หากนึกถึงสินค้าเกษตรส่งออกของประเทศไทย มั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงพวกผลไม้สด ข้าว ยางพารา ไม้แปรรูป หรือมันสำปะหลัง แต่ในความจริงแล้วปลาสวยงามเองก็เป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยติดอันดับผู้ส่งออกปลาอันดับ 5 ของโลก ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 700 ล้านบาท โดยหนึ่งในปลาส่งออกที่ทำเงินเข้าประเทศคือ ปลากัด ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีคนไม่น้อยสนใจอยากเลี้ยงปลากัดเป็นอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้มากขึ้น
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ปลากัด ก่อนตัดสินใจเลี้ยง
ถึงแม้ว่าสมัยก่อนการ เลี้ยงปลากัด มีจุดประสงค์เพื่อการกีฬาเป็นหลัก แต่เนื่องจากมีการเล่นกีฬากัดปลาน้อยลงบวกกับการออกกฎหมายควบคุมการพนันกัดปลาที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ปัจจุบันจึงนิยมเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์จำหน่าย ปรับปรุงพันธุ์ หรือเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะเลี้ยงไว้เพื่อจุดประสงค์ใดก็ตาม ก่อนตัดสินใจเลี้ยงจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปลากัดให้ละเอียด ส่วนมีเรื่องไหนของปลากัดที่มือใหม่ต้องรู้บ้างนั้น มาดูกันเลย
- ลักษณะทั่วไปของปลากัดไทย
‘ปลากัดไทย’ หรือ Siamese fighting fish มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อายุเฉลี่ยประมาณ 2 ปี พบได้ตามธรรมชาติ ห้วย หนอง คลอง และตามทุ่งนา โดยทั่วไปลำตัวมีลักษณะเรียวยาว ด้านข้างแบน ความยาว 5 – 7 เซนติเมตร
ส่วนปากมีขนาดเล็กเชิดขึ้นเล็กน้อย หัวมีเกล็ด ฐานครีบยาว จำนวนก้านครีบ 23 – 26 อัน ส่วนครีบท้องมีขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามปากกัดพันธุ์ดั้งเดิมของไทยมีลักษณะไม่สวยงาม แต่หลังจากมีการพัฒนาสายพันธุ์ทำให้ปลากัดไทยให้มีความสวยงามมากขึ้น
- ความแตกต่างระหว่างตัวเมียและตัวผู้
ปลากัดไทยตัวผู้กับปลากัดไทยตัวเมียมีความแตกต่างอยู่ 4 ข้อสำคัญ ได้แก่ สี ขนาด ความยาวครีบ และจุดไข่น้ำ โดยปลากัดเพศผู้จะมีสีเข้มกว่า ขนาดใหญ่กว่า และครีบหลัง ครีบหาง ครีบก้นยาวกว่าปลากัดเพศเมีย
ในขณะที่ปลากัดเพศเมียจะมีเม็ดเป็นจุดสีขาว 1 จุด อยู่ใกล้กับช่องเพศเรียกว่าจุดไข่น้ำ แต่ปลากัดเพศผู้จะไม่มีจุดไข่น้ำ ซึ่งผู้เลี้ยงสามารถนำหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ ไปใช้ในการจำแนกเพศของปลากัดได้
- ปลากัดที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย
กลุ่มปลากัดไทยที่นิยมเลี้ยงถูกจัดอยู่ในชนิด Splendens มีประมาณ 50 – 60 ชนิด สามารถแบ่งตามลักษณะการวางไข่ได้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกเป็นกลุ่มปลากัดก่อหวอด โดยเพศผู้จะสร้างหวอดที่บริเวณผิวน้ำและติดอยู่ใต้ใบไม้ที่ลอยอยู่ในน้ำเพื่อรอผสมกับไข่ของตัวเมีย ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มปลากัดเลี้ยงลูกในปาก มีการผสมพันธุ์และฟักตัวภายในปาก
- วงจรการผสมพันธุ์ของปลากัด
ตามธรรมชาติปลากัดสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเช้า 7.00 – 8.00 น. ครั้งละ ประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเวลาผสมพันธุ์ปลาเพศผู้ทำหน้าที่ก่อหวอดที่ผลิตจากลมและน้ำลายเพื่อกำหนดอาณาเขตรัง
เมื่อปลากัดเพศเมียเข้ามาผสมพันธุ์ ปลากัดเพศผู้จะงอตัวรัดท้องปลาเพศเมียที่ปล่อยไข่ออกมาผสมพันธุ์ได้ครั้งละ 7 – 20 ฟอง จากนั้นปลากัดเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสม ทำซ้ำไปซ้ำมาอย่างนั้นจนกว่าไข่ของตัวเมียจะหมด
แต่หลังจากผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้วปลากัดเพศผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่ สำหรับไข่ของปลากัดเป็นประเภทไข่ลอย เม็ดสีขาว ใช้เวลา 30 – 40 ชั่วโมง ในการฟักตัวเป็นลูกปลา
วิธีเลี้ยง ปลากัด ง่าย ๆ สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง
สำหรับคนที่อยากลองเลี้ยงปลากัดไทยแต่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน แนะนำว่าให้ทดลองเลี้ยงจำนวนน้อย ๆ ก่อน หลังจากเกิดความชำนาญจึงค่อยขยายจำนวนและโรงเรือน ส่วนวิธีเลี้ยง ปลากัด ง่าย ๆ เหมาะกับมือใหม่จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันเลย
- อุปกรณ์สำหรับเลี้ยง ได้แก่ โหลแก้ว สายยางสำหรับดูดขี้ปลา กระบวยช้อนปลากัด ไม้น้ำ เกลือ ยารักษาโรค น้ำใบหูกวาง และปากกาหัวสแตนเลส
- การเตรียมน้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องเป็นน้ำสะอาดเติมเกลือเล็กน้อย ไม่มีคลอลีน ค่า pH 6.5 – 7.5 แต่โดยทั่วไปนิยมใช้น้ำแช่ใบหูกวาง เนื่องด้วยในใบหูกวางมีสารที่ชื่อสารแทนนิน ช่วยรักษาสภาพน้ำและโรคในปลา แต่ก่อนนำใบหูกวางมาใช้ควรนำไปแช่น้ำด่างทับทิมล้างให้สะอาดหรือต้มฆ่าเชื้อโรค ก่อนฉีกใส่ลงไปในน้ำ
- การให้อาหาร ปัจจุบันมีอาหารแบบสำเร็จรูปวางจำหน่ายตามร้านอาหารสัตว์ทั่วไปหรือร้านขายปลากัด ส่วนปริมาณอาหารให้หมั่นสังเกตว่าปลาแต่ละตัวกินมื้อละกี่เม็ด โดยควรให้ทั้งหมด 2 มื้อ เช้า-เย็น
- การเปลี่ยนน้ำ ควรเปลี่ยนสัปดาห์ละครั้ง โดยขั้นแรกให้ใช้สายยางดูดขี้ปลาออกจากอ่าง จากนั้นให้เทน้ำออกโดยเหลือน้ำเก่าไว้ 3 – 4 เซนติเมตร จึงค่อยเติมน้ำใหม่ที่ผ่านการพักให้คลอลีนระเหยประมาณ 3 วัน
แนะนำสายพันธุ์ ปลากัดไทย น่าเลี้ยงเพิ่มรายได้
อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าวงการปลากัดไทยได้รับการพัฒนาจนมีสีสันและลวดลายแปลกตามากขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดประกวดกันอย่างเป็นทางการทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ อย่างงานประกวดปลากัดชิงถ้วยพระราชทาน , งานเกษตรแฟร์ประจำปี 2566 , งานประกวดปลากัดนานาชาติ 2566 แต่จะมีปลากัดพันธุ์ไหนน่าเลี้ยงไว้เพิ่มรายได้บ้างนั้น มาดูกันเลย
- ปลากัดหม้อหรือปลาลูกหม้อ พัฒนาจากปลากัดป่า ลักษณะตัวใหญ่ มีหลายสีให้เลือกทั้งน้ำเงิน แดง เขียวคราม และคราม
- ปลากัดยักษ์ ขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่น ขนาด 2.5 นิ้วขึ้นไป
- ปลากัดมาเลย์ เป็นปลานำเข้าจากประเทศมาเลเซีย เกล็ดแน่น หนังเหนียว นิสัยดุร้าย
- ปลากัดฮาร์ฟมูนหรือปลากัดพระจันทร์ครึ่งซีก โดดเด่นเรื่องสีสัน หางใหญ่ แผ่กว้างได้ 180 องศา
- ปลากัดคราวน์เทลหรือปลากัดหางมงกุฎ ครีบหางคล้ายหนามและแตกสม่ำเสมอ
- ปลากัดหูช้าง จุดเด่นมีครีบหูขนาดใหญ่คล้ายกับหูช้าง
- ปลากัดแฟนซี พัฒนามาจากปลากัดหม้อ มีสีสันหลากหลาย โดยจะเรียกชื่อตามสี อย่างปลากัดซูเปอร์เรด ปลากัดเรดดรากอน หรือปลากัดมาเบิ้ล
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลากัดและสายพันธุ์ไทยน่าเลี้ยงเพิ่มรายได้ที่นำมาฝาก ซึ่งจะเห็นว่าการ เลี้ยงปลากัด ดูเผิน ๆ จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ต้องให้ความใส่ใจในทุกขั้นตอนและหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา รับประกันว่านอกจากเพิ่มรายได้แล้ว ยังสนุกกับการเลี้ยงปลากัดมากขึ้นแน่นอน
ที่มาข้อมูล: Phuket Aquarium , ประชาชาติธุรกิจ , นักเลงปลากัด , True Plookpanya , Kapook , The Cloud , TKPark , DooDiDo