Steam Deck เครื่องเล่นเกมมาแรงจากค่าย Valve เจ้าของเดียวกับแพลตฟอร์มเล่นเกมชื่อดังอย่าง Steam ที่รวบรวมเกมที่มีชื่อเสียงอย่าง Dota 2, Counter-Strike : Global Offensive หรือแม้แต่เกมบน PlayStation ซึ่งการเข้ามาของสตีมเด็คสร้างความตื่นตาแก่คอเกมพกพาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการท้าชิงเจ้าตลาดเดิมอย่าง Nintendo ด้วยตัวเกมในสตีมเด็คส่วนใหญ่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้เองเราจึงพามาทำความรู้จักกับสเปกของสตีมเด็คว่าแรงพอจะสู้ Nintendo Switch ได้จริงหรือไม่?
สเปกของ Steam Deck เป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับ Nintendo Switch
- Steam Deck
ใช้ระบบประมวลผล CPU AMD Zen 2 4c/8t และ GPU 8 RDNA 2CUs มาพร้อมกับแรมขนาด 16 GB ความจุสูงสุดมีตั้งแต่ 64 GB, 256 GB จนถึง 512 GB ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเพิ่ม Micro SD การ์ด เข้าไปเพื่อเพิ่มความจุได้ แบตเตอรี่ขนาด 4,000 วัตต์ รองรับระยะเวลาการเล่นเกมเฉลี่ย 8 ชั่วโมง หน้าจอทัชสกรีน LCD ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 800 พิกเซล น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 669 กรัม ในด้านของระบบควบคุมใช้ปุ่มจอยสติกซ้าย – ขวา แต่พ่วงฟีเจอร์อย่าง “Trackpads” เปรียบเสมือนการใช้เมาส์บนเกมใน PC ทำให้ผู้เล่นที่ติดเมาส์อยู่ขยับทิศทางได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสตีมเด็คเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก หรือโทรทัศน์ ผ่านสาย HDMI โดยเชื่อมต่อด้าน USB C ของพอร์ตสตีมเด็คกับหน้าจอของอุปกรณ์อื่น คุณจึงเห็นหน้าจอขนาดใหญ่ขึ้นได้ง่าย ๆ แถมยังต่อกับ Accessory อื่นอย่างเมาส์หรือคีย์บอร์ดได้ด้วย
อย่างไรก็ตามสตีมเด็คเรียกตัวเองว่าเป็น PC เนื่องจากรองรับการเล่นเกมบนแพลตฟอร์ม Steam ที่รันบนเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นหลัก จึงมักประสบกับปัญหาเกมแล็คบนสตีมเด็คบางเกม โดยมีวิธีแก้ไขง่าย ๆ คือปรับกราฟิกเกมให้ลดลง เพื่อให้ค่า fps ต่ำอยู่ในระดับพอเล่นเกมได้
- Nintendo Switch OLED Model
Nintendo Switch รุ่นใหม่ที่มาพร้อมหน้าจอขนาด 7 นิ้ว ชนิด OLED ทำให้สีสันสดใส ส่วนระบบประมวลผลใช้ CPU Nvidia Tegra X1 ซึ่ง CPU AMD จากสตีมเด็คประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงกว่า อย่างไรก็ดีหน้าจอของ Nintendo ความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล แม้ความละเอียดน้อยกว่า แต่หน้าจอ OLED สีสันสดใสสูงกว่า LCD มาก ในด้านของสีสันหน้าจอ Nintendo Switch จึงชนะไปอย่างขาดลอย ส่วนความจุของ Storage มีขนาด 64 GB อัปเกรดด้วย micro SD ได้เหมือนกับสตีมเด็ค แบตเตอรี่ 4,310 mAh ใช้งานได้สูงสุด 9 ชั่วโมง ในด้านระบบ Docking ของ Nintendo เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกได้เหมือนกับสตีมเด็ค แต่จะต่อเมาส์หรือคีย์บอร์ดเข้าไปไม่ได้ และการควบคุม Nintendo จะไม่มี Trackpad มาให้ มีเพียงก้านจอยแบบแอนะล็อก 2 ข้าง
ในส่วนของเกมที่มีให้เล่นจะมีราว 4,400 เกม ส่วนสตีมเด็คมีมากถึง 50,000 เกม ปริมาณเกมของสตีมเด็คจึงมีมากกว่า แต่เกมของ Nintendo ค่อนข้างเจาะกลุ่มผู้เล่นหลากหลายกว่าสตีมเด็คพอสมควร
เล่นเกม PlayStation บน Steam Deck อย่างไร
โดยทั่วไปสตีมเด็คไม่สามารถเล่นเกมอื่นนอกเหนือแพลตฟอร์ม Steam ได้ แต่ก็มีวิธีลงเกมจาก Playstation อยู่หลัก ๆ 2 วิธี คือ 1.แอปพลิเคชัน PS Plus และ 2.SD card ซึ่งขั้นตอนการลงแอปพลิเคชัน PS Plus มีดังนี้
