แม้เราจะอยู่ในยุคที่เทคโนโลยี 5G แล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่เคยได้ยิน Gadget ตัวใหม่จากกูเกิลที่มีชื่อว่า Google Chromecast แน่นอน เพราะเป็นอุปกรณ์เสริมที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การรับชมวิดีโอที่เต็มอิ่มยิ่งขึ้น แต่เทคโนโลยีตัวนี้ยังไม่แพร่หลายในไทยมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะ Android Box มีฐานจำนวนผู้ใช้งานไม่น้อยและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครมแคสต์เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น
ทำความรู้จักกับ Chromecast อุปกรณ์เสริมสุดล้ำ
โครมแคสต์ เป็นอุปกรณ์ที่ลักษณะภายนอกเป็นทรงกลม ประกอบด้วยสายเคเบิลสำหรับพอร์ต HDMI 1 เส้น ซึ่งหน้าที่ของโครมแคสต์คือ ทำหน้าที่เชื่อมต่อวิดีโอบนสมาร์ทโฟนของคุณ แสดงภาพไปยังหน้าจอโทรทัศน์ทำให้จากเดิมที่รับชมได้เท่ากับขนาดหน้าจอเพียง 6 – 7 นิ้ว ตามขนาดมือถือ กลายเป็นรับชมภาพได้มากกว่า 40 นิ้ว ซึ่งเท่ากับขนาดของหน้าจอโทรทัศน์เลยทีเดียว
จึงช่วยให้กลุ่มผู้ชมที่มีปัญหาทางด้านสายตา เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ สามารถรับชมวิดีโอในรูปแบบต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานที่ชื่นชอบการรับชมร่วมกับสมาชิกหลายคนอีกด้วย
หากสนใจใช้งานโครมแคสต์และต้องการติดตั้งเป็นครั้งแรกให้เริ่มต้นดาวน์โหลดแอปพลิเคชันชื่อว่า “Google Home” (ใช้งานได้ทั้งระบบ IOS, Android) และดำเนินการต่อไปนี้
- เสียบอุปกรณ์โครมแคสต์ เข้ากับโทรทัศน์ผ่านพอร์ต HDMI
- เปิดบลูทูธบนสมาร์ทโฟน
- เปิดแอปพลิเคชัน Google Home
- กดอนุญาตให้แอปเริ่มต้นค้นหาอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน
- ดำเนินการตามขั้นตอนที่ Google Home แนะนำ
- เสร็จสิ้นการตั้งค่า พร้อมเริ่มต้นใช้งาน
แต่ไม่ใช่ว่า Google Chromecast จะรองรับกับโทรทัศน์ทุกรุ่น เพราะการเชื่อมต่อมีเงื่อนไขสำคัญคือ โทรทัศน์เครื่องนั้น ๆ จำเป็นต้องมีช่องสำหรับเสียบต่อสาย HDMI ถึงจะเริ่มต้นใช้งานได้
นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตที่บ้านของคุณต้องแรงมากพอที่จะส่งสัญญาณภาพจากสมาร์ทโฟนไปยังหน้าจอโทรทัศน์ หากสัญญาณอินเทอร์เน็ตแรงไม่พอจะไม่สามารถแสดงภาพได้เลย จึงแนะนำว่าสมาร์ทโฟนที่ใช้งานโครมแคสต์ควรรองรับ 5G แล้ว หรือยังคงเป็นมือถือรุ่นใหม่อยู่
โดยระหว่างใช้งานโครมแคสต์ต้องเปิดสมาร์ทโฟนตลอดเวลา (แต่สามารถกดพักหน้าจอมือถือได้ วิดีโอที่แสดงบนจอโทรทัศน์ก็ไม่หายไป) และเมื่ออยากเปลี่ยนวิดีโอที่กำลังรับชมให้ใช้สมาร์ทโฟนกดเปลี่ยนรายการคอนเทนต์
ดังนั้นช่วงระยะเวลาเชื่อมต่อโครมแคสต์กับมือถือนี้มีโอกาสที่สมาร์ทโฟนจะร้อนจัด แบตเตอรี่หมดไว จึงควรเช็กให้แน่ใจว่ามีแบตเตอรี่มากเพียงพอก่อนใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตามโครมแคสต์รุ่นหลัง ๆ ได้มีรีโมทควบคุมเป็นอุปกรณ์เสริมแถมมาด้วย จึงช่วยอำนวยความสะดวกได้พอสมควร แต่ขนาดรีโมทก็ถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับรีโมททีวี ทำให้ผู้ใช้งานมักหาไม่เจอ หลายคนจึงตัดปัญหาด้วยการควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนเหมือนเดิม
