รถยนต์ทุกคันเมื่อผ่านการใช้งานไปสักระยะก็ต้องถึงเวลาที่จะนำเข้ารับการตรวจ เช็คสภาพรถ พร้อมกับได้รับการบำรุงรักษาหรือที่เรียกกันว่าการเช็คระยะตามคู่มือ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากไม่ควรปล่อยปะละเลยจนเกินกำหนด เพราะหากคิดว่าเรื่องแค่นี้คงไม่เป็นไรและไม่ใส่ใจผลที่ตามมาอาจร้ายแรงกว่าที่คิด จนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าเช็คระยะหลายเท่าก็เป็นได้
การตรวจเช็คสภาพรถตามระยะเวลาที่กำหนดจึงถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นทั้งการช่วยให้ตัวรถสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่เสมอและช่วยยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ให้ยาวนานขึ้น หากพบปัญหาระหว่างตรวจเช็คจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้นอีกด้วย
ควร เช็คสภาพรถ เมื่อไหร่
สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะต้องนำรถยนต์เข้ารับการตรวจเช็คสภาพ สามารถตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการเข้าตรวจเช็คระยะได้จากคู่มือรถ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะกำหนดเอาไว้คล้าย ๆ กัน ดังนี้
- ครั้งที่ 1 รถมีระยะเวลาการใช้งาน 1 – 6 เดือน หรือมีระยะทาง 5,000 กิโลเมตร
- ครั้งที่ 2 รถมีระยะเวลาการใช้งาน 6 – 12 เดือน หรือมีระยะทาง 10,000 กิโลเมตร
- ครั้งที่ 3 รถมีระยะเวลาการใช้งาน 12 – 24 เดือน หรือมีระยะทาง 20,000 กิโลเมตร
- ครั้งที่ 4 รถมีระยะเวลาการใช้งาน 12 – 24 เดือน หรือมีระยะทาง 40,000 กิโลเมตร
- ครั้งที่ 5 รถมีระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 36 เดือน หรือมีระยะทาง 60,000 กิโลเมตร
- ครั้งที่ 6 รถมีระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 60 เดือน หรือมีระยะทาง 100,000 กิโลเมตรขึ้นไป
นำรถเข้าตรวจเช็คระยะแต่ละครั้งต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง
สำหรับการเช็คสภาพรถตามระยะจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เช็คตามระยะเวลา และเช็คตามระยะทาง สำหรับท่านใดที่ใช้รถเป็นประจำหรือขับรถทางไกลอยู่บ่อย ๆ ควรเช็คตามระยะทาง แต่ถ้าจอดไว้บ้านเป็นส่วนใหญ่หรือขับอาทิตย์ละครั้งควรเช็คตามระยะเวลาซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าระยะไหนถึงก่อน โดยทุกครั้งที่เข้ารับการตรวจเช็คระยะของรถยนต์สิ่งที่จะได้รับการตรวจเช็คและเปลี่ยนถ่ายส่วนใหญ่ก็จะมีดังต่อไปนี้
- การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ปกติเกือบทุกครั้งที่เข้ารับการตรวจ เช็คสภาพรถ มักจะมีรายการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรวมอยู่ด้วยเสมอ เพื่อช่วยให้เครื่องยนต์สะอาด ช่วยให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ทำงานได้อย่างราบรื่นเต็มประสิทธิภาพ และช่วยลดการสึกหรอ
- การตรวจเช็คสภาพไส้กรอง ได้แก่ กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ไส้กรองอากาศ กรองอากาศแอร์ เป็นต้น โดยไส้กรองแต่ละอย่างจะมีระยะเวลาในการตรวจเช็คและเปลี่ยนชิ้นใหม่ที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งที่เข้าตรวจเช็คสภาพ ยกเว้นกรองน้ำมันเครื่องที่ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งพร้อมกันกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การเปลี่ยนไส้กรองในระบบต่าง ๆ ของรถยนต์จะช่วยลดอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและช่วยให้เครื่องยนต์ระบบกลไกต่าง ๆ ทำงานได้สมบูรณ์เป็นปกติ
