ต้องยอมรับว่าการไหว้เจ้าที่เป็นความเชื่อที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน ซึ่งมีทั้งไหว้เพื่อให้เจ้าที่คุ้มครอง ไหว้เพื่อให้กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรือง หรือไหว้เวลาทำการลงเสาเอกสิ่งก่อสร้างเพื่อความเป็นสิริมงคลชีวิตในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการไว้เจ้าที่บ้านและเจ้าที่ร้านค้าแล้ว อีกความเชื่อที่คนไทยยึดถือมากกันตลอดคือ การ ไหว้เจ้าที่รถ หรือหลายคนเรียกกันติดปากว่าการไหว้แม่ย่านางรถ ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบต่อมาจากการไหว้แม่ย่านางเรือของคนไทยที่ต้องทำทุกครั้งเวลาออกเรือเพื่อขอให้การออกเรือในครั้งนั้นไม่มีปัญหา ทุกคนบนเรือปลอดภัย และแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ดังนั้นเมื่อการใช้รถยนต์เข้ามาแทนที่การเดินทางด้วยเรือ คนไทยส่วนใหญ่จึงยังคงยึดถือธรรมเนียมเดิม โดยเปลี่ยนจากแม่ย่านางเรือเป็นการไหว้เจ้าที่ประจำรถหรือการไหว้แม่ย่านางรถเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยและแคล้วคลาดทุกครั้งเวลาใช้งาน
เผยขั้นตอน ไหว้เจ้าที่รถ ง่าย ๆ สำหรับมือใหม่
สำหรับคนที่เพิ่งมีรถคันแรก การ ไหว้เจ้าที่รถ หรือการไหว้แม่ย่านางรถอาจเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นเคย แต่รับประกันว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิดแน่นอน
- เตรียมของไหว้
ขั้นตอนแรกของการ ไหว้เจ้าที่ประจำรถ คือ การเตรียมของไหว้ให้พร้อม ซึ่งของไหว้ที่ใช้ ได้แก่ ผลไม้ 5 อย่าง ข้าวสาร 1 ถ้วย น้ำ 1 ถ้วย ชุดหมาก พลู ยาเส้น จำนวน 3 คำ ขนมมงคล ยาสูบ 3 มวน และ ธูป 9 ดอก โดยของทุกอย่างใส่ถาดวางไว้บนโต๊ะ แล้วนำไปไว้หน้ารถ นอกจากนั้นให้ดอกไม้ 1 กำ หรือพวงมาลัยวางไว้ที่กระจังหน้ารถ
- ทำพิธีไหม้แม่ย่านางรถ
หลังจากเตรียมของไหว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการทำพิธี โดยเริ่มด้วยการสตาร์ทรถและบีบแตร 3 ครั้ง จากนั้นธูป 9 ดอก และเทียน 1 คู่ พนมมือและสวดถวายไหว้แม่ย่านาง ตามด้วยคำอธิษฐาน พอจบให้รอจนกว่าธูปจะหมด แล้วจึงจุดยาสูบอีก 3 นาที
- กล่าวคำลาของไหว้
เมื่อทำพิธีเสร็จเรียบร้อย หรือหลังจากจุดยาสูบไปแล้ว 3 นาที ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการกล่าวคำลาของไหว้ที่ถวายต่อแม่ย่านางรถได้ก็เป็นอันเสร็จพิธี
เรื่องน่ารู้และควรระวังเกี่ยวกับการ ไหว้เจ้าที่รถ
ถึงการไหว้เจ้าที่รถจะมีขั้นตอนหลัก ๆ เพียง 3 ขั้นตอน และใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีจุดที่ต้องระวังและข้อห้ามที่ต้องปฏิบัติหลายประการ จะมีเรื่องไหนบ้างนั้น มาดูกันเลย
- คำไหว้ถวายและคำลาของไหว้ใช้คาถาคนละบท
สำหรับคำไหว้แม่ย่านางและคำลาของไหว้สามารถค้นหาได้จากในอินเตอร์เน็ต แต่ต้องระวังไว้เสมอว่าคำไหว้ถวายกับคำลาของไหว้ใช้คนละบทกัน อย่าเผลอใช้บทคาถาเดียวกันหรือเด็ดขาด
คำไหว้ถวายของ มีบทสวดดังนี้
‘นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ’ (กล่าวให้ครบ 3 จบ)
‘สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ’
‘ทุติยัมปิ สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ’
‘ตะติยัม สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ’
‘ลูกขอถวายสิ่งของเหล่านี้แก่แม่ย่านางรถ ขอท่านจงรับซึ่งสิ่งของเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ลูกทั้งหลายเทอญ สาธุ’ ตามด้วยคำอธิษฐานของตัวเอง
คำลาของไหว้ มีบทสวดดังนี้
‘นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ’ (กล่าวให้ครบ 3 จบ)
‘พุทธังลา ธัมมังลา สังฆังลา’
