ออฟฟิศซินโดรม คืออาการยอดฮิตของชาวออฟฟิศ ที่ตั้งชื่อตามจำนวนประชากรที่มีอาการนี้กันเยอะ เป็นอาการที่สร้างความลำบากให้กับเหล่าพนักงานออฟฟิศอยู่ไม่น้อยเลย หันซ้ายหันขวาไปถามก็เห็นว่าเจออาการเดียวกันอยู่บ่อย ๆ เจ้าอาการที่ว่านี้มีสารพัดปวดตั้งแต่ปวดหลัง ปวดคอ ปวดเอว ปวดบ่า ปวดตา เมื่อยขา ปวดข้อมือ นิ้วล็อก ปวดไมเกรน ฯลฯ ซึ่งหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุ ออฟฟิศซินโดรมจะกลายเป็นอาการที่เกิดเป็นประจำจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่หนักจนรักษาหรือแก้ไขยากขึ้นได้
อาการของ ออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม ต้องเรียกว่าเป็นกลุ่มอาการ เพราะเกิดได้หลายอาการ เช่น อาการปวดช่วงคอ บ่า ไหล่ ปวดหลัง เอว และปวดศีรษะ อาการเหน็บชาตรงแขน มือ ข้อมือ นิ้ว อาการปวดขมับ ปวดกระบอกตา หรือหูอื้อ อาการอาจเป็นหนักแค่อย่างเดียวหรือเป็นหลายอย่างร่วมกัน เริ่มจากมีอาการน้อยไปจนถึงอาการมาก อาการเหล่านี้หากปล่อยไว้จนเรื้อรังก็มีโอกาสนำไปสู่โรคภัยอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ฯลฯ
สาเหตุของ ออฟฟิศซินโดรม
ก่อนจะไปถึงวิธีการป้องกันก็ต้องมารู้และเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิด ออฟฟิศซินโดรม กันก่อน หลายคนคิดว่าทำงานออฟฟิศอย่างไรก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เจ้าอาการที่ว่าที่จริงเราสามารถลดโอกาสหรือทำให้อาการลดน้อยลงได้ สาเหตุที่ทำให้พนักงานออฟฟิศต้องเผชิญกับอาการเหล่านั้นเป็นเพราะท่านั่งทำงานไม่ถูกต้อง เช่น นั่งก้มหน้าตลอด นั่งหลังค่อม นั่งไขว่ห้าง นั่งห้อยขา รวมไปถึงนั่งท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ ไม่ได้เปลี่ยนท่าเลยเป็นชั่วโมง ๆ อุปกรณ์ทำงานเป็นสาเหตุของออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน เช่น เก้าอี้นั่งทำงานมีส่วนสูงไม่พอดีกับโต๊ะทำให้ต้องก้มมากเกินไป หรือไฟส่องสว่างไม่เพียงพอทำให้ต้องเพ่งสายตาอยู่ตลอดจนทำให้เกิดอาการตาล้าไปจนถึงปวดกระบอกตา
โรคต่อเนื่องจากอาการออฟฟิศซินโดรม
อาการออฟฟิศซินโดรมหากไม่หลีกเลี่ยงหรือแก้ที่สาเหตุปล่อยให้อาการต่อเนื่องอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาวตามมาได้ เช่น เวียนศีรษะ บ้านหมุน ปวดข้อมือ เส้นประสาทข้อมือ นิ้วล็อก กรดไหลย้อน ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ กระเพาะอาหารอักเสบ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไตวาย ฯลฯ รู้แบบนี้แล้วก็อดกลัวไม่ได้ ชาวออฟฟิศต้องเร่ง Work Life Balance กันให้ดีแล้วล่ะค่ะ
ทำงานอย่างไรให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม
การจะหลีกเลี่ยงจากการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรมจะต้องให้ความสำคัญและไม่ละเลยการปฏิบัติดังนี้