- การตรวจเช็คระดับของเหลวต่าง ๆ อาทิ น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ น้ำมันพวงมาลัย น้ำมันเฟืองท้าย น้ำยาหม้อน้ำ โดยจะได้รับการตรวจเช็คให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งของเหลวเหล่านี้มักจะได้รับการเปลี่ยนถ่ายใหม่ก็ต่อเมื่อใช้งานผ่านไปแล้วหลายหมื่นกิโลเมตร
- ตรวจเช็คยางที่ปัดน้ำฝน เมื่อเปิดใช้งานใบยางที่ก้านนั้นจะต้องรีดน้ำบนกระจกได้อย่างสะอาด เพื่อช่วยให้คนขับมองเห็นถนนได้อย่างชัดเจนในขณะที่ฝนตก ตามปกติแล้วควรเปลี่ยนยางที่ปัดน้ำฝนใหม่อย่างน้อยปีละครั้ง
- ยางรถยนต์ ความลึกของร่องยางจะต้องมีมากกว่า 3 มิลลิเมตร ถึงจะอยู่ในเกณฑ์การใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนั้นบริเวณเนื้อยางจะต้องไม่มีร่องรอยของการฉีกขาด และแรงดันลมยางจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน
- ตรวจเช็คระบบไฟ สัญญาณไฟต่าง ๆ ว่ามีความพร้อมในการใช้งานมากน้อยแค่ไหน เพื่อช่วยให้การขับขี่ราบรื่นและปลอดภัยต่อทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ
- ตรวจเช็คแบตเตอรี่ โดยการตรวจสอบกำลังไฟของแบตเตอรี่ หากพบว่ามีกำลังไฟอ่อนเนื่องจากใช้งานแบตเตอรี่มานานหลายปีก็ควรได้รับการเปลี่ยนใหม่ เพื่อความพร้อมในการใช้งานของรถยนต์
- ตรวจเช็คระบบเบรก หากตรวจพบสภาพความหนาของผ้าเบรกน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร จะได้รับการเปลี่ยนใหม่ทันที นอกจากนั้นยังต้องมีการตรวจสอบรอยรั่วซึมของท่อน้ำมันเบรก หากพบรอยรั่วหรือรอยซึมก็จะได้รับการเปลี่ยนใหม่เพื่อให้ระบบเบรกสามารถทำงานได้เต็มที่
- ตรวจสอบสายพานของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากและสามารถเสื่อมสภาพได้เหมือนชิ้นส่วนอื่น ๆ เมื่อผ่านการใช้งานมานานก็อาจจะทำให้สายพานเสียงดังหรือขาดระหว่างขับขี่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจเช็คสายพานให้อยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้ดี ไม่ตึง ไม่หย่อนและยานจนเกินไป
- ตรวจเช็คระบบช่วงล่าง อาทิ ลูกปืนล้อ โช้คอัพ ยางหุ้มเพลา รวมถึงลูกหมาก
- สลับยางและถ่วงล้อ การสลับยางและปรับความสมดุลของล้อและยาง เป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานของยางให้นานมากขึ้น ช่วยให้ยางสึกหรออย่างสม่ำเสมอและลดการเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับล้อรถยนต์ในระหว่างขับขี่ได้
ถ้าหากไม่ได้เข้ารับการตรวจ เช็คสภาพรถ ตามระยะเวลาที่กำหนดจะส่งผลต่อระบบเบรก เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์โดยตรง หากละเลยจนเกิดการขัดข้องก็จะส่งผลต่อความปลอดภัยในขณะขับขี่หรือเครื่องยนต์เกิดความเสียหายอย่างหนักได้ ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามคู่มือ ไม่ควรปล่อยไว้เกินระยะตรวจเช็ค 100 – 200 กิโลเมตร หรือจะนำรถยนต์เข้ารับการตรวจเช็คก่อนกำหนดก็ได้
Comments 1