แนะนำ โครมแคสต์ 5 Generations ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- โครมแคสต์ 1st Generation เปิดตัวในปี 2013 หน้าตาเหมือนกับแฟลชไดร์ฟทั่วไป และก็เป็นรุ่นเดียวด้วยที่รูปร่างหน้าตาเป็นเช่นนี้ ซึ่งแรงบันดาลใจของดีไซน์โครมแคสต์รุ่นที่ 1 มาจากช่วงเวลานั้นแอนดรอยด์ทีวีแบบพกพา (Android TV Stick) ได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้รูปทรงของโครมแคสต์ 1St Gen เป็นเหมือนกับ Android TV Stick ทั้งนี้สเปกโดยรวม คือ มีพื้นที่ความจุ 2 GB, RAM ขนาด 512 MB และยังรองรับการรับชมวิดีโอความละเอียด 1080 p ได้เป็นครั้งแรกด้วย
- โครมแคสต์ 2nd Generation หลังจาก 2 ปี นับแต่โครมแคสต์รุ่นแรกเปิดตัว โครมแคสต์รุ่นที่ 2 ก็ตามมาติด ๆ ในปี 2015 โดย Google Chromecast รุ่นนี้ได้รับการปรับปรุงให้มีขนาดเบา พกพาสะดวกมากขึ้น เพราะโครมแคสต์รุ่นแรกมีน้ำหนักมากเกินไป จนทำให้พอร์ต HDMI ของโทรทัศน์เสียหาย ที่สำคัญโครมแคสต์รุ่นนี้รองรับระบบ WIFI เป็นครั้งแรก แต่ด้านสเปกลดลงบางส่วน คือ ความจุเหลือเพียง 256 MB และใช้ RAM 512 MB ขนาดเท่ากับ 1st Gen
- โครมแคสต์ Ultra เปิดตัวครั้งแรกในปี 2016 ซึ่งได้รับการอัปเกรดจากโครมแคสต์ 2nd Generation อย่างมาก คือ รองรับการชมวิดีโอความละเอียดถึง 4K HDR และสามารถใช้งานแอปพลิเคชันบนโครมแคสต์เป็นครั้งแรก ส่วนด้านสเปกก็มีการพัฒนาเช่นกัน นั่นคือ เพิ่มขนาด RAM เป็น 1 GB แต่แอปพลิเคชันหลัก ๆ ที่รับชมได้มีจำนวนไม่มาก ก่อนที่จะมีการเพิ่มแอปอื่น ๆ ตามมาภายหลัง
- โครมแคสต์ 3rd Generation โครมแคสต์รุ่นที่ 3 เปิดตัวในปี 2018 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าโครมแคสต์รุ่นก่อนหน้าเล็กน้อย ส่วนระบบประมวลผลเร็วกว่ารุ่นอื่น ๆ พอสมควร โดยสามารถรับชมวิดีโอที่ความคมชัด 1080 p 60 fps และนำเทคโนโลยี Dolby Digital Plus มาประยุกต์การใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน Google Home ได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย
- Chromecast with Google TV เป็นโครมแคสต์รุ่นล่าสุดที่เราเห็นในปัจจุบัน หากพิจารณาด้านสเปกพบว่ามีความจุ 8 GB + GPUรูปแบบ ARM Mali -G31 ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ใช้ระบบปฏิบัติการ Android 10 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่โครมแคสต์มีระบบ OS ของตนเอง เมื่อลองใช้งานจะพบเลยว่า UI ของโครมแคสต์รุ่นนี้คล้ายกับ Google TV แทบจะ 100% ทำให้รับชมคอนเทนต์ได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น HBO GO, Disney+, YouTube, Prime Video, Netflix ฯลฯ และแถมรีโมททีวีมาให้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามแม้จะเป็น Chromecast รุ่นล่าสุด แต่ต้องบอกเลยว่าแอปพลิเคชันยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้เหมือน Android Box ทำให้มีผู้ใช้งานบางส่วนเลือกใช้Android Boxซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้งานชื่นชอบความสะดวกสบายหรือต้องการรับชมคอนเทนต์อย่างไร้ขีดจำกัด
ที่มาข้อมูล: TCL , support-google , mercular