“วันเช็งเม็ง” เป็นหนึ่งในวันที่คนจีนทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นวันที่ลูกหลานได้แสดงความกตัญญูและความเคารพต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อของลัทธิขงจื๊อแล้ว ยังเป็นวันที่ญาติพี่น้องรุ่นต่าง ๆ ได้กลับมารวมตัว ทำความรู้จัก และเลี้ยงสังสรรค์กัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับวันเช็งเม้งไม่น้อยไปกว่าวันตรุษจีน วันสารทจีน วันเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือวันไหว้พระจันทร์ แต่ในวัน เช็งเม้ง 2567 นี้จะตรงกับวันไหน และต้องเตรียมของไหว้อย่างไรบ้างนั้น เรามีคำตอบมาฝาก
วันเช็งเม้ง ปี 2567 ตรงกับวันไหน
วัน เช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน เป็นวันแรม 11 ค่ำ เดือน 4 ตามปฏิทินสากล ซึ่งในประเทศจีนเทศกาลไหว้เช็งเม้งจะยาวต่อเนื่องไปถึงวันที่ 19 หรือ 20 เมษายน ส่วนประเทศไทยแล้วเทศกาลเช็งเม้งจะกำหนดให้อยู่ในช่วง 3 วัน ก่อนและหลังวันเช็งเม้งตามปฏิทินสากล ดังนั้นเทศกาลเช็งเม้งในประเทศไทยปี 2567 จึงอยู่ในช่วงวันที่ 1 – 7 เมษายน 2567 แต่อย่างไรก็ตามการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 – 21 มีนาคม หรือวันชุงฮุงตามปฏิทินเกษตรของจีน สำหรับกิจกรรมหลัก ๆ ของเทศกาลเช็งเม้งคือการทำความสะอาดสุสานหรือฮวงซุ้ยบรรพบุรุษ แต่ในอดีตนอกจากทำความสะอาดสุสานของบรรพบุรุษแล้ว ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้คนในครอบครัวทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นว่าว การเล่นแตะลูกหนัง เทศกาลกินเย็น การเที่ยวชมธรรมชาติในช่วงเทศกาลซ่างสื้อ
การไหว้และของไหว้ในวัน เช็งเม้ง 2567
การไหว้บรรพบุรุษในประเทศไทยปัจจุบันนิยมปรับเทศกาลไหว้ให้เร็วขึ้นประมาณ 3 สัปดาห์ หรือประมาณวันที่ 15 มีนาคม ด้วยหลายครอบครัวพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร เพราะสุสานหรือฮวงซุ้ยส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในต่างจังหวัด การเดินทางไปไหว้ในวันเช็งเม้งหรือใกล้เช็งเม้งอาจเจอกับปัญหารถติดและความแออัดที่สุสานจากการเซ่นไหว้พร้อม ๆ กันของหลายครอบครัว สำหรับกิจกรรมที่ต้องทำและของไหว้ วันเช็งเม้ง 2567 มีดังนี้
- ทำความสะอาดสุสาน
กิจกรรมแรกที่ลูกหลานต้องทำเมื่อไปถึงสุสานคือการทำความสะอาดและตกแต่งสุสานของบรรพบุรุษ โดยการทำความสะอาดนอกจากจะเก็บกวาดเศษใบไม้ให้ดูสะอาดตาแล้ว ยังต้องเติมสีให้กับป้ายชื่อ โดยชื่อคนตายให้ใช้สีเขียวหรือสีทองขลิบเขียว ขณะคนที่ยังมีชีวิตอยู่ใช้สีแดง
- ตกแต่งสุสานให้สวยงาม
การตกแต่งสุสานให้ตกแต่งด้วยสายรุ้ง กากเพชร และกระดาษสีสันสดใส นอกจากนั้นยังสามารถโปรยกระดาษสีรอบ ๆ สุสานได้อีกด้วย
- การไหว้เจ้าที่
หลังจากทำความสะอาดและตกแต่งสุสานเรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาคือการไหว้เจ้าที่ผู้คอยปกปักรักษาหรือโถ่วตี่กง เพื่อแสดงความเคารพและขอบคุณที่ช่วยดูแลคุ้มครองดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ สำหรับของไหว้เจ้าที่ ได้แก่ เทียน 1 คู่ ธูป 5 ดอก เหล้า 5 ถ้วย ชา 5 ถ้วย ผลไม้ 3 หรือ 5 ชนิด ขนม 3 อย่าง เนื้อสัตว์ 3 อย่าง และกระดาษเงินกระดาษทอง
