อุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความใส่ใจนั้น ไม่เพียงการเลือกซื้อของที่มีคุณภาพมาใช้งาน แต่ยังต้องคำนึงเรื่องการล้างทำความสะอาดให้ลูกน้อยปลอดภัยจากความไม่สะอาดหรือเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาด้วย ในบทความนี้เราจะเน้นถึงอุปกรณ์ที่ใกล้ตัวเด็กน้อยมากที่สุดนั่นก็คือขวดนมนั่นเอง ขวดนมเป็นภาชนะสำหรับใส่นมไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมชงเพื่อให้เด็กได้ดื่มนมเป็นประจำทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง การ ล้างขวดนม ให้หมดจดและปลอดจากเชื้อโรคจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
การทำความสะอาดขวดนมเด็กนั้น ต่างจากการล้างภาชนะในครัวเรือนทั่วไป ต้องใส่ใจในรายละเอียดและมีหลายขั้นตอนมากกว่า เพราะภูมิคุ้มกันเชื้อโรคของเด็กเล็กยังถือว่าน้อย ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ หากดื่มนมในภาชนะที่ไม่สะอาดก็จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย การล้างทำความสะอาดขวดนมเด็กจึงต้องพิถีพิถันให้ความใส่ใจในทุกขั้นตอน
อุปกรณ์ที่ต้องมีเพื่อทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคในขวดนม
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการล้างขวดนมลูกให้สะอาดหมดจด ขอแนะนำถึงอุปกรณ์ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมก่อน มีดังนี้
- แปรงล้างขวดนม แปรงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องมี ในท้องตลาดมีแปรงล้างขวดนมหลายแบบ ผลิตจากวัสดุแตกต่างกันไป มีทั้งแปรงที่ทำจากไนล่อน ซิลิโคน หรือฟองน้ำ โดยข้อดีของแปรงไนล่อนคือทนทาน ส่วนข้อดีของแปรงแบบฟองน้ำคือราคาไม่แพง แต่ใช้ไม่ค่อยทน สำหรับแปรงซิลิโคนจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่มีข้อดีคือไม่ทำให้เกิดรอยขีดข่วนบนขวดนมเหมือนกับขนไนล่อน
- น้ำยาล้างขวดนม ในการทำความสะอาดขวดและจุกนมสำหรับเด็กนั้นไม่ควรใช้น้ำยาล้างจานทั่วไป ควรใช้น้ำยาล้างขวดนมโดยเฉพาะ ซึ่งจะผลิตมาเพื่อขจัดคราบไขมันจากนม มีส่วนผสมของสารจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างหากล้างออกไม่หมด
- กะละมังล้างขวดนม ควรมีขนาดใหญ่พอสำหรับการล้างขวดนมของลูกแต่ละครั้ง ควรผลิตจากพลาสติกที่ทนความร้อนได้ เพราะต้องใช้น้ำร้อนแช่ขวดนมและจุกนมในกะละมัง ควรเลือกซื้อกะละมังที่เป็น food grade และปราศจากสารอันตราย มีเครื่องหมาย BPA Free
- เครื่องล้างขวดนม ขวดนมและจุกนมเมื่อล้างสะอาดแล้วต้องนำไปฆ่าเชื้อโรค ด้วยวิธีการต้มหรือนึ่ง เครื่องนึ่งขวดนมเป็นตัวช่วยคุณพ่อคุณแม่ได้ดี หากต้องการประหยัดเวลา
ขั้นตอนการ ล้างขวดนม ให้สะอาดหมดจดปลอดเชื้อโรค
