มือใหม่หัดถ่ายรูปทุกคนคงกำลังมองหา เลนส์กล้อง กันอยู่ใช่หรือไม่ ? ซึ่งเลนส์ที่ใช้คู่กับกล้องดิจิทัล ก็มีหลายแบบเสียเหลือเกิน ทำเอาเหล่ามือใหม่ไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว แถมหากมองจากลักษณะภายนอกก็เหมือนกันจนแยกไม่ออกว่าเป็นกล้องชนิดอะไร ซึ่งเราจะพามาทำความรู้จักกับการแบ่งเลนส์ชนิดต่าง ๆ ว่าเขาแบ่งกันอย่างไร และเลนส์แต่ละแบบมีวิธีถ่ายรูปอย่างไร มาดูกันเลยดีกว่า
เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อเลนส์กล้อง
การแบ่งชนิดของเลนส์ใช้การจำแนกอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ คือ รูรับแสง และ ทางยาวโฟกัส ซึ่งแต่ละวิธีมีหลักการดังนี้
- รูรับแสง ค่าของรูรับแสงบ่งบอกถึงปริมาณแสงที่สามารถเข้าไปยังเลนส์ด้านในได้ ซึ่งค่าของรูรับแสงแสดงด้วยตัวอักษร f ถ้าตัวเลขที่ตามด้วย f ยิ่งน้อย แสดงถึงขนาดรูรับแสงจะกว้าง ในขณะที่หากตัวเลขยิ่งมาก ย่อมหมายถึงรูรับแสงขนาดเล็ก เช่น f/1.8 กับ f/16 ซึ่ง f/1.8 ขนาดรูรับแสงใหญ่กว่า ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ ส่วน f/16 เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแบบไม่เน้นโฟกัสมากนัก ใช้ถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ได้เป็นอย่างดี การเลือกเลนส์ว่ายี่ห้อใดคุณภาพดีกว่า อาจเลือกโดยใช้เกณฑ์ค่ารูรับแสง
- ทางยาวโฟกัส มือใหม่หัดถ่ายรูปหลายคนสับสนว่า ทางยาวโฟกัส คืออะไร ? ใช่ระยะห่างระหว่างสิ่งของกับเลนส์หรือไม่ ? ที่จริงแล้วทางยาวโฟกัส คือ ระยะห่างระหว่างจุดโฟกัสของเลนส์กับเซนเซอร์ โดยเซนเซอร์ดังกล่าวหมายถึงชิปอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่แปลงคุณสมบัติของแสงที่รวมจุด ณ โฟกัสเลนส์ ให้ออกมาเป็นภาพสีสันต่าง ๆ คุณสามารถสังเกตค่าทางยาวโฟกัส ได้จากตัวเลขชุดนี้บนเลนส์ เช่น 60mm f/1.2, 50mm f/15 จะเห็นได้ว่าทางยาวโฟกัส ได้แก่ 60mm และ 50 mm มีค่ารูรับแสงอยู่ที่ f/1.2 และ f/15 ตามลำดับ ซึ่งทางยาวโฟกัสจะกำหนดขนาดของภาพให้ออกมาเป็นมุมรับภาพในขนาดแตกต่างกันนั่นเอง และหากค่ายิ่งต่ำอยู่ในช่วงระหว่าง 10 – 24 mm จะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับถ่ายภาพมุมกว้าง หรือถ่ายภาพ Group Shot ได้เป็นอย่างดี
วิธีถ่ายรูป เลนส์กล้อง แต่ละชนิดที่มือใหม่ควรนำไปใช้
เลนส์กล้อง มีหลายประเภทที่คุณสมบัติแตกต่างกันออกไป ทำให้ถ่ายรูปได้หลากหลายแบบ ซึ่งมี 5 เลนส์ที่เรามักเคยได้ยิน และมีประสิทธิภาพในด้านของระยะโฟกัส รวมทั้งรูรับแสงอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังนี้
1. เลนส์ฟิกซ์
หรือที่รู้จักกันในชื่อของเลนส์ไพร์ม สาเหตุที่ได้ชื่อเลนส์ฟิกซ์ เป็นเพราะทางยาวโฟกัสไม่สามารถปรับค่าได้เหมือนกับเลนส์ชนิดอื่น ส่วนมากทางยาวโฟกัสอยู่ที่ 35 mm, 50mm และ 85 mm. หากต้องการซูมเข้า-ออก ช่างถ่ายรูปจำเป็นต้องขยับตัวเข้า-ออกเองท่านั้น ด้านเลนส์ในมีองค์ประกอบอื่นของชิ้นเลนส์ค่อนข้างน้อย จึงทำให้มีน้ำหนักเบา และจุดเด่นอีกข้อของเลนส์ฟิกซ์ คือ ค่า f ของรูรับแสงค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยราว f/1.2 – f/2.8 ประกอบกับระยะทางโฟกัสถูกจำกัด รูปที่ได้จึงมีจุดโฟกัสที่ชัดเจน ดังนั้นการถ่ายรูปบุคคลหรือ portrait จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเลนส์ชนิดอื่น
