แม้วันไหว้พระจันทร์จะไม่ได้เป็นวันหยุด แต่ถึงอย่างนั้นคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญไม่แพ้วันปีใหม่จีนหรือวันตรุษจีน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การขอพรจากเทพเจ้าบนพระจันทร์ตามความเชื่อโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นพันปีของชนชาติจีน อย่างไรก็ตามการขอพรไม่ใช่ไฮไลท์เดียว แต่เพราะชาวจีนถือว่าวันไหว้พระจันทร์เป็น “วันแห่งการอยู่พร้อมหน้าของครอบครัว” ดังนั้นไฮไลท์ที่สำคัญที่สุดหนีไม่พ้นการได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวและแบ่งกันรับประทานขนมแสนอร่อยที่มีชื่อว่า ขนมไหว้พระจันทร์ ด้วยกันหลังจากนำขึ้นโต๊ะไหว้เรียบร้อยแล้ว
ส่องประวัติ ขนมไหว้พระจันทร์
เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่สงสัยว่าทำไมวันไหว้พระจันทร์ต้องมีขนมไหว้พระจันทร์ขึ้นโต๊ะเซ่นไหว้เท่านั้น ทั้งที่มีขนมมงคลให้เลือกมากมาย เหตุผลเพราะขนมชนิดนี้มีทั้งตำนานและเรื่องเล่าอยู่คู่กับวันไหว้พระจันทร์มานาน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นขนมชนิดนี้บนโต๊ะเซ่นไหว้ทุกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีการการันตีว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง ส่วนจะเป็นตำนานไหนบ้างนั้น มาดูกันเลย
- ตำนานนางฟ้าฉางเอ๋อ
เริ่มต้นกันด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับเทพปกรณัมจีน โดยมีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งเกิดพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน10 ดวง ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อน พระราชาโฮ่วอี้จึงได้ขึ้นไปบนยอดเขาและยิงพระอาทิตย์ดับไป 9 ดวง เพื่อให้เหลือ 1 ดวง พระราชาโฮ่วอี้ได้รับการสรรเสริญเป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังได้รับยาอายุวัฒนะจากผู้วิเศษด้วย ด้วยความอิจฉาเฝิงเหมิงลูกศิษย์ที่มาขอเรียนธนูจึงฉวยโอกาสตอนที่พระราชาโฮ่วอี้ไม่อยู่ชิงยาอายุวัฒนะ แต่ “ฉางเอ๋อ” พระชายาของโฮ่วอี้ไม่ยกให้และกินมันเข้าไปเอง นางจึงกลายไปเป็นเทพธิดาอยู่บนดวงจันทร์ หลังจากพระราชาโฮ่วอี้กลับมาจึงสังหารเฝิงเหมิงตาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องระทมทุกข์คิดถึงฉางเอ๋อ กระทั่งวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันที่พระจันทร์สวยงามที่สุด พระราชาโฮ่วอี้จึงให้จัดเครื่องเซ่นบูชาเพื่อระลึกถึงพระชายา
- ตำนานความฝันของฮ่องเต้หมิงหวง
เรื่องนี้มีบันทึกในพงศาวดารจีนของโจวหลี่ ในช่วงปี 475 – 221 ก่อนคริสต์ศักราช โดยพิธีการเซ่นไหว้เกิดขึ้นจากความฝันของฮ่องเต้หมิงหวงที่ฝันในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ฝันว่าไปประพาสดวงจันทร์ เห็นเทพธิดามาร่ายรำอยู่ตรงหน้าและทรงเกษมสำราญมาก หลังจากตื่นบรรทมจึงได้รับสั่งให้นางสนมแต่งตัวเป็นเทพธิดามาร่ายรำเหมือนในความฝัน จากนั้นจึงเกิดเป็นประเพณีวันไหว้พระจันทร์ขึ้น
- ตำนานแบ่งขนมให้ดวงจันทร์
สำหรับตำนานแบ่งขนมให้ดวงจันทร์นี้เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าถังเกาจู่ แม่ทัพนายหนึ่งชื่อหลี่กลับมาจากสงครามและเข้าเฝ้ากษัตริย์ ซึ่งตรงกับคืนที่พระจันทร์เต็มดวง ในขณะเดียวกันกับที่พ่อค้าชาวทิเบตนำขนมปิ่งที่ด้านนอกมีลวดลายสวยงามมาถวาย พระเจ้าถังเกาจู่ทรงเกษมสำราญจึงชี้ไปที่ดวงจันทร์และชวนกินขนมปิ่งที่ได้รับมา จากนั้นพระองค์จึงพระราชทานขนมให้กับขุนนาง หลังจากนั้นจึงเกิดเป็นประเพณีไหว้พระจันทร์ในเดือนแปดขึ้นมา
