ว่านหางจระเข้ เป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลักษณะเป็นพืชอวบน้ำ ลำต้นสั้น ใบเรียงซ้อนกันเป็นกอ ภายในใบมีเนื้อวุ้นที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ทั้งการรักษาและการบำรุงผิว นอกจากนี้ส่วนอื่น ๆ ของว่านหางจระเข้ยังนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย ทั้งการรับประทานและการทา โดยวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับประโยชน์ของพืชชนิดนี้ให้มากขึ้น
ประโยชน์ของ ว่านหางจระเข้ ภายนอกร่างกาย
- รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
เมื่อถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกจะทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดความเสียหายได้ โดยความรุนแรงของลักษณะแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 ผิวหนังยังไม่แตกออก
ระดับที่ 2 มีตุ่มพองและหนังแตก
ระดับที่ 3 ผิวชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ถูกทำลาย ผิวหนังหลุดลอก มีแผลเปิด
ระดับที่ 4 ผิวหนังมีส่วนที่ไหม้เกรียม
การใช้ว่านหางจระเข้สามารถช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกระดับที่ 1 และ 2 ได้ ถ้ารุนแรงกว่านั้นต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อโดนน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทันทีและใช้เนื้อวุ้นใส ๆ ของว่านหางจระเข้ฝานเป็นแผ่นบางแล้ววางบนแผล หรือจะทาด้วยเจลว่านหางจระเข้ ซึ่งได้รับรองมาตรฐานการผลิตที่มีขายตามท้องตลาดก็ได้
- รักษารอยไหม้จากการถูกแสงแดดเผา การฉายรังสี และสมานบาดแผล
พืชสมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณในการกระตุ้นให้เซลล์เจริญเติบโต ลดการอักเสบ และสามารถฆ่าเชื้อโรค ทำให้รักษาบาดแผลได้ดี ทั้งจากการถูกแดดเผา การฉายรังสี และสมานแผลที่ถูกของมีคมบาด โดยมีสารโพลียูโรไนด์และโพลีแซคคาไรด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญที่จะช่วยรักษาบาดแผลได้ โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยที่ผิวหนังได้รับความเสียหายจากความร้อนพบว่า การใช้ว่านหางจระเข้ทาแผลช่วยให้แผลหายเร็วกว่าการใช้ยาชนิดอื่นและมีผลทำให้แผลสะอาด รวมทั้งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่เสียหายได้ด้วย โดยการใช้ว่านหางจระเข้ในการรักษาแผลเปิดต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด หากใช้เนื้อวุ้นจากใบสดจะต้องล้างทำความสะอาดให้เหมาะสม หรือถ้าใช้ผลิภัณฑ์ว่านหางจระเข้ที่มีขายทั่วไปควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไว้ใจได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเข้าแผลได้มากขึ้น
- ใช้เป็นเครื่องบำรุงผิว
เนื้อวุ้นว่านหางจระเข้นอกจากใช้ในการรักษาแล้วยังใช้ในการบำรุงได้ด้วย โดยมีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเจลวางขายอยู่มากมายเพื่อความสะดวกในการใช้งาน นอกจากนี้สามารถใช้น้ำหรือเนื้อว่านหางจระเข้ที่เป็นแบบสด ๆ ได้เช่นกัน โดยล้างให้สะอาดแล้วนำมาทาลงบนหน้าทิ้งไว้ 15 – 20 นาที จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหน้าได้เป็นอย่างดี โดยวุ้นว่านหางจระเข้มีน้ำอยู่ปริมาณมากเมื่อทาลงบนผิวแล้วจะช่วยฟื้นฟูเซลล์ที่ขาดน้ำได้อย่างตรงจุด ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องบำรุงผิวแล้วยังช่วยลดสิวและรอยด่างดำได้อีกด้วย และหากใครต้องการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ใบหน้าอยู่เสมอลองหาสเปรย์ว่านหางจระเข้ติดตัวไว้จะช่วยให้สะดวกในการเติมความชื้นระหว่างวันแน่นอน
ประโยชน์ของ ว่านหางจระเข้ ภายในร่างกาย
- ใช้เป็นยาระบาย
ยางของว่านหางจระเข้เป็นสีเหลืองซึ่งได้จากบริเวณผิวนอกของใบกับเนื้อวุ้น โดยต้องตัดบริเวณโคนใบ ซึ่งต้องระวังไม่ให้ยางสีเหลืองนี้โดนผิวหนังเพราะอาจเกิดอาการระคายเคืองได้ โดยน้ำยางใช้เป็นยาถ่ายได้แต่ต้องผ่านกระบวนการเคี่ยวจนแห้งและกลายเป็นสีดำ จึงมีชื่อเรียกว่า “ยาดำ” โดยมีสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น Aloin, Barbaloin และ Chrysophanic acid ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายที่ค่อนข้างแรง ควรใช้ในปริมาณ 1 – 2 เมล็ดถั่วเขียว หรือประมาณ 250 มิลลิกรัม
- รักษาอาการปวดตามข้อ
น้ำและวุ้นว่านหางจระเข้สามารถใช้แก้อาการปวดตามข้อได้ โดยปลอกเปลือกส่วนใบออกให้หมดจนเหลือแต่วุ้น แล้วนำไปแช่เย็นเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น รับประทานครั้งละ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 – 3 ครั้ง จะช่วยให้อาการปวดข้อลดลง ผลการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งบางคนอาจจะเห็นผลเมื่อรับประทานมากกว่า 2 เดือน นอกจากนี้ผลการศึกษาในผู้ป่วยยังไม่มีผลที่ชัดเจน ผู้ที่มีอาการอาจจะลองรับประทานในปริมาณน้อย ๆ ก่อน และถ้าหายจากอาการควรหยุดรับประทาน เพราะยังไม่มีผลการวิจัยที่แน่ชัดมารองรับ
ข้อควรระวังการใช้ Aloe vera
เมื่อพูดถึงประโยชน์แล้วก็ต้องอย่าลืมใส่ใจเรื่องข้อควรระวังของการใช้ว่านหางจระเข้ด้วย เพื่อเป็นการป้องการอาการไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้น โดยถ้าใช้เป็นยาภายในด้วยการรับประทานเป็นยาถ่าย ไม่ควรใช้กับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร ส่วนการใช้ด้วยการทาภายนอกมีรายงานผู้ที่แพ้น้อยกว่า 1% โดยจะมีอาการเป็นผื่นแดง หลังจากทาภายใน 30 นาที ถ้ามีอาการรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดและไม่ควรใช้อีก ซึ่งก่อนใช้ควรทดสอบด้วยการทาที่ท้องแขนก่อนเพื่อให้เราสามารถสังเกตอาการได้ง่าย
ว่านหางจระเข้เป็นพืชที่มีประโยชน์มากมายซึ่งนอกจากตัวอย่างการใช้งานข้างต้นแล้ว ยังมีสรรพคุณในการแก้กระเพาะ ลำไส้อักเสบ แก้ฝี แก้ริดสีดวงทวาร และแก้ปวดศีรษะอีกด้วย ถ้ามีปลูกติดบ้านไว้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าใครไม่สะดวกปลูกไว้ใช้งานอย่าลืมหาซื้อผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้ติดบ้านไว้ เผื่อมีเหตุฉุกเฉินต้องการใช้จะได้หยิบใช้ได้ทันที
ที่มาข้อมูล : rspg , phar.ubu , rama.mahidol
Comments 2