- กดปุ่ม “Power” ที่อยู่ด้านล่างสตีมเด็ค กดค้างรอจนหน้าเมนูใหม่ปรากฏขึ้นมา จากนั้นให้เลือก “Desktop Mode”
- เมื่อเข้าสู่ Desktop Mode ให้คุณสังเกตเมนูด้านล่างซ้าย จากนั้นกดเลือกไอคอน Discovery App
- ใน Discovery App ให้คุณกดค้นหา โดยพิมพ์คำว่า “ProtonUp-Qt” ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยจัดการซอฟต์แวร์ เพื่อให้แอปพลิเคชันจากแพลตฟอร์มอื่น เข้ากันได้กับระบบของสตีมเด็ค
- เมื่อติดตั้ง “ProtonUp-Qt” เสร็จสิ้น ก็ถึงเวลาดาวน์โหลด Playstation Plus โดยเลือกจากออปชั่น Download Playstation Plus App และดำเนินขั้นตอนที่เหลือให้เรียบร้อย ถ้าเสร็จสิ้นให้เข้าไปเช็กใน Stream Library ว่า PS Plus App ปรากฏขึ้นมาหรือไม่ เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ
ในกรณีที่ 2 เหมาะสำหรับคนที่มีเกมรุ่นเก่าจาก PS 2 หรือ PS 3 และอาจซื้อแผ่นมาจากช่องทางอื่นแล้ว จึงอยากเก็บไฟล์เกมเอาไว้ และเล่นบนสตีมเด็ค ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- เสียบ SD card เข้ากับคอมพิวเตอร์ของคุณในช่อง Slot หาก PC ไม่มีช่องเสียบดังกล่าว อาจซื้อ USB card reader สำหรับการเชื่อมต่อผ่านพอร์ตรับ USB โดยเฉพาะ
- เลือกเกมที่ต้องการเล่นบนสตีมเด็ค ใส่ลง folder ของ SD card
- จากนั้นดึง SD card ออก เสียบเข้ากับสตีมเด็คก็เริ่มต้นเล่นได้เลย แบบไม่ต้องง้อแอปพลิเคชัน PS Plus
แนะนำเกมจาก PlayStation ให้เล่นบน สตีมเด็ค ได้ไหลลื่น
หากคุณกำลังมองหาเกม PS บนแอปพลิเคชัน PS Plus หรือแผ่นเกมจากร้านค้าชั้นนำ เรามีเกมดังน่าสนใจที่ทุกคนเล่นได้บนสตีมเด็คดังนี้
1. God of war : Ragnarok
เกมแนวผจญภัยที่มาพร้อมกับเนื้อเรื่องน่าสนใจ ผู้เล่นสามารถซื้อแผ่นเกม โอนถ่ายข้อมูลเข้า SD การ์ดแบบง่าย ๆ ซึ่งเนื้อเรื่องอ้างอิงมาจากตำนานเทพไวกิ้ง วัลฮัลลา ที่ 2 พ่อลูก Kratos และ Atreus ต้องออกเดินทางไปกับการผจญภัยครั้งใหม่ เนื้อเรื่องมาพร้อมดราม่าทำเอาเหล่าผู้เล่นน้ำตาตก ตรงที่เน้นบทบาทให้ Kratos เป็นพ่อคนมากขึ้นหลังจากหายไปนานตามเนื้อเรื่อง God of War 2018 โดยระหว่างการเดินทางเนื้อเรื่องหลัก เควสรอง และการฟาร์ม เราจะเห็น Kratos เรียนรู้และสอน Atreus ที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ตลอดการผจญภัย
2. The Callisto Protocol Day 1
เกมแนวสยองขวัญ sci-fi สไตล์เอาตัวรอดจากเชื้อไวรัส โดยเนื้อเรื่องเปิดตัวมาที่ เจคอบ ลี และแม็กซ์ บาร์โรว์ ได้รับภารกิจให้ส่งสินค้ากับบริษัท United Jupiter แต่แล้วจู่ ๆ ยานอวกาศของทั้งสอง ถูกโจมตีโดยกลุ่ม Outer Way ซึ่งยานอวกาศแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องลงจอดฉุกเฉินที่ดาว Callisto ซึ่งตัวเกมจะให้เรารับบท เจคอบ ลี เพื่อเอาตัวรอดจากดาวดวงนี้ และสืบข้อมูลว่าทำไมดาว Callisto ถึงเต็มไปด้วยมนุษย์กลายพันธุ์อันน่าสยดสยอง
จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าสตีมเด็คจัดว่าเป็นเครื่องเล่นคอนโซลที่ออกแบบมาได้อย่างน่าสนใจ แม้เกิดปัญหาแบตเตอรี่หมดอย่างรวดเร็วจากการเล่นเกม PC แต่ก็มีจุดเด่นตรงที่เล่นเกมจากแพลตฟอร์ม Steam ชื่อดัง แถมลงเกมจาก PS4 และ PS5 ได้อีก จัดว่าสเปกแรง ตัวเกมคุณภาพสูง เหล่าเกมเมอร์ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
ที่มาข้อมูล: gamerism , pcmag , droidsans , flashfly , digitaltrends , thairath
Comments 3