‘ข้าพเจ้าขอลาสิ่งของเหล่านี้เพื่อให้เป็นทานต่อไป เป็นยารักษาโรค อย่าให้เกิดโทษใด ๆ เลย เสสัง มังคะลายาจามะ’
- ผลไม้และขนมไหว้แต่ละชนิดมีความหมายแตกต่างกัน
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าในการถวายของแก่แม่ย่านางรถ โดยส่วนใหญ่จะใช้ผลไม้จำนวน 5 ชนิด ซึ่งหากต้องการเพิ่มความมงคล แนะนำให้เลือกใช้ผลไม้ความหมายดี อย่างกล้วยหอมมีความหมายเรื่องโชคลาภเงินทอง ทับทิมมีความหมายเรื่องความสามัคคี มะพร้าวเป็นผลไม้ของเทพเจ้า ส้มมีความหมายด้านสิริมงคล แอปเปิลแดงมีความหมายด้านสุขภาพ สาลี่ทองมีความหมายเรื่องเงินทองและโชคลาภ โดยการเลือกใช้ผลไม้และขนมที่มีความหมายดี ๆ จะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่ใช้รถมากขึ้น
- ห้ามใช้ผลไม้ชื่อไม่มงคลและผลไม้สีเข้ม
อีกหนึ่งเรื่องที่ควรจำไว้ให้ดีเลยคือ ห้ามใช้ผลไม้สีเข้มและผลไม้ชื่อไม่เป็นมงคล อย่างมังคุด ลูกจาก ท้อ ระกำ ละมุด กระท้อน องุ่นดำ โดยเด็ดขาด แม้ว่าจะเป็นผลไม้ที่ชอบหรือมีราคาแพงก็ตาม
- ทิศในการไหว้
ในการไหว้ควรหันหน้ารถและโต๊ะของไหว้ไปทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออกเท่านั้น ห้ามหันไปทางทิศอื่นอย่างเด็ดขาด
- ระวังเรื่องเทียนและธูป
จะเห็นว่าในขั้นตอนการไหว้ต้องมีการจุดธูปจุดเทียน เพราะฉะนั้นอย่านำไปวางใกล้กระโปรงรถ หรือวางบนกระจังหน้ารถอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้ไฟไหม้เกิดความเสียหายได้
การไหว้เจ้าที่รถ ควรทำเวลาใด และวันไหน ถึงได้ผลดี
เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิต ทำให้คำว่าฤกษ์สะดวกเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะด้วยหลายคนมีภารกิจในชีวิตประจำวันมากมายจึงทำให้ยากที่จะดำเนินการกิจกรรมทุกอย่างได้ตามเวลาหรือฤกษ์ที่ต้องการ ไม่เว้นแม้แต่การไหว้เจ้าที่รถที่บางคนก็เลือกใช้ฤกษ์สะดวกในการดำเนินงาน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็มีทริกเล็ก ๆ เรื่องวันและเวลาไหว้มาฝาก ดังนี้
- ควรเลือกไหว้ในวันสำคัญ
สมัยก่อนนิยมไหว้แม่ย่านางกันในช่วงวันสงกรานต์ หรือวันตรุษจีน เพราะเป็นวันที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเตรียมของไหว้เจ้าที่บ้าน หรือเจ้าที่ร้านค้ากันอยู่แล้ว จึงแค่เตรียมของไหว้เพิ่มสำหรับไหว้รถเท่านั้น แต่ตอนนี้หากไม่สะดวกดำเนินการก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นวันมงคลหรือวันสำคัญอื่น ๆ อย่างวันพระใหญ่ หรือวันขึ้นปีใหม่ก็ได้
- รถทั่วไปไหว้ปีละ 1 ครั้ง รถขนาดใหญ่ไหว้ปีละ 2 ครั้ง
หากเป็นรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ แนะนำให้ไหว้เจ้าที่ประจำรถ ปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นรถขนาดใหญ่ อย่าง รถทัวร์ รถบรรทุก หรือรถสิบล้อ ควรไหว้ปีละ 2 ครั้ง
- ไหว้ตอนกี่โมงถึงจะดี
ปกติแล้วในแต่ละเดือนจะมีเวลาฤกษ์ดีสำหรับการไหว้เจ้าที่รถ แตกต่างกัน ซึ่งหากเป็นคนที่เคร่งครัดในการไหว้จะต้องไปดูที่ปฏิทิน หรือตำราโหราศาสตร์ของแต่ละปี ส่วนใครที่อยากใช้ฤกษ์สะดวกก็สามารถทำได้ แต่ต้องทำในช่วงประมาณ 7 โมง ถึง 10 โมงเช้า
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการ ไหว้เจ้าที่รถ หรือการไหว้แม่ย่านางรถที่เรานำมาฝากในวันนี้ ซึ่งยุคสมัยที่เปลี่ยน ทำให้ใครหลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่งมงาม แต่เชื่อเถอะว่าการไหว้นั้นเป็นหนึ่งในแรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจชั้นดีที่คอยเรียกสติและเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ขับทุกครั้งเวลาที่สตาร์ทรถของคุณเอง
ที่มาข้อมูล: tidlor , autospinn , yukonlubricants , somwang , tqm
Comments 1