เมื่อซื้อรถยนต์มาสักคัน ผู้ใช้งานจำเป็นต้องดูแลรักษาให้อายุการใช้งานยืนยาว เพื่อความปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากขึ้น ซึ่งยางรถยนต์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อนเริ่มออกต่างจังหวัดระยะไกลควรเช็กเป็นอันดับแรก แต่จะให้ไปศูนย์รถยนต์เพื่อเช็กแค่ลมยางเพียงอย่างเดียว คงเสียเวลาไม่น้อย ดังนั้นเราจึงนำเคล็ดลับและเครื่องมือ เช็คลมยาง มาฝากทุกคนให้สามารถตรวจสอบลมยางด้วยตนเองแบบง่าย ๆ
วิธี เช็คลมยาง แบบไม่ต้องใช้เกจวัดลมทำอย่างไร ?
คุณสามารถเริ่มต้นการเช็คลมยางเบื้องต้นได้ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้นิ้วมือบีบเนื้อยาง เพื่อตรวจเช็กว่ายางมีลมแน่นเพียงพอหรือไม่ ยางที่ปริมาตรลมน้อยจะนิ่มกว่าปกติ ตรงข้ามกับยางปริมาตรลมเยอะ หน้ายางจะแข็งเป็นพิเศษ หรือหากนำสิ่งของน้ำหนักมากใส่ในรถยนต์จะพบว่ายางที่ลมมากเนื้อยางจะไม่ถูกกดลงไปมากนัก ในขณะที่ถ้ายางลมน้อยจะแบนกว่าปกติ และอีกวิธีที่สามารถเช็กสภาพลมยางได้ นั่นคือ ขับรถยนต์ลงไปในพื้นที่โคลน ถ้าสังเกตเห็นรอยดอกยางบนพื้นที่โคลนมากรวมทั้งเห็นได้ชัด ให้สันนิษฐานได้เลยว่าลมยางน้อย แต่หากรอยดอกยางมีนิดเดียวและรอยจางมาก แสดงว่าลมยางแน่น อย่างไรก็ตามเพื่อให้เราทราบว่าลมยางอ่อนจริงหรือไม่ ควรใช้เกจวัดลมยางมาช่วยพิจารณาอีกทางหนึ่งเพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
เช็คลมยางรถยนต์ ด้วยการใช้เครื่องมือช่วยให้ง่ายขึ้น
- เกจวัดชนิดดิจิทัล เกจเช็คลมประเภทนี้สามารถแสดงผลการวัดลมยางได้ด้วยตัวเลขดิจิทัล เพียงแค่เสียบแท่งวัดลมยางเข้าไป แต่เกจดิจิทัลบางรุ่นก็เพิ่มฟังก์ชันในการทำงานอื่น ๆ เช่น บางเกจไม่จำเป็นต้องเสียบแท่งวัดเข้าไปในจุ๊บวาล์ว เนื่องจากระบบออกแบบมาให้ตรวจจับค่าสถานะของลมยางผ่านเซนเซอร์จากแอปพลิเคชัน ผู้ใช้งานแค่ตั้งไว้หน้ารถยนต์ ระบบของเกจจะแจ้งเตือนค่าสถานะต่าง ๆ เมื่อมีผิดปกติขึ้น เช่น ลมยางอ่อน, อุณหภูมิของยางสูง และยางรั่ว หรือบางเกจก็สามารถชาร์จไฟผ่านแสงอาทิตย์ได้ไม่จำเป็นต้องชาร์จแบตเตอรี่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสินค้าที่ผู้ใช้งานเลือกใช้
- เกจวัดลมยางแบบเข็ม เกจชนิดนี้พบเห็นได้ทั่วไปตามร้านซ่อมรถยนต์ หรือปั๊มเติมน้ำมัน จุดเด่นคือ สามารถวัดลมยางและเติมลมยางด้วยตนเองได้เลยหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นระหว่างขับรถ มีทั้งแบบที่สามารถใช้งานได้ทั้งรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และแบบแยกประเภท เช่น เกจที่เหมาะกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ การใช้เกจแบบนี้ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปร้านเติมลมยางให้เสียเวลา แต่มีข้อควรระวังคือ เมื่อใช้งานในเวลานาน ๆ หัวเข็มจะเริ่มเสียบเข้าจุ๊บวาล์วไม่อยู่ ต้องใช้แรงมือกดให้เกจวัดอยู่กับที่
