ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการสะอึกนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับแม่ แต่พอลูกน้อยสะอึกขึ้นมาทีไร คนเป็นแม่ก็อดกังวลไม่ได้ว่าเจ้าตัวเล็กที่ยังอยู่ในวัยทารกจะได้รับอันตรายจากการสะอึกหรือไม่ จริง ๆ แล้วถ้าหาก ทารกสะอึก หลังจากกินนมอิ่มแล้วหายสะอึกไปเองถือว่าไม่ได้มีอะไรร้ายแรงและเป็นอาการที่เกิดบ่อยกับเด็กทารกอายุน้อยกว่า 4 เดือน แต่ถ้าหากคุณแม่ยังกังวลใจ วันนี้เรามาดูสาเหตุและวิธีแก้ไขอาการสะอึกของลูกน้อยกัน
สาเหตุที่ เด็กทารกสะอึก หลังกินนมเพราะอะไร
ทารกเมื่อกินนมเสร็จกระเพาะอาหารจะขยายตัวใหญ่ขึ้นทำให้เกิดแรงดันไปที่กล้ามเนื้อกะบังลม เมื่อเวลาเด็กหายใจออกกะบังลมนี้จะหดตัวขณะที่เส้นเสียงจะปิดอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเป็นเสียงขึ้น จึงสังเกตได้ว่าเด็กจะสะอึกตามจังหวะการหายใจนั่นเอง ซึ่งเมื่อดูจากกลไกนี้แล้วจะเห็นว่าไม่ได้มีอันตรายอะไรที่ร้ายแรงจากการสะอึก คุณแม่จึงสบายใจได้ว่าอาการสะอึกเป็นเรื่องธรรมดาและเมื่อสะอึกไปสักพักก็จะหาย เว้นเสียแต่ว่าถ้าเด็กสะอึกนานเป็นชั่วโมงแล้วไม่หายสักทีก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เนื่องจากการสะอึกที่ผิดปกติอาจเป็นเพราะปัญหาสุขภาพ
เมื่อ ทารกสะอึก ใช้วิธีดั้งเดิมแก้ได้หรือไม่
การสะอึกเกิดขึ้นได้กับทุกคนและถ้ายังจำกันได้ผู้ใหญ่มักจะสอนว่าถ้าจะ แก้สะอึก ต้องทำให้ตกใจแล้วจะหาย ส่วนใหญ่ก็จะแอบทุบหลังไม่ให้รู้ตัวและยังมีอีกหลายวิธีที่เชื่อว่าแก้อาการสะอึกได้ เช่น หายใจในถุงกระดาษ กลืนน้ำอึกใหญ่ กลั้นหายใจ เอามืออุดหู เป็นต้น วิธีเหล่านี้เป็นความเชื่อที่บอกต่อ ๆ กันมา แต่ก็ไม่มีการพิสูจน์ยืนยันว่าได้ผลจริงแค่ไหน แต่แนะนำว่าใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้นไม่ควรนำมาใช้กับเด็กทารกเพราะอาจเป็นอันตรายได้ อย่างการทุบหลังหรือทำให้ตกใจเพื่อให้หายสะอึก วิธีนี้ใช้กับทารกไม่ได้เพราะกระดูกของเด็กยังไม่แข็งแรงพอ การกินน้ำอึกใหญ่ก็เช่นกัน ถ้าลูกเล็กของคุณสะอึกอย่าให้กินน้ำมากเกินไปจะทำให้เด็กอึดอัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลั้นหายใจไม่สามารถทำได้เลยสำหรับทารก ดังนั้นขอข้ามวิธีเหล่านี้เมื่อลูกสะอึกควรหาทางแก้อาการที่เหมาะกับเด็กทารกจะดีกว่า
วิธีแก้อาการ ทารกสะอึก แบบง่าย ๆ และปลอดภัยสำหรับทารก
ปกติอาการสะอึกจะหายไปเองเมื่อผ่านไปสักพัก แต่สำหรับคุณแม่ส่วนใหญ่แล้วเมื่อลูกสะอึกก็คงไม่อยากปล่อยให้เป็นไปเรื่อย ๆ จนหายเอง ถ้าจะมีวิธีใดช่วยแก้อาการทารกสะอึกได้เร็วก็คงอยากจะทำ วิธีที่แนะนำก็คือ
