กล้วยเป็นผลไม้พื้นบ้านที่รับประทานง่าย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย มีสารอาหาร คุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณมากมาย ทุกส่วนของ ต้นกล้วย ทั้งลำต้น ใบ ดอก ผล เหง้า ล้วนมีประโยชน์ทำให้ชาวสวนนิยมปลูกเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในวันนี้เรามาเจาะลึกเรื่อง “ปลูกกล้วย” ได้ผลผลิตดี ๆ กันดีกว่า
วิธีปลูก ต้นกล้วย และขยายพันธุ์แบบมืออาชีพ
วิธีปลูกกล้วยและขยายพันธุ์ ทำอย่างไรบ้าง สิ่งแรกคือ เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นก่อนลงมือปลูกกล้วย ได้แก่ จอบและเสียมสำหรับขุดเตรียมดินและขุดหน่อกล้วย ดินร่วน เคียว มีดพร้า และกรรไกรสำหรับใช้ตัดแต่งใบและราก
แนะนำให้เริ่มปลูกกล้วยในช่วงหน้าฝน กล้วยชอบดินร่วนระบายน้ำดี ถ้ามีดินเหนียวควรผสมปุ๋ยคอกช่วยให้ดินโปร่งขึ้นและยกร่องช่วยระบายน้ำ ด้วยต้นกล้วยชอบแสงแดดและอากาศร้อนชื้น การขยายพันธุ์ด้วยวิธีแยกหน่อนั้นจะง่ายและสะดวกที่สุด ใครจะใช้วิธีเพาะเมล็ดหรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็แล้วแต่ความสะดวก
ขั้นตอนการปลูก ต้นกล้วย เริ่มจาก
- ขุดหลุมปลูก กว้าง ยาว และลึกด้านละ 50 ซม. เว้นระยะปลูกอย่าให้ใกล้กันมากเกินไป แต่ละหลุมห่างกัน 2-4 เมตร เนื่องจากใบกล้วยค่อนข้างใหญ่อาจซ้อนกันจนดูแลลำบากและได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ
- หลังจากขุดหลุมแล้ว ทิ้งดินและหลุมตากแดดไว้ 1 สัปดาห์ ปล่อยให้แสงแดดแผดเผาช่วยกำจัดเชื้อโรคและศัตรูพืชในดิน แล้วค่อยใส่กลับลงไปในหลุม
- ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับดินที่ขุดตากไว้ นำดินผสมมารองก้นหลุม 20 ซม.
- เลือกหน่อกล้วยที่สมบูรณ์ สังเกตรอยแผลของหน่อที่ตัด แล้วปลูกกล้วยให้ด้านรอยแผลหันไปทางรั้ว ธรรมชาติของกล้วยจะออกเครือฝั่งตรงข้ามกับรอยแผล เป็นการตัดปัญหากล้วยออกเครือยื่นไปบ้านคนอื่น
- วางหน่อกล้วยลงไปกลางหลุมให้ยอดหน่อสูงกว่าระดับหน้าดิน 10-20 ซม. เอาดินกลบให้พูนโคก กดให้แน่นเป็นเนินเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำขัง จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม
- หลังปลูก ต้นกล้วย 1-2 สัปดาห์จะเริ่มผลิใบใหม่ รดน้ำสม่ำเสมอ เมื่อกล้วยออกเครือจะออกจากทางเดียวกัน ช่วยให้เก็บผลผลิตง่าย โดยระยะเวลาให้ผลแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ที่ปลูก จะเริ่มต้นที่ประมาณ 5-6 เดือน
เทคนิคชาวสวน ปลูกต้นกล้วยให้ได้ผลผลิตดี
กล้วยปลูกกลางแจ้ง ทนแดดทนแล้งได้ดี แนะนำให้รดน้ำทุกวันและไม่ควรปล่อยให้ดินแฉะหรือมีน้ำขัง สำหรับการใส่ปุ๋ย เริ่มแรกควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนก่อน จากนั้นค่อยใส่ปุ๋ยยูเรียเดือนละครั้งเมื่อกล้วยออกเครือ หากมีเครือใหญ่ควรทำที่ค้ำยันป้องกันต้นหักหรือล้ม บริเวณโคนต้นควรตัดหน่อให้เลือก 1-2 หน่อเท่านั้น ตัดใบกล้วยออกให้เหลือน้อยเพื่อไม่ให้แย่งอาหารจากต้นแม่และไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคด้วย ต้องคอยดูแลใส่ใจโรคต่าง ๆ เช่น โรคใบจุด โรคตายพรายหรือโรคเหี่ยวที่ระบาดในกล้วย รวมทั้งแมลงอันตรายอย่างด้วงงวง ด้วงเต่าแดง หนอนปลอก หนอนกระทู้ และหนอนม้วนใบ
เทคนิคดูแลกล้วยให้ได้คุณภาพ
ภายหลังปลูกกล้วยแล้ว อย่าปล่อยปละละเลย ควรดูแลบำรุงและใส่ปุ๋ยให้ได้คุณภาพอย่างครบวงจร ดังนี้