- จัดหาโต๊ะเก้าอี้ทำงานที่มีความสูงที่เหมาะสม เก้าอี้ต้องมีฐานที่กว้างพอที่จะรับน้ำหนักต้นขาได้อย่างเต็มที่ เก้าอี้ต้องมีความสูงพอดี นั่งแล้วเท้าวางบนพื้นแบบไม่ต้องเขย่ง หากไม่ได้ควรหาอุปกรณ์มารองเพื่อวางเท้าได้เต็มเท้า เก้าอี้ควรมีที่พักแขนโดยที่พักแขนต้องอยู่ระดับเดียวกันกับโต๊ะทำงาน และมีพนักพิงหลังที่เอนได้ หากไม่สามารถเลือกเก้าอี้เองได้ให้ใช้เบาะรองนั่งหรือเบาะพิงหลังช่วยปรับท่านั่งให้เหมาะสมลดอาการออฟฟิศซินโดรมได้
- นั่งทำงานในท่าที่เหมาะสม ไม่นั่งก้มหน้า ห่อไหล่ ให้นั่งหลังตรง บ่า ไหล่ ตรง
- ปรับเปลี่ยนท่านั่งและอิริยาบถบ่อย ๆ ไม่นั่งท่าเดิมอยู่นานเป็นชั่วโมง ทุก 30 นาที ควรขยับปรับเปลี่ยนท่านั่งหรือลุกเดินไปมาบ้าง
- คอมพิวเตอร์ควรตั้งอยู่บนโต๊ะที่ขอบบนอยู่ตรงกับระดับสายตาพอดี เพื่อไม่ให้ต้องก้มหน้าตลอดเวลา ถ้าโต๊ะกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้ระดับสามารถใช้แท่นวางโน้ตบุ๊กหรืออุปกรณ์เสริมอื่นช่วย
- ทำท่ากายบริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อ นั่งทำงานออฟฟิศวันละหลายชั่วโมงตั้งแต่เข้างานจนออกงานทำให้กล้ามเนื้อเกร็งไปทั้งตัว สามารถทำท่ากายบริหารเบา ๆ ที่โต๊ะได้ โดยเลือกท่ายืดกล้ามเนื้ออก กล้ามเนื้อหลังส่วนบน กล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ สามารถหาจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมได้มีแนะนำหลายท่า ถ้าเป็นท่าที่ถูกต้องทำแล้วจะรู้สึกได้เลยว่ากล้ามเนื้อส่วนนั้นได้ยืดเหยียดและอาการปวดผ่อนคลายลง
- ใช้อุปกรณ์เสริมช่วย เช่น เมาส์เพื่อสุขภาพจะช่วยทำให้ไม่ปวดข้อมือ ไม่ต้องออกแรงคลิก ไม่ต้องเกร็งข้อมือเวลาใช้งาน
- พักสายตา ละจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้างเป็นระยะ การจ้องคอมพิวเตอร์นานเป็นชั่วโมงไม่เป็นผลดีกับสายตาในระยะยาว อีกทั้งมีแสงสีฟ้าจากคอมพิวเตอร์ที่พร้อมทำลายสุขภาพสายตาของเรา วิธีคือต้องละหรือพักสายตาจากคอมพิวเตอร์ ทุก 30 นาท ให้พัก 5 นาที
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เน้นท่าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อหลัง คอ บ่า ไหล่ เอว และสะโพกแข็งแรงขึ้น โดยประเภทของการออกกำลังที่ช่วยให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรมได้มีทั้งการเล่นโยคะ วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และการยกน้ำหนัก
ทำงานยาว ๆ มีสมาธิดีบางทีก็เพลิน แต่ก็ไม่เป็นผลดีกับร่างกาย อาการออฟฟิศซินโดรมจะถามหาในไม่ช้า ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ใช้เวลาทานข้าวกลางวันให้มากขึ้น จิบกาแฟระหว่างวัน ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยผ่อนคลายเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งแช่จ้องคอมมาทำอย่างอื่นบ้าง จัดสรรเวลาทำงานให้งานเสร็จพอดีไม่กินเวลามากไป แล้วตอนเย็นหาเวลาไปเดินเล่นออกกำลังกายบ้าง จะดีกว่านั่งแช่ทำงานวันละหลาย ๆ ชั่วโมงไม่ได้ขยับตัว เป็นวิธีการง่าย ๆ ทำให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรมได้ หรืออาจจะลองหาอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดอาการปวดต่าง ๆ
ที่มาข้อมูล: Samitivej Chinatown , Bolttech , sukumvithospital , mahidol , wefitnesssociety , ofm , Cigna