- ใช้มือลูบวนที่ท้องเพื่อไล่ลม หรือนวดเบา ๆ บริเวณหน้าอกลงมาถึงท้องน้อย แล้วเปลี่ยนไปนวดที่บริเวณสันหลังเพื่อช่วยกระตุ้นอีกรอบหนึ่ง
- จับลูกทำกายบริหารโดยนอนหงาย ยกขาของลูกทั้งสองข้างขึ้นแล้วกดลงไปให้แนบหน้าท้องและยืดขาขึ้น ทำแบบนี้เบา ๆ สลับกันไป เป็นการไล่ลมได้อีกวิธีหนึ่ง
- ทำให้ลูกเรอ โดยการอุ้มพาดบ่าแล้วลูบหนังหรืออุ้มลูกนั่งบนตักแล้วใช้มือประคองที่คาง ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังเบา ๆ ในลักษณะลูบขึ้นจากหลังไปยังต้นคอ จะช่วยไล่ลมได้ดี
- ให้ลูกดูดนมจากเต้าจะสะอึกน้อยลง เพราะการดูดนมจากเต้าไม่ทำให้ทารกดูดลมเข้ากระเพาะเยอะเกินไปและไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำตามก็ได้
- หากให้ลูกดูดนมจากขวด ควรให้นมอย่างช้า ๆ ป้องกันการสำลักและสะอึก การให้นมแต่ละมื้อควรมีช่วงพัก เช่น กินครึ่งขวดแล้วจับให้ลูกได้นั่งเรอก่อนจึงค่อยกินต่อ
- เลือกจุกขวดนมที่ช่วยลดอาการสะอึก ควรเลือกจุกนมที่ได้มาตรฐานและมีรูที่ไม่ใหญ่มาก ถ้าจุกนมมีรูใหญ่เกินไปเวลาลูกดูดนมน้ำนมจะไหลเร็วและแรงเกินทำให้ลูกแน่นท้องได้ง่าย การเลือกขวดนมที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กกินนมได้ดีโดยไม่ต้องดูดอากาศเข้าไปด้วยจะสามารถป้องกันการสะอึกได้
ปรับแนวการเลี้ยงลูกใหม่ อาการทารกสะอึก น้อยลง
วิธีการเลี้ยงเด็กอ่อนเป็นเรื่องสำคัญให้คุณแม่ลองนึกย้อนวิธีการเลี้ยงลูกที่ผ่านมา อาจมีบางอย่างที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยให้ลูกสะอึกน้อยลงได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงให้นมลูกเยอะเกินหรือห้ามไม่ให้ลูกดูดนมเร็วไป เพราะอาจทำให้เกิดลมในท้องมากและสะอึก ลองเปลี่ยนมาเป็นการให้นมทีละน้อย แต่ให้บ่อยครั้งมากขึ้น
- คอยดูลูกขณะให้นมว่าลูกดูดนมถูกวิธีหรือไม่ สำหรับคุณแม่ที่ให้นมจากเต้าต้องให้แน่ใจว่าปากของลูกอมฐานหัวนมด้านล่างจนมิด สำหรับการให้นมขวดก็ต้องให้ลูกดูดจุกนมให้มิดเช่นกัน และไม่ควรปิดจุกขวดนมแน่นเกินไปจะทำให้ลูกต้องออกแรงดูดนมมาก ลมจะเข้าท้องและทำให้สะอึกมากขึ้น
- ขณะป้อนนมขวดอย่าลืมถือขวดให้ถูกวิธี โดยจับขวดเอียง 45 องศา และควรอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนคุณแม่แทนการนอนราบ
อาการสะอึกแก้ได้ แต่ถ้าลูกสะอึกบ่อยครั้งติด ๆ กัน ทั้งยังมีการ แก้สะอึก สารพัดวิธีแล้วก็ยังไม่หาย อาจเป็นไปได้ว่าลูกจะเป็นกรดไหลย้อน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอาการอีกครั้ง
ที่มาข้อมูล: premierehomehealthcare , amarinbabyandkids