- ระวังอย่าให้มีน้ำขังเพราะรากจะเน่า หาเศษฟางและใบไม้แห้งคลุมโคนต้นไว้
- ช่วงปลูกใหม่รดน้ำวันเว้นวัน เมื่อกล้วยตั้งตัวได้แล้ว รดน้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
- หมั่นถางหญ้ารอบโคนต้น ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้บ้าง ใช้เคียวริดก้านใบแห้งทิ้งไปเพื่อให้โคนต้นโปร่ง
- หลังปลูก 10-11 เดือน ต้นกล้วยจะแทงช่อดอก ใช้ไม้ไผ่สองลำมัดเป็นรูปกากบาทแล้วมัดเชือกให้แน่น พยุงน้ำหนักเครือกล้วยไม่ให้ล้ม ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยช่วยบำรุงผลผลิตให้ดีขึ้น
- หลังต้นกล้วยติดผลประมาณ 90-100 วัน ผลกลมแสดงว่าแก่เต็มที่พร้อมตัดมาบริโภค ควรตัดลำต้นเก่าออก นำมาสับและเทลงไปในดินเป็นปุ๋ยบำรุงต่อไป
ประโยชน์ของต้นกล้วย ตั้งแต่รากจนถึงผล
กล้วยเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย โดยเฉพาะธาตุเหล็กช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบินในเลือด และโพแทสเซียมช่วยลดความดันโลหิตได้ นับว่าต้นกล้วยนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนนับตั้งแต่ผลจนถึงราก ทำประโยชน์อะไรได้บ้างนั้นเรามาดูกัน
- ลำต้น ใช้เป็นอาหารสัตว์
- ใบ ใช้ห่อของ ทำกระทง และทำภาชนะชั่วคราว
- กาบหรือลำต้น ใช้ทำกระดาษและเชือกมัด
- หัวปลี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงน้ำนม บำรุงโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด แก้โรคลำไส้และโลหิตจาง แก้ท้องเดิน ท้องเสีย
- ใบกล้วย ใช้ต้มอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน หรือนำไปปิ้งใช้ปิดแผลไฟไหม้
- รากกล้วย ต้มดื่มแก้ร้อนใน แก้ไข้ ขับน้ำเหลือง แก้ท้องเสีย ช่วยให้ปัสสาวะคล่องและแก้ขัดเบา แก้บิด แก้ผื่นคัน
- ลำต้น ใบ และยางจากใบ ใช้ห้ามเลือด สมานแผล แก้โรคไส้เลื่อน
- ยางกล้วย ช่วยสมานแผล ห้ามเลือด
- น้ำจากลำต้น ใช้รักษาโรคหนองใน
- ใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ นำมาประคบรักษาผิวหนังที่มีอาการอักเสบและพุพองได้
- ผลกล้วยดิบ ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องเสีย แก้โรคบิด อาหารไม่ย่อย รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาแผลเน่าเปื่อย แผลติดเชื้อ แผลเรื้อรัง แก้ริดสีดวง โดยหั่นทั้งเปลือกเป็นแว่น ๆ ตากแห้ง แล้วบดเป็นผง ปั้นเป็นเม็ด หรือใช้ผงชงน้ำร้อนดื่ม
- ผลสุก ใช้เป็นยาระบาย ช่วยขับน้ำนม
- เปลือกกล้วย แก้ริดสีดวง
- กล้วยน้ำว้าดิบ มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเดิน แก้โรคกระเพาะ และอาหารไม่ย่อย
สรรพคุณมากมายของ ต้นกล้วย นอกเหนือจากเป็นได้ทั้งอาหารและมีสรรพคุณทางยาแล้ว ยังเป็นวัตถุดิบที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อย่างเช่น กาบหรือเปลือกต้นกล้วยเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตกระเป๋า หมวก ปกสมุด เคสโทรศัพท์ วอลล์เปเปอร์ แผ่นปูโต๊ะ และสินค้าอื่น ๆ ส่วนใยกล้วยนำมาอัดเป็นเยื่อกระดาษแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทแจกัน โต๊ะ เก้าอี้ เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติด้วย รวมทั้งไอเดียเด็ดที่ทำให้การปลูกต้นกล้วยบนพื้นที่ว่างทุกวันนี้กลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ที่มาข้อมูล: baanlaesuan, home.kapook, tcdcmaterial, mgronline, pharmacy.mahidol