รู้หรือไม่ว่า ตอนที่คุณแม่คลอดเราออกมา เราไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งเดียวของชีวิตใหม่ แต่ชีวิตของเราได้เกิดมาพร้อมกับจุลินทรีย์อีกนับร้อยล้านเซลล์ แม้กระทั่งน้ำนมแม่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเรามาตั้งแต่เกิดก็เต็มไปด้วยเซลล์ของจุลินทรีย์ ถ้าจะบอกว่ามนุษย์กับจุลินทรีย์ต่างโตมาด้วยกันก็คงไม่ผิดนัก เพราะจุลินทรีย์ทั้งหลายจะใช้ชีวิตเวียนว่ายตายเกิดอยู่ภายในอวัยวะของร่างกายแทบทุกส่วน จะเรียกว่าเป็นระบบนิเวศของจุลินทรีย์เลยก็ว่าได้ ระบบนิเวศนี้มีชื่อว่าไมโครไบโอต้า และจุลินทรีย์ที่เราจะพาไปรู้จักก็คือ โปรไบโอติค
ไมโครไบโอต้าและ โปรไบโอติค จุลินทรีย์ตัวดีที่ช่วยรักษาสมดุลร่างกาย
ในระบบไมโครไบโอต้าประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ราวกับเป็นแหล่งรวมตัวของสิ่งมีชีวิตล่องหนกันเลยทีเดียว ซึ่งในบรรดาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีทั้งจุลินทรีย์ที่ดีและไม่ดี หนึ่งในจุลินทรีย์ชนิดดีที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือโพรไบโอติคเพราะเป็นตัวท็อปแห่งจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่หลักในการดูแลระบบการย่อยอาหารของคนเรา และยังเป็นตัวช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศไมโครไบโอต้าโดยรวมทั้งหมด เมื่อไมโครไบโอต้ามีความสมดุลกลไกการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายของเราก็จะสมดุลตามไปด้วย
โปรไบโอติค กับระบบย่อยอาหารสำคัญขนาดไหน
ความสำคัญของระบบย่อยอาหารเป็นกลไกที่สำคัญในการแปรรูปสารอาหารต่าง ๆ ไปเป็นแหล่งพลังงานเพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงให้กับอวัยวะและกล้ามเนื้อทุกส่วน ร่างกายจะเติบโตได้ดีก็ต้องอาศัยกลไกนี้ และเมื่อมีเซลล์ใดเซลล์หนึ่งในร่างกายสึกหรอไปก็สามารถที่จะใช้แหล่งพลังงานในการซ่อมแซมเซลล์นั้นให้กลับมาคงสภาพเดิม ระบบย่อยอาหารที่ดีจะช่วยให้คนเรามีแหล่งพลังงานอย่างเพียงพอตลอดเวลา และตัวช่วยที่ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีก็ไม่ใช่ใครที่ไหน จุลินทรีย์โพรไบโอติคในตัวเรานั่นเอง ความสามารถพิเศษของโปรไบโอติคก็คือ
- ช่วยรักษาสมดุลของระบบย่อยอาหาร
- กระตุ้นการสร้างเอนไซม์ไว้ย่อยอาหาร
- สร้างเกราะป้องกันเยื่อบุลำไส้ไม่ให้เชื้อโรคมาเกาะจับ
- ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ลักลอบเข้ามาตอนร่างกายเผลอ
- ป้องกันอาการท้องไส้ปั่นป่วน
จุลินทรีย์ยอดนักสู้โพรไบโอติค เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกายของเรา
ไม่ใช่แค่การดูแลระบบทางเดินอาหารเท่านั้น แต่การมีโพรไบโอติคในร่างกายอย่างเพียงพอยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างยอดเยี่ยม มีงานวิจัยพบว่า จุลินทรีย์โปรไบโอติคที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารของเรานั้นมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในปอดและการติดเชื้อในอวัยวะสำคัญส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพราะจุลินทรีย์ชนิดนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารโพลีเปปไทด์ ซึ่งเป็นสารคัดหลั่งที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน พูดง่าย ๆ ก็คือร่างกายเราจะแข็งแรงขึ้นพร้อมรับมือกับเชื้อโรคจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย หรือต่อให้ได้รับเชื้อมาแล้วก็จะไม่แพร่กระจายต่อจากอวัยวะหนึ่งไปอีกอวัยวะหนึ่งจึงช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการติดเชื้อในกระแสเลือด บรรเทาอาการเรื้อรัง และการอักเสบ ช่วยให้หายจากอาการของโรคและร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้โปรไบโอติคยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพโดยรวม ช่วยให้ระบบการทำงานแทบทุกส่วนของร่างกายทำงานประสานกันอย่างสมดุล โปรไบโอติคจึงได้ชื่อว่าเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ
เพราะสุขภาพดีจึงดูอ่อนกว่าวัย ขาดโพรไบโอติคเมื่อไร ระวังจะสูงวัยเกินอายุ
การที่ร่างกายคนเราเกิดภาวะอักเสบเพราะเซลล์ถูกเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสทำร้ายโดยไม่มีกลไกต่อสู้ที่ดีพอหรือเมื่อร่างกายขาดโปรไบโอติค จะทำให้กลไกการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และอาจได้รับฉายาว่าเป็นผู้สูงวัยเกินอายุ เพราะเมื่อร่างกายของเราขาดโพรไบโอติคจะไม่มีตัวช่วยในการต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดร้าย ๆ และทำให้ร่างกายเสียสมดุล เกิดการสะสมสารพิษจากเชื้อโรค ภาวะอักเสบเรื้อรังจะส่งผลให้สุขภาพภายในไม่แข็งแรงและสะท้อนออกมาให้เห็นถึงผิวพรรณที่หมองคล้ำ แต่เมื่อใดที่โปรไบโอติคในร่างกายของเราได้รับการเสริมทัพอย่างเพียงพอ พร้อมลุย สุขภาพที่ดีย่อมกลับคืนมา
โปรไบโอติคหายไปได้อย่างไรเมื่อจุลินทรีย์ในร่างกายมีเป็นล้าน ๆ
แม้ว่าปริมาณจุลินทรีย์ในร่างกายของคนเราตามธรรมชาติจะอลังการดาวล้านดวง แต่ในบางสถานการณ์โปรไบโอติคก็สลายตัวได้เหมือนกันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตัวเรานั่นเอง เช่น การรับประทานอาหารไม่มีคุณภาพ ไขมันสูง รับประทานแต่ของหวาน อาหารแปรรูป รวมถึงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด ๆ การสะสมพลังงานลบในจิตใจมาก ๆ เหล่านี้ทำให้โปรไบโอติคในร่างกายลดลง
เมื่อโปรไบโอติคดูแลร่างกายของเรา เราก็ต้องดูแลโปรไบโอติคไว้ให้ดีตามตำราน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า อย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องลำบาก นอกจากลดพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ควรเลือกรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งจุลินทรีย์โปรไบโอติค ซึ่งได้แก่ ชีส โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ชาหมักคอมบูชะ อาหารประเภทหมักดอง เช่น กิมจิ แตงกวาดอง ถั่วหมัก หรือนัตโตะ แต่อาหารเหล่านี้เวลารับประทานต้องระวังอย่าให้มากเกินไป เดี๋ยวจะพาลท้องเสียเอาได้ อีกวิธีในการเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดนี้ก็คือการรับประทานอาหารเสริมเพื่อเติมพลังกองทัพโพรไบโอติคให้แข็งแกร่ง โดยสามารถเข้าไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการได้ที่ลาซาด้าแล้วหมั่นเติมจุลินทรีย์เพื่อสุขภาพกันไว้นะทุกคน
ที่มาข้อมูล : pharmacy , hellokhunmor