2. เลนส์ซูม
เลนส์ชนิดนี้ คือ เลนส์ที่แบ่งตามระยะทางการโฟกัสเช่นเดียวกับเลนส์ฟิกซ์ แต่สามารถปรับระดับทางยาวโฟกัสได้หลายรูปแบบ ซึ่งส่วนมากแล้วเลนส์ซูมขนาดจะใหญ่กว่าเลนส์ฟิกซ์ เพราะรองรับการปรับทางยาวโฟกัสได้หลายแบบ ทางยาวโฟกัสที่นิยมอยู่ในช่วง 70 – 200 mm เปรียบเสมือนการใช้งานเลนส์เพียง 1 ชนิด ก็เหมือนได้ซื้อเลนส์ที่ทางยาวโฟกัสหลายแบบ ทำให้ไม่ต้องคอยขยับตัวไปมา โดยมือใหม่ควรเลือกใช้งานเลนส์ซูมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากใช้งานง่าย อย่างไรก็ตาม Zoom lens มีข้อจำกัดตรงที่ขนาดรูรับแสงแคบกว่าเลนส์ฟิกซ์ กล่าวคือ ระยะกว้างสุดอยู่ที่ f/2.8
3. เลนส์เทเลโฟโต้
หากนึกถึงเลนส์ถ่ายรูประยะไกลได้ดี เลนส์เทเลโฟโต้คือสิ่งที่คุณควรนึกถึงเป็นอันดับแรก ซึ่งเทเลโฟโต้เป็นเลนส์ที่แบ่งจำแนกได้ง่าย ทางยาวโฟกัสกว้างตั้งแต่ 24mm จนเกิน 300 mm ทำให้ถ่ายภาพได้หลายแบบ เช่น ภาพคนเดินบนถนน ภาพถ่ายกีฬา นกกำลังบิน จนไปถึงวงการดาราศาสตร์ใช้สำหรับถ่ายภาพดวงดาว และรูรับแสงของเลนส์ชนิดนี้ใกล้เคียงกับเลนส์ซูม โดยรูรับแสงกว้างสุดอยู่ที่ f/2.8 ซึ่งไม่เหมาะกับภาพถ่ายโฟกัสชัดตื้นมากนัก
4. เลนส์มาโคร
เลนส์ชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อการ close – up ภาพระยะประชิดโดยเฉพาะ ทำให้ถ่ายรูปสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก อย่างแมลง และดอกไม้ได้ค่อนข้างดี ซึ่งจุดสังเกตของเลนส์มาโคร คือ มีค่าอัตราส่วน 1:1 2:1 หรือ 3:1 ปรากฏ ณ บริเวณเลนส์ โดยค่าตัวเลขด้านหน้าหมายความว่ากำลังขยายของเลนส์ ส่วนค่าด้านหลังหมายถึงขนาดจริงของรูปถ่าย เช่น ถ่ายรูปแมลงตัวหนึ่ง ขนาด 15 เซนติเมตร หากอัตราส่วนเท่ากับ 5 : 1 ภาพที่ปรากฏบนเซนเซอร์ คือ 75 เซนติเมตร
5. เลนส์ตาปลา
สามารถถ่ายรูปได้ถึง 180 องศา เป็นเลนส์มุมระยะถ่ายภาพสูงมาก มาพร้อมกับข้อเสีย คือ ไม่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพระยะประชิด เพราะภาพที่ได้จะถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงให้มีลักษณะโค้งงอ เหมือนกับรูปร่างของเลนส์ ทำให้ถ่ายรูปแบบงานครีเอทีฟ หรือ Abstract ได้ค่อนข้างดี ทางยาวโฟกัสเลนส์คุณภาพสูงของเลนส์ตาปลาอยู่ที่ 4 – 14 mm
ทั้งหมดนี้คือวิธีการเลือกเลนส์ถ่ายรูปสำหรับกล้องดิจิทัลที่ใช่ และประเภทเลนส์น่าสนใจ ซึ่งจะเห็นว่าเลนส์แต่ละแบบเหมาะกับภาพถ่ายที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามฝีมือการถ่ายภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ หากคุณเป็นมือใหม่ถ่ายรูปยังไม่เชี่ยวชาญ เราขอแนะนำเลนส์ซูม และใช้ฟีเจอร์ตกแต่งรูปเข้าช่วย ถ้าฝีมือเก่งขึ้น กะระยะถ่ายรูปได้ดี เลนส์ฟิกซ์ก็น่าสนใจเช่นกัน
ที่มาข้อมูล: photoguard , every-camera , mercular , adorama , lnwgadget , sony , camerastips
Comments 1