญิงหลังคลอดต้องนอนบนแคร่ในห้องที่ปิดประตูหน้าต่างไม่ให้ลมเข้า มีเตาถ่านจุดไฟวางไว้ข้าง ๆ แคร่เพื่อให้ความร้อน การกินอาหารก็ต้องงดหลายอย่าง กินได้เฉพาะข้าวกับปลาเค็มหรือเกลือ การอยู่ไฟยุคนี้ไม่ต้องทำสุดโต่งแบบนั้นแล้ว หากคุณแม่ต้องการอยู่ไฟลักษณะการอยู่ไฟสมัยใหม่จะมีขั้นตอนตามนี้
- นวดประคบด้วยสมุนไพร มีการนำสมุนไพรหลายชนิดมาทำเป็นลูกประคบเพื่อใช้ประคบร้อน ลูกประคบนี้ช่วยเรื่องการไหลเวียนเลือดของคุณแม่หลังคลอด ช่วยให้ผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เมื่อประคบร้อนเหงื่อจะออกจึงเป็นการระบายของเสีย การประคบบริเวณเต้านมช่วยให้เลือดไหลเวียนบริเวณเต้านมทำให้น้ำนมไหลเวียนได้ดี
- อบด้วยสมุนไพร นอกจากนวดประคบด้วยลูกประคบสมุนไพรแล้ว คุณแม่อาจเลือกวิธีอบสมุนไพรควบคู่ไปด้วย โดยใช้สมุนไพรหลายชนิดที่มีกลิ่นหอมต้มให้เกิดไอน้ำ คุณแม่นั่งในตู้อบหรือในกระโจมนานประมาณ 15 – 20 นาที ความร้อนจากสมุนไพรจะช่วยเปิดรูขุมขนทำให้เหงื่อออกเป็นการระบายของเสีย คุณแม่จะรู้สึกสบายขึ้น
- ทาบด้วยหม้อเกลือ การทาบด้วยหม้อเกลือเป็นการดูแลเฉพาะจุด วิธีการคือใช้เกลือห่อด้วยใบพลับพลึงรวมกับสมุนไพรอื่น ใส่ลงในหม้อดินตั้งไฟให้ร้อน พอร้อนได้ที่ให้นำหม้อดินมาประคบเฉพาะส่วนหน้าท้อง หลัง และสะโพก เน้นบริเวณที่เป็นมดลูก เชื่อว่าการทาบด้วยหม้อเกลือนี้ได้ประสิทธิภาพดีกว่าการนวดประคบด้วยสมุนไพร ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นและช่วยขับน้ำคาวปลาได้ดี
นอกเหนือจากการ อยู่ไฟหลังคลอด ตามที่กล่าวมา มีข้อแนะนำให้คุณแม่หลังคลอดดื่มน้ำอุ่น หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น กินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เพื่อเป็นการปรับสมดุลในร่างกายหลังคลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรปฏิบัติตาม
ข้อควรระวังกับการ อยู่ไฟ
การอยู่ไฟมีข้อดีมากมาย แต่อย่างไรมีข้อควรระวังสำหรับการอยู่ไฟเหมือนกัน ดังนี้ค่ะ
- ให้ระวังเรื่องระดับความร้อนหรืออุณหภูมิ การประคบ นวด อบ หรือทาบด้วยหม้อเกลือนั้นควรพอดี ไม่ร้อนเกินไปจนร่างกายรับไม่ไหว รวมถึงระยะเวลาก็ควรเหมาะสม ครั้งละไม่เกิน 30 นาที
- เลือกใช้บริการการอยู่ไฟของแพทย์แผนโบราณที่น่าเชื่อถือ
- หากคุณแม่ผ่าคลอด ควรรออยู่ไฟเมื่อแผลผ่าตัดหายสนิทแล้ว ปกติจะประมาณ 1 เดือนหลังคลอด
- ในช่วงของการอยู่ไฟ คุณแม่ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อชดเชยเหงื่อที่เสียไป
- หากอยู่ไฟด้วยตัวเอง ไม่ควรนอนหลับในขณะอยู่ไฟ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ขึ้นได้
- คุณแม่หลังคลอดที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถอยู่ไฟได้หรือไม่
- คุณแม่ที่มีไข้หรือมีภาวะตกเลือดหลังคลอดไม่ควรอยู่ไฟ
นอกจากนั้นคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูลูกน้อยในภาวะหลังคลอดด้วย โดยไม่ให้ตารางการอยู่ไฟกระทบกับการให้นมลูกและต้องคำนึงถึงความสะอาดของร่างกาย เช่น เต้านม หากต้องให้ลูกดูดนมในช่วงของการอยู่ไฟ
การอยู่ไฟหลังคลอดมีข้อดีมากกว่าข้อไม่ดีค่ะ คุณแม่เลือกอยู่ไฟเองโดยซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทลูกประคบหรือสมุนไพรสำหรับอบตัวพร้อมกระโจมมาทำที่บ้านหรือจะเลือกบริการอยู่ไฟแบบเดลิเวอรี่ก็สะดวกมากค่ะ
ที่มาข้อมูล: Punnita , Enfababy , Mamachoice