หมวกกันน็อค หรือหมวกนิรภัยถือเป็นอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลสำหรับการขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์เมื่อต้องขับขี่ยานพาหนะดังกล่าวไปตามทางเดินรถ เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุโดยเฉพาะศีรษะ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญของมนุษย์เพราะถ้าหากได้รับอันตรายอย่างรุนแรงอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัยจึงจำเป็นจะต้องเลือกหมวกสำหรับใช้งานให้เหมาะสม
ประเภทของ หมวกกันน็อค มีด้วยกัน 3 ประเภท
- หมวกแบบครึ่งใบหรือครึ่งศีรษะ รูปแบบของหมวกจะเป็นเหมือนครึ่งวงกลม มาพร้อมสายรัดคาง บางรุ่นมีฝาครอบกันลมด้านหน้าให้ด้วย ถือเป็นหมวกรุ่นแรก ๆ ที่นำมาใช้งาน
- หมวกแบบเต็มใบหรือเต็มศีรษะ เป็นหมวกที่ได้รับการพัฒนามาจากหมวกแบบครึ่งใบ เพราะแบบแรกไม่สามารถตอบโจทย์ในการป้องกัน เมื่อต้องลื่นไถลทำให้ได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าและด้านข้างได้ จึงออกแบบให้ตัวหมวกยื่นต่ำลงมาปิดทั้งด้านข้าง ด้านหลังและติดตั้งกระจกนิรภัยในด้านหน้าให้มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นสูง พร้อมสายรัดคางเพื่อให้กระชับและหลุดได้ยาก
- หมวกแบบเต็มหน้าหรือปกปิดทุกส่วนยกเว้นบริเวณสายตา เหมือนกับหมวกนักแข่งรถที่สามารถป้องกันอันตรายทั้งใบหน้าและคางได้ มาพร้อมกระจกนิรภัยบริเวณดวงตาและสายรัดคาง มีความปลอดภัยมากกว่า 2 แบบแรกที่กล่าวมาข้างต้น
วิธีเลือก หมวกกันน็อค ให้เหมาะสม
เชื่อว่ามากกว่า 90% ของคนไทย หากไม่มีกฎหมายบังคับให้สวมใส่หมวกเพื่อความปลอดภัย ก็ยากที่จะตระหนักถึงความปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น เพราะแม้จะมีกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องสวมใส่หมวกทุกครั้งที่ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ก็ยังมีอีกหลายคนไม่ยอมสวมใส่ เหตุเพราะใกล้บ้าน เดินทางไม่ไกลและที่สำคัญวิสัยทัศน์ในการมองเห็นลดลง ส่งผลให้การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ โดยวันนี้จะมาแนะนำวิธีเลือกหมวกที่เหมาะสมให้ทุกคนได้ไปพิจารณาซื้อเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและคนในครอบครัว
- อย่าเน้นของถูก
ด้วยวัสดุอุปกรณ์ส่วนใหญ่ในการผลิตหมวกนั้น จะต้องได้รับการรับรองที่เป็นมาตรฐาน ผ่านการทดสอบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงจะสามารถนำมาจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ ดังนั้นหากต้องซื้อความปลอดภัยให้ตนเอง ก็อย่าเลือกหมวกเพียงเพราะมีราคาค่อนข้างถูก แต่ให้พิจารณาจากตราสัญลักษณ์มาตรฐาน มอก. เป็นอย่างน้อย
- ควรเลือกหมวกแบบเต็มใบหรือเต็มใบหน้า
เพราะหมวกแบบครึ่งใบแทบจะไม่สามารถป้องกันอันตรายใด ๆ ได้เลย ยกเว้นใช้ในการขับขี่เพื่อชมธรรมชาติ เช่น การขับ ATV หรือบนเส้นทางที่ไม่มีรถอื่น ๆ มากระทบกระทั่งให้เกิดอันตราย ในขณะที่หมวกแบบเต็มใบและเต็มใบหน้านั้นสามารถปกป้องใบหน้าและศีรษะได้มากกว่านั่นเอง
- ควรเลือกหมวกที่มีสีสันมากกว่าสีดำ
เพราะจะช่วยให้ผู้อื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ยิ่งมีสีสะท้อนแสงด้วยยิ่งดี โดยเฉพาะเวลากลางคืนและเกิดประสบอุบัติเหตุจนล้มลงไปนอนบนพื้นถนน รถคันอื่นจะได้มองเห็นและไม่เหยียบหรือชนซ้ำได้