เมื่อมีอุปกรณ์ทำความสะอาดเรียบร้อย คราวนี้มาถึงขั้นตอนการล้างทำความสะอาดขวดนมของลูกกันแล้วล่ะ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เมื่อใช้ขวดนมเสร็จให้ถอดส่วนประกอบของขวดนมออก มีขวดนม ฝาเกลียว จุกนม และฝาครอบ นำลงแช่ในน้ำร้อน การแช่ขวดนมในน้ำร้อนในขั้นตอนแรกนี้เพื่อล้างคราบนมออกก่อนในขั้นต้น ก่อนล้างทำความสะอาดในขั้นตอนถัดไป
- จากนั้นให้เตรียมกะละมัง ใส่น้ำอุ่น ผสมด้วยน้ำยาล้างขวดนมในปริมาณที่เหมาะสม นำแปรงมาทำความสะอาดโดยเริ่มล้างจากด้านในก่อนจนสะอาด แล้วแปรงล้างขวดด้านนอกอีกครั้ง ฝาเกลียวและฝาครอบก็ให้ทำความสะอาดเหมือนขวดนม ส่วนจุกนมให้ใช้แปรงขนาดเล็กที่มักมาพร้อมกันกับแปรงล้างขวด ขัดล้างทั้งด้านในด้านนอกจนมั่นใจว่าไม่มีคราบนมหลงเหลือ สำหรับจุกนมให้ระวังมือ อย่าขัดแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้จุกนมขาดหรือเสื่อมสภาพเร็วเกินควร
- เมื่อใช้แปรงขัดทำความสะอาดเสร็จแล้ว ให้ทำความสะอาดขวดนมและอุปกรณ์ทุกชิ้นด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ให้มั่นใจว่าคราบไขมันออกหมด รวมถึงน้ำยาล้างขวดนมด้วย วิธีคือให้ลองใช้มือถูดู หากยังลื่นแปลว่ายังไม่สะอาด ให้ใช้น้ำล้างซ้ำจนกว่าใช้มือถูไม่ลื่น และให้ลองดมกลิ่นดู หากมีกลิ่นนมก็คือยังล้างไม่สะอาด ให้ล้างทำความสะอาดซ้ำจนกว่าดมแล้วจะไม่มีกลิ่น
- เมื่อล้างทำความสะอาดขวดนมแล้ว ขั้นตอนสำคัญคือฆ่าเชื้อโรค หลายครอบครัวใช้วิธีต้มขวดนมและจุกนมในน้ำร้อน แล้วคีบมาผึ่งลมให้แห้งพร้อมใช้งาน ส่วนอีกหลายครอบครัวต้องการประหยัดเวลาก็เลือกใช้ที่นึ่งขวดนมซึ่งสะดวก คว่ำขวดนม วางอุปกรณ์อื่น ๆ ลงในเครื่องนึ่ง ใส่น้ำ แล้วเปิดเครื่อง เครื่องนึ่งขวดนมหลายรุ่นมีฟังก์ชั่นอบแห้งในตัว ช่วยเบาแรงคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ขวดนมสะอาดและแห้ง พร้อมนำไปใช้งาน
ข้อแนะนำเพิ่มเติมกับการ ล้างขวดนม
- ขวดนมเมื่อใช้แล้วอย่าทิ้งไว้ ให้ถอดส่วนประกอบออกแช่น้ำร้อนทันที ถึงยังไม่ล้างก็ต้องแช่น้ำไว้ก่อน หากทิ้งไว้ทำให้คราบนมติดแน่น ล้างทำความสะอาดให้สะอาดหมดจดได้ยาก
- หลีกเลี่ยงการล้างขวดนมผ่านน้ำเพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดีพอ
- ควรใช้น้ำยาล้างขวดนมเด็กเฉพาะ ไม่ใช้น้ำยาล้างจานทั่วไป
- เลือกใช้เครื่องล้างขวดนมหรือเครื่องนึ่งขวดนมที่ได้มาตรฐาน
- เมื่อต้มหรือนึ่งขวดนมแล้วให้ระวังขั้นตอนการประกอบเพื่อนำไปใช้งาน ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนประกอบขวดนม
หลังจากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้รู้ถึงขั้นตอนล้างขวดนมที่ถูกต้องแล้ว หลายคนคงไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีขั้นตอนที่พิถีพิถันแบบนี้ แต่เพราะสุขภาพและความปลอดภัยของลูกน้อยคือสิ่งสำคัญที่สุด การใส่ใจในทุกขั้นตอนจะทำให้ลูกน้อยปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีนั่นเอง
ที่มาข้อมูล: trueplookpanya , happymom , theasianparent
Comments 2