สิ่งที่เรามักจะสังเกตเห็นตามถนนอยู่บ่อย ๆ เมื่อต้องขับรถไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็คือ สีฟุตบาท ที่แตกต่างกัน ทั้งสีขาว สีเหลือง สีดำ และสีแดง ขอบฟุตบาทบางจุดยังมีสีสลับกันอีกด้วย ซึ่งก็เชื่อว่าผู้ที่ขับรถมานานและมีใบขับขี่ทุกคนคงจะรู้ถึงความหมายของสีฟุตบาทแต่ละสีเป็นอย่างดีแล้ว ว่านี่ก็คือเครื่องหมายจราจรเป็นกฎหมายบังคับให้ผู้ใช้รถทุกคนต้องปฏิบัติตามเกี่ยวกับการจอดรถนั่นเอง แต่สำหรับท่านที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน วันนี้เราจะมาอธิบายให้เข้าใจกันว่า สีที่ขอบฟุตบาทแต่ละสีนั้นหมายถึงอะไร ไปดูกันเลย
ความหมายของ สีฟุตบาท
ลักษณะของเส้นจราจรบนพื้นถนน หรือสีข้างขอบฟุตบาท ไม่ว่าจะเป็นเส้นทึบ เส้นประ หรือแม้แต่เส้นตาราง ที่ประกอบไปด้วยทั้งเส้นขาวแดง เส้นขาวเหลือง หรือแถบขาวดำ ก็ล้วนแล้วแต่คือข้อกฎหมายที่ถูกกำหนดไว้ให้ผู้ใช้รถปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ว่าแต่ลักษณะของแต่ละเส้นและแต่ละสีมีความหมายว่าอย่างไร
- สีฟุตบาทเป็นแถบเส้นขาวสลับแดง คือสัญลักษณ์บ่งบอกว่าตลอดทั้งแนวเขตนี้ห้ามหยุดรถ หรือห้ามจอดรถทุกชนิด รวมถึงห้ามหยุดรถ หรือห้ามรับ-ส่งผู้โดยสารชั่วคราวด้วย ดังนั้นผู้ที่ขับรถเป็นประจำ หรือแม้แต่ผู้โดยสารเองก็ตาม เมื่อเห็นสัญลักษณ์นี้ห้ามเรียกรถ หรือทำการหยุดรถตลอดทั้งแนว เพราะนั่นคือการทำผิดข้อกฎหมายและอาจจะส่งผลกระทบต่อการจราจรได้
- สีฟุตบาทเป็นแถบสีขาวสลับเหลือง คือสัญลักษณ์ที่ผู้ใช้รถสามารถหยุดรถตลอดทั้งแนวนี้ได้ แต่เป็นการหยุดได้แค่ชั่วคราวเพื่อทำการรับ-ส่งผู้โดยสาร หรือเพื่อทำการขนถ่ายสินค้าได้เท่านั้น
- สีฟุตบาทเป็นแถบสีขาวสลับดำ คือจุดที่รถสามารถจอดได้ เพียงแต่ว่าจะต้องจอดให้ชิดขอบทาง ในบางกรณีหลายท่านอาจจะสงสัยว่าเคยจอดบริเวณขอบฟุตบาทสีขาวดำแล้วแต่ทำไมถึงโดนจับ นั่นเป็นเพราะว่าท่านอาจจะจอดรถไม่ชิดขอบทาง หรืออาจจะจอดรถซ