- ควรทดลองสวมหมวกก่อนซื้อ
หากเป็นไปได้ในการไปซื้อหมวกทุกครั้ง ควรทดลองสวมหมวกทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้หมวกที่มีความกระชับพอดี ไม่ใหญ่เกินไปและไม่บีบศีรษะแน่นจนเกินไป เพราะหากเลือกที่ไม่กระชับพอดีกับศีรษะก็จะทำให้ปวดหัว หน้ามืดหรือรู้สึกอึดอัดระหว่างการขับขี่ได้ หากเป็นการสั่งซื้อหมวกผ่านร้านค้าออนไลน์ ควรวัดรอบศีรษะของตนเองก่อนการสั่งซื้อทุกครั้งโดยวัดจากช่วงหูด้านข้างขึ้นไป 3 เซนติเมตรผ่านเหนือคิ้วประมาณ 2.5 เซนติเมตร เพื่อมั่นใจว่าจะได้หมวกขนาดที่พอดีกับศีรษะ โดยมีวิธีเทียบขนาดดังนี้
- ขนาดรอบศีรษะ 55-56 เซนติเมตร ควรซื้อหมวก Size S
- ขนาดรอบศีรษะ 57-58 เซนติเมตร ควรซื้อหมวก Size M
- ขนาดรอบศีรษะ 59-60 เซนติเมตร ควรซื้อหมวก Size L
- ขนาดรอบศีรษะ 61-62 เซนติเมตร ควรซื้อหมวก Size XL
- ขนาดรอบศีรษะ 63-64 เซนติเมตร ควรซื้อหมวก Size 2XL
- ควรเลือกหมวกที่มีช่องระบายอากาศ
ในการขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องออกไปผจญกับความร้อน แสงแดดและมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษ จำเป็นที่ภายในหมวกจะต้องมีอากาศถ่ายเทที่ดี เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่ง ไม่อุดอู้ โดยเฉพาะหมวกชนิดเต็มหน้า เพราะหากไม่ได้ขับขี่ให้ลมปะทะก็แทบจะไม่มีอากาศให้หายใจเลย
การดูแลรักษาและข้อควรระวังในการใช้งาน
ปกติหมวกจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3- 5 ปี จากนั้นวัสดุภายในจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพ เจ้าของหมวกจะต้องเปลี่ยนหมวกใบใหม่ทันที ห้ามเสียดาย โดยเฉพาะหากหมวกใบนั้นเคยผ่านการกระแทกอย่างรุนแรงมากแล้ว เนื่องจากประสิทธิภาพการป้องกันของหมวกจะลดลงตามอายุการใช้งาน ในการขับขี่รถจักรยานยนต์ควรสวมใส่หมวกทุกครั้ง ห้ามยืมหมวกของคนอื่นมาใส่ เพราะนอกจากจะไม่พอดีแล้ว อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับขี่ได้ ด้วยหมวกที่หลวมก็จะตกลงมาปิดกั้นการมองเห็น เสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
การดูแลรักษาควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดภายนอก ภายในให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดให้แห้งสนิทก่อนเช็ดทำความสะอาด จากนั้นค่อยนำไปผึ่งแดด
ไม่ว่าคุณจะขับขี่ด้วยความเร็วที่ช้า หรือขับขี่ในระยะทางใกล้ ๆ ภายในหมู่บ้านหรือแค่ปากซอย อย่าลืมที่จะสวมใส่ หมวกกันน็อค ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและยังเป็นการสร้างนิสัยที่ดีในการขับขี่ด้วย ดังนั้นในการเลือกซื้ออย่าลืมเลือกหมวกจักรยานยนต์ที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานการผลิตจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือหรือใบรับรองว่าผ่านการทดสอบ เพราะอย่าลืมว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ แม้คุณจะไม่ประมาท แต่คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคนอื่นจะไม่ประมาทด้วยหรือไม่
ที่มาข้อมูล: yourhelmetshop , motofiixthailand , wemall , grandprix
Comments 1