- การเตรียมของไหว้
ของไหว้ที่ต้องเตรียมสำหรับไหว้บรรพบุรุษ ได้แก่ เทียน 1 คู่ ธูปตามจำนวนบรรพบุรุษที่ไหว้ เหล้า 3 ถ้วย ชา 3 ถ้วย กระดาษเงินกระดาษทอง ข้าวสวยใส่ถ้วยและตะเกียบ 1 คู่ เส้นบะหมี่สด อาหาร 3 – 5 อย่าง ผลไม้มงคล ขนม 3 อย่าง และเนื้อสัตว์ 3 ชนิดขึ้นไป โดยหากเลือกไหว้ด้วยเป็ดและไก่ให้ใช้ 1 ตัว ส่วนหมูให้ใช้แบบชิ้นละ 1 กิโลกรัมขึ้นไป
- การไหว้บรรพบุรุษ
สำหรับขั้นตอนการไหว้บรรพบุรุษให้ผู้อาวุโสที่สุดของครอบครัวจุดธูปเทียนและนำลูกหลานเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หลังจากไหว้เสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือการเผากระดาษเงินกระดาษทอง โดยจะเริ่มเมื่อเทียนที่จุดไว้ใกล้หมดให้ลูกหลานใช้หวายตีวงล้อม เพราะตามความเชื่อการตีหวายเป็นการแสดงอาณาเขตไม่ให้ดวงวิญญาณอื่นเข้ามาแย่งชิงสิ่งที่ลูกหลานมอบให้บรรพบุรุษ จากนั้นจึงค่อยเผากระดาษเงินและกระดาษทอง หลังจากธูปหมดให้ลูกหลานลาของไหว้ก็เป็นอันเสร็จพิธีไหว้เช็งเม้ง
รวมสิ่งที่ห้ามทำในวันไหว้เช็งเม้ง
เนื่องด้วยการไหว้เช็งเม้งเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ อีกทั้งสุสานยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังในการไหว้และการปฏิบัติ ส่วนใครที่จะไปไหว้ เช็งเม้ง 2567 เป็นปีแรกต้องระวังเรื่องไหนบ้างนั้น มาดูกันเลย
- สำหรับการไหว้เช็งเม้งควรมีเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น หากพาบุคคลอื่นไปด้วยจะทำให้บุคคลนั้นได้รับโชคร้ายตามมา
- ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปไหว้เช็งเม้งที่สุสาน เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในความจริงแล้วเป็นกุศโลบายโบราณเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงที่สุขภาพไม่แข็งแรงได้รับอันตรายระหว่างเดินทาง
- ควรแต่งกายด้วยสีสุภาพเพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ
- ห้ามถ่ายภาพหมู่ภายในสุสาน เพราะเชื่อว่าจะกระทบต่อหยินหยางของบุคคลในภาพ
- ระหว่างไหว้ไม่ควรเดินไปยังสุสานของครอบครัวอื่น
- ห้ามปลูกต้นไม้และถอนหญ้า เพราะจะกระทบกับฮวงจุ้ยของครอบครัว
- ห้ามปักธงที่บริเวณหลังเต่าของสุสาน เพราะตามความเชื่อแล้วสุสานเป็นสถานที่พักผ่อนของบรรพบุรุษ การปักธงก็เหมือนกับการเอามีดทิ่มแท่งลงไปบนหลังคาบ้านของพวกท่าน
- การไหว้เจ้าที่ควรหลีกเลี่ยงการถวายเนื้อหมู ควรเปลี่ยนเป็นเนื้อไก่ เนื้อเป็ด หรือเนื้อปลาแทน เนื่องด้วยเจ้าที่ในบางพื้นที่อาจเป็นอิสลาม
- การวางของไหว้ห้ามวางบนแท่นหน้าเจี๊ยะปีหรือป้ายหินบรรพบุรุษเด็ดขาด เพราะเป็นทางผ่านของวิญญาณของบรรพบุรุษ
- ในวันเช็งเม้งทุกคนในครอบครัวควรพูดเฉพาะสิ่งดีและไม่ควรทะเลาะกัน
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับวันเช็งเม้งที่เรานำมาฝาก ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามที่ลูกหลานต้องปฏิบัติตามมากมาย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่คนในครอบครัวทุกเจเนอเรชันได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน
ที่มาข้อมูล : bangkokbiznews, pptvhd36, myhora, primo, rabbitcare