เชื่อว่าชาวพุทธทุกคนคงต้องคุ้นเคยกับการทำ สังฆทาน กันอย่างแน่นอน เพราะเป็นการทำบุญที่ง่ายและสะดวกที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วความหมายของการถวายสังฆทานนั้นคืออะไร วิธีการถวายสังฆทานที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้เรามีสาระดี ๆ เกี่ยวกับการถวายสังฆทานมาบอกกัน พร้อมกับบทสวดถวายสังฆทานเอาไว้ให้คุณนำไปปฏิบัติตามได้ถูกต้อง
การถวายสังฆทานคืออะไร
การถวายสังฆทาน แปลตามตัวเลยหมายถึงการทำทานแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นลักษณะของการทำทานโดยไม่ได้ระบุเจาะจงว่าต้องการถวายกับพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ถือเป็นการถวายทานแด่คณะพระสงฆ์ สิ่งของที่ถวายจะไม่มีเจ้าของ พระทุกรูปมีสิทธิใช้สอยในสิ่งของเหล่านั้นเหมือนกันทุกรูป
ซึ่งพระพุทธวจนที่ปรากฏในคัมภีร์ทักขิณาวิภังคสูตรกล่าวว่า การถวายสังฆทานให้อานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงกับพระพุทธเจ้า เพราะยังประโยชน์ให้กับทั้งคณะสงฆ์ โดยสิ่งของที่มักนิยมนำมาถวายเป็นสังฆทานนั้นก็จะเป็นของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการใช้สอยดำรงชีพของพระภิกษุสงฆ์ เช่น ผ้าไตรจีวร ยารักษาโรค อาหารแห้ง รวมไปถึงของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น
ลำดับขั้นตอนและบทสวดคำถวาย สังฆทาน
การถวายสังฆทานมีลักษณะและลำดับขั้นตอนตามขนบธรรมเนียมที่ชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการบูชาพระรัตนตรัย การอาราธนาศีล รับศีล การกล่าวถวายสังฆทาน และการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลพร้อมกับการรับพร ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็จะมีบทสวดเรียงตามลำดับดังนี้
- บูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวังตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมังนะมะสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ (กราบ)
- อาราธนาศีล
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
กล่าวเสร็จแล้วพระจะให้ศีล เราก็ว่าตามไปที่ละบท ๆ ดังต่อไปนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ต่อจากนี้พระจะกล่าวว่า “ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง” เราในฐานะผู้รับศีลกล่าวรับตามว่า “อามะ ภันเต” แล้วตั้งใจสมาทานศีลตามคำพระท่านทีละบทว่า
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ
สีเลนะ สุคะติง ยันติ
สีเลนะ โภคะสัมปะทา
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ
ตัสฺมา สีลัง วิโสธะเย.
- คำกล่าวสังฆทาน
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ
ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ
สาธุ โน ภันเต ภิกขุ สังโฆอิมานิ
ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ
อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ สาธุ
เมื่อกล่าวคำถวายสังฆทานเสร็จจึงค่อยประเคนสิ่งของที่เรานำมาถวายแด่พระสงฆ์
- กรวดน้ำและรับพร
หลังจากประเคนถวายสิ่งของแด่พระสงฆ์แล้วพระสงฆ์จะนำสวดอุทิศส่วนกุศล เมื่อสวดถึงบท “ยะถา วาริวะหา ปูรา…” ให้เราเริ่มกรวดน้ำจากนั้นก็พนมมือรับพรในช่วงบทสวด “สัพพีติโย วิวัชชันตุ…” จนจบก็ถือว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนการถวายสังฆทานแล้ว
ควรถวายอะไรใน สังฆทาน ให้ได้อานิสงส์
หากคุณนึกอยากจะทำบุญถวายสังฆทานขอแนะนำให้เป็นผู้ตระเตรียมสิ่งของที่จะถวายเองแทนการซื้อแบบจัดสำเร็จ เพราะเราจะได้คัดเลือกสิ่งของที่มีคุณภาพถวายแก่พระสงฆ์ให้ได้ใช้ประโยชน์จริง นอกจากนั้นเรายังสามารถเช็กวันหมดอายุได้อีกด้วย ซึ่งของที่นิยมนำมาถวายก็จะมีดังนี้
- อาหารแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ขนม น้ำดื่ม ฯลฯ
- ของใช้ส่วนตัว เช่น มีดโกน บาตร ขันน้ำ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าขนหนู ฯลฯ
- เครื่องนุ่งห่ม เช่น จีวร อังสะ สบง รองเท้า ฯลฯ
- ชุดยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวด ยาดม ยาหม่อง ฯลฯ
- ของจำเป็นอื่น ๆ เช่น เครื่องเขียน หนังสือธรรมะ หลอดไฟ เทียน ไม้กวาด ยากันยุง ฯลฯ
ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งของราคาแพง ไม่ต้องกังวลกับจำนวนสิ่งของที่จะถวาย เพียงแค่เตรียมของที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์ด้วยจิตที่บริสุทธิ์เป็นกุศล เท่านี้ก็จะอิ่มอกอิ่มใจได้อานิสงส์ในการถวายสังฆทานแล้ว
จบไปแล้วกับสาระดี ๆ เกี่ยวกับการทำสังฆทานหวังว่าทุกคนจะเข้าใจถึงความหมายหรือแก่นของการทำสังฆทานตลอดจนถึงขั้นตอนวิธีและบทสวดถวายสังฆทานกันไปบ้างแล้ว คงจะพอเป็นแนวทางให้ทุกคนถวายสังฆทานได้อย่างถูกต้องและอิ่มอกอิ่มใจอิ่มบุญกันถ้วนหน้า
ที่มาข้อมูล: kalyanamitra , thairath , wongnai