- เกจวัดลมยางแบบแท่ง หลายคนอาจไม่เคยเห็นเกจชนิดนี้ เนื่องจากขนาดเล็ก สามารถพกพาได้ทุกที่ ทำให้มีรูปทรงหลายแบบตั้งแต่กุญแจ หรือปากกา เป็นต้น จุดเด่นนอกจากขนาดเล็กแล้ว ราคายังถูกมาก อีกทั้งบางสินค้ายังถูกออกแบบมาด้วยรูปทรงพวงกุญแจที่ใส่คู่ไปกับกุญแจรถยนต์ได้ การใช้งานก็ง่าย ๆ แค่เสียบแท่งวัดเข้าไปในจุ๊บยาง เกจวัดด้านในจะกระตุกออกมาจากปลอกด้านนอก สำหรับแสดงค่าตัวเลขแรงความดันลม หน่วยปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) ซึ่งเกจแบบแท่งมีข้อจำกัดที่ควรรู้ คือ ไม่สามารถตรวจวัดแรงดันลมในรถสิบล้อ เนื่องจากล้อรถสิบล้อใหญ่ ทำให้แรงดันลมมากกว่าเกจวัดรับได้นั่นเอง
ก่อน เช็คลมยาง ควรตรวจสอบสภาพยางภายนอกด้วยเช่นกัน
สภาพยางภายนอกเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน โดยสิ่งที่ควรตรวจสอบได้แก่ หน้ายาง จุ๊บวาล์ว และดอกยาง หากหน้ายางมีรอยฉีกขาด จะทำให้ลมหมดระหว่างทางเร็วจนต้องเปลี่ยนใหม่กลางคัน หรือถ้าจุ๊บวาล์วเสื่อมสภาพ มักส่งผลให้ลมยางรั่วซึมอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่โชคร้ายอาจมีเศษตะปูขนาดเล็กเข้าไปผ่านทางจุ๊บวาล์วทิ่มเนื้อยางด้านในที่นิ่มกว่ามาก จนอาจก่อให้ยางระเบิด และเมื่อดอกยางสึกเกินไป ผิวหน้ายางจะเกาะถนนไม่ดีนัก แน่นอนว่าประสิทธิภาพของการตะกุยสิ่งกีดขวางอย่างเศษตะปู ก็ด้อยลงเช่นกัน ทำให้มีโอกาสเจาะกับผิวหน้ายางโดยตรงได้
อันตรายของการไม่เช็คสภาพลมยาง
ลมยางที่เหมาะสมสำหรับการขับขี่ อยู่ในระดับ 28 – 32 PSI หากใช้เกจวัดลมแล้วได้เลขต่ำกว่า 28 แสดงว่าลมยางอ่อน เมื่อเกิดลมยางอ่อนปัญหาที่ตามมา คือ ผู้ขับขี่จะควบคุมทิศทางได้ยากขึ้น แถมควบคุมการเบรกได้ด้อยลง นอกจากนี้เมื่อลมยางอ่อน หน้ายางจะทำงานหนักกว่าปกติ เนื่องจากอากาศในยางไม่เพียงพอต่อการรับแรงกระแทก ส่งผลให้ยางมีโอกาสเกิดการฉีกขาดจนระเบิดในท้ายที่สุด อีกทั้งเมื่อลมยางน้อยรถยนต์จะเสียพลังงานสำหรับการขับเคลื่อนสูงกว่ามาก ทำให้น้ำมันหมดเร็วมากเมื่อวิ่งในระยะทางไกล อีกทั้งแม้เติมลมยางมาเต็มที่ปริมาตรลมจะลดลงเองเฉลี่ย 2 – 3 PSI ในทุก ๆ เดือน และลดมากเป็นพิเศษถ้าจอดรถยนต์บนถนนร้อนจัด ดังนั้นก่อนเดินทางไกลจึงควรเช็คสภาพลมยางทุกครั้ง รวมทั้งเติมลมยางให้มากกว่า 32 PSI เล็กน้อย สำหรับรองรับความเร็วระหว่างการขับขี่ทางไกล
ไม่ว่าคุณจะใช้วิธี เช็คลมยาง รูปแบบใด สิ่งสำคัญที่ควรรู้ไม่แพ้กันคือ หลีกเลี่ยงในการขับขี่บนถนนออฟโรดหากคุณใช้ยางรถเก๋ง เนื่องจากเนื้อยางจะจัดการเศษหินและเศษไม้ได้ไม่ดีนัก จนเกิดยางรั่วหรือยางระเบิด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ควรเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการซ่อมยาง หรือเตรียมยางสำรองไปด้วย แต่หากไม่มีอุปกรณ์ที่ช่วยซ่อมหรือเปลี่ยนยางได้เลย การใช้ยางราคาสูง เช่น ยางรันแฟลต ซึ่งมีเทคโนโลยีในการวิ่งต่อเนื่องแม้ยางรั่ว ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ที่มาข้อมูล: yellowtire , cockpit , dtsautogroup