- ตำนานขนมกู้ชาติ
เป็นตำนานที่เล่าถึงช่วงที่ชาวฮั่นตกเป็นเมืองขึ้นของมองโกล เพื่อควบคุมมองโกลได้ส่งทหารไปประจำอยู่บ้านละ 1 นาย เมื่อถูกกดขี่ข่มเหงจนทนไม่ไหว ท้าวหลิวปั๋วเวิน ผู้นำชาวฮั่นจึงได้รวบรวมผู้คนเพื่อต่อสู้ โดยตั้งใจก่อการณ์ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
ทางผู้นำได้ออกอุบายนำจดหมายใส่ในขนมที่มีเปลือกบางไส้หนาเพื่อแจ้งแก่ชาวจีนทุกบ้านว่าคืนนี้ให้คว้าอาวุธออกมาต่อสู้ขับไล่ชาวมองโกล ซึ่งในคืนนั้นชาวบ้านก็สามารถต่อสู้ขับไล่มองโกลได้สำเร็จและเกิดเป็นประเพณีไหว้พระจันทร์ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 สืบต่อมา
ความหมายของไส้ขนมไหว้พระจันทร์
ปกติแล้ว ขนมไหว้พระจันทร์ แบบดั้งเดิมจะเป็นไส้ธัญพืชและผลไม้ แต่ปัจจุบันเพื่อเพิ่มความหลากหลายจึงมีการนำเอาวัตถุดิบใหม่ ๆ จากตะวันตกมารังสรรค์จนเกิดเป็นไส้ใหม่ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไส้ช็อกโกแลต ไส้ชาเขียว ไส้สตรอว์เบอร์รี ไส้ทุเรียน ไส้คัสตาร์ด ไส้ไข่เค็ม ไส้หมูแดง ไส้หมูหยอง
แต่ถ้านำขึ้นโต๊ะเซ่นไหว้ในวันไหว้พระจันทร์ส่วนใหญ่นิยมใช้ไส้ดั่งเดิม เพราะแฝงไปด้วยความหมายดี ๆ ที่ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับตัวเองและครอบครัว ซึ่งแต่ละไส้จะมีความหมายอย่างไรบ้างนั้น เรามีคำตอบมาฝาก
- ไส้เม็ดบัว หมายถึง การมีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ความสุขสบาย ความอ่อนน้อม และอายุที่ยืนยาว
- ไส้โหงวยิ้งหรือไส้ธัญพืช 5 ชนิด โดยการใช้ไส้นั้นจะขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของผู้ทำ แต่ต้องครบ 5 ไส้ ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบราคาแพงและความหมายดี อย่างวอลนัท เมล็ดแตงโม เม็ดมะม่วงหิมพานต์ งา รากบัว ผิวส้ม ใบมะกรูด เพื่อสื่อถึงความมั่นคั่งและโชคลาภ
- ไส้งาดำ หมายถึง อำนาจ วาสนา และความสง่า
- ไส้เกาลัด หมายถึง ลูกชาย ซึ่งในอดีตเป็นสิ่งที่ครอบครัวรักมากที่สุด
- ไส้ถั่วแดง หมายถึง ความกล้าหาญ
นอกจาก ขนมไหว้พระจันทร์แล้ว ต้องใช้ขนมอะไรบ้าง
การตั้งเครื่องเซ่นไหว้ในคืนวันไหว้พระจันทร์ นอกจากขนมไหว้พระจันทร์ยังใช้ขนมอื่น ๆ อีก 3 – 4 ชนิด ขึ้นอยู่กับความสะดวก แต่ต้องเท่ากับผลไม้และอาหารเจ สำหรับขนมของจีนที่นิยมนำขึ้นโต๊ะเซ่นไหว้ในเทศกาลต่าง ๆ ได้แก่
- ขนมเปี้ยะหรือผั่วเปี้ย เป็นขนมแห่งความเป็นสิริมงคล ตัวแทนแห่งความรัก สามัคคี และกตัญญู
- ขนมโก๋ หมายถึง ความร่ำรวย อีกทั้งยังเป็นตัวแทนสื่อถึงก้อนเมฆด้วย
- ขนมสาคูแดงหรือขนมอี้ เป็นขนมสีแดงที่สื่อถึงความมงคล
- ขนมถ้วยฟูและซาลาเปา หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู
แม้ว่ายังพิสูจน์ไม่ได้ว่าตำนานวันไหว้พระจันทร์และ ขนมไหว้พระจันทร์ เรื่องไหนเป็นเรื่องจริงหรือเป็นตำนานที่เล่าขาน แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ต้องยอมรับว่าขนมไหว้พระจันทร์คือขนมแสนอร่อยที่อร่อยได้ทุกเทศกาล
ที่มาข้อมูล: Trueid , Trueid , Komchadluek , Tnnthailand , Kapook , Thairath , Hungryhub , Eveleighmarket