ความรู้สึกครั้งแรกของผู้หญิงท้องคือตื่นเต้นยินดีกับเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะมาเป็นโซ่ทองคล้องใจ หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยความรู้สึกอีกหลายอย่างระคนกัน ซึ่งนอกจากความรู้สึกทางจิตใจแล้วยังมีความรู้สึกทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหลัง เป็นตะคริว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ฯลฯ แต่ก็ใช่ว่าคนท้องทุกคนจะมีอาการเหมือนกันทุกอย่าง บางคนไม่มีอาการอะไรเลย แต่บางคนก็มีอาการมากจนรู้สึกไม่สบายใจ อาการอย่างหนึ่งที่สร้างความกังวลให้กับคนท้องไม่น้อยก็คืออาการ คัดเต้าคนท้อง หรืออาการเจ็บคัดเต้านมคล้าย ๆ กับตอนมีประจำเดือนและคล้ายกับอาการของแม่ลูกอ่อนที่ต้องให้นมลูก แต่คนท้องบางคนที่ยังไม่เคยมีอาการนี้มาก่อน เมื่อเจ็บตึงเต้านมมาก ๆ มักจะเครียดและกังวลว่ามีอันตรายหรือไม่
คัดเต้าคนท้อง ปัญหาหนักอกของว่าที่คุณแม่ แต่ไม่ใช่สัญญาณอันตราย
อาการเจ็บเต้านมในขณะตั้งท้องเป็นเรื่องปกติไม่ได้มีอันตราย คนท้องส่วนใหญ่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์เต้านมจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นทำให้รู้สึกตึงและเจ็บ บางคนอาจเจ็บมากจนทนไม่ไหว เจ็บไปถึงบริเวณใต้วงแขน นอกจากนี้ยังอาจมีความเจ็บหรือเซ็นซิทีพที่หัวนมมากกว่าปกติชนิดที่เรียกว่าสัมผัสไม่ได้เลย เพราะแค่โดนเบา ๆ ก็เจ็บมากแล้ว นอกจากจะมีอาการคัดเต้าแล้วยังอาจเกิดอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น
- บริเวณรอบหัวนมใหญ่ขึ้น สำหรับบางคนอาจรู้สึกเจ็บหัวนม
- รอบหัวนมเปลี่ยนเป็นสีคล้ำและขยายวงกว้าง
- เต้านมใหญ่ขึ้นและอาจมีเส้นเลือดฝอยปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน
- เต้านมแตกลายเนื่องจากขนาดที่ใหญ่ขึ้น
- มีน้ำนมสีเหลืองไหลออกจากหัวนม
อาการเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติแต่อย่างใดและไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์เพื่อวอร์มร่างกายสำหรับการให้นมลูกหลังจากคลอดแล้วเท่านั้นเอง
ระยะเวลาของอาการคัดเต้านม
อาการคัดเต้าจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์และปวดตึงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ความรู้สึกทรมานจากอาการนี้จะมากกว่าการคัดเต้าของผู้หญิงที่มีประจำเดือน แต่ก็ไม่เสมอไปสำหรับผู้หญิงทุกคน บางคนที่ตั้งครรภ์ใหม่ ๆ จะไม่รู้สึกอะไร มาเจ็บเอาเมื่อตอนที่เวลาผ่านไปหลายเดือนจนจะใกล้คลอดแล้ว ขณะที่ผู้หญิงท้องหลายคนไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดเพราะคัดเต้านมเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ก็ยังอดวิตกไม่ได้อยู่ดีแม้ว่าจะไม่ต้องทรมานกับอาการคัดเต้าคนท้อง เพราะกลัวว่าจะไม่มีนมให้ลูกหลังคลอด บางคนก็กังวลว่าไม่มีฮอร์โมนแล้วจะกลายเป็นท้องลม แต่จริง ๆ แล้วอาการของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป เพราะสภาพร่างกายและระดับฮอร์โมนของแต่ละคนไม่เหมือนกันนั่นเอง
ส่วนคุณแม่ที่คัดนมมาตั้งแต่เริ่มท้อง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่ออายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป คุณแม่จะได้พักจากอาการนี้ระยะหนึ่งจนกระทั่งหลังคลอดก็จะกลับมาคัดเต้าอีกครั้ง คราวนี้คงถึงเวลาที่ต้องให้นมลูกจริง ๆ แล้ว ต้องเตรียมตัวรับมือกับอาการเจ็บปวดกันอีกรอบ แต่ก็ไม่ต้องกังวลใจไปเพราะอาการนี้จะอยู่กับเราไปแค่ช่วงให้นมเท่านั้น ซึ่งระหว่างนั้นก็อาจจะต้องหาวิธีบรรเทาอาการเจ็บไปก่อน
อาการคัดเต้าคนท้อง บรรเทาได้หลายวิธี
วิธีช่วยบรรเทาอาการคัดเต้าให้เจ็บน้อยลงมีหลายวิธี โดยเรามีมาแนะนำ ดังนี้
- ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น นำมาประคบบริเวณเต้านมเพื่อให้เลือดไหลเวียนบรรเทาอาการตึงคัด
- หาซื้อบราตัวใหม่ เพื่อบรรเทาอาการคัดเต้าคนท้อง โดยหลีกเลี่ยงเสื้อในชนิดที่มีโครงเพราะจะเป็นการกดทับเต้านมให้เจ็บมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกใช้บราชนิดพิเศษสำหรับคนท้องโดยเฉพาะ และเลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดของเต้านม เพราะคนท้องเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้นและจะขยายใหญ่กว่าเดิมประมาณ 1 – 2 ไซซ์ ดังนั้นการซื้อบราจึงต้องเพิ่มขนาดเพื่อให้สวมใส่สบายและคล่องตัว
- เลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบายตัว เพราะนอกจากบราแล้ว เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ควรเป็นแบบพอดีตัวหรือใหญ่กว่าปกติ จะไม่ทำให้คับเกินไป
- หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ ไม่ควรทานยาแก้ปวดเอง หากจำเป็นต้องทานยาควรปรึกษาแพทย์เพื่อสั่งยาให้เท่านั้น เพราะการทานยาอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้
อาการ คัดเต้าคนท้อง กับมะเร็งเต้านมและความผิดปกติอย่างอื่น
อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว คุณแม่อาจจะมีความวิตกกังวลอีกอย่างหนึ่งว่า อาการคัดเต้านมที่ยาวนานเกินไปหรือเจ็บปวดมากจนทนไม่ไหว จะมีสาเหตุมาจากอย่างอื่นหรือไม่ สำหรับอาการคัดเต้านมนี้ถ้าไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์หรือการมีประจำเดือนแล้วล่ะก็ อาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้ออักเสบหรือมีถุงน้ำเกิดขึ้นที่เต้านม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ส่วนที่มีความกังวลว่าจะเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมหรือไม่นั้น คงต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่เกี่ยวกัน เพราะมะเร็งที่จะเป็นถึงขั้นเจ็บปวดได้จะต้องมีขนาดใหญ่มากเลยทีเดียว และมักเกิดเมื่ออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรกังวลในเรื่องนี้มากเกินไปจนกลายเป็นความเครียด เพราะจะทำลายสุขภาพและส่งผลต่อลูกน้อยได้ ทำใจให้สบายและใช้วิธีบรรเทาอาการปวดเจ็บเต้านมตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่สำคัญคืออย่าลืมพักผ่อนเยอะ ๆ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกนะคะ
ที่มาข้อมูล: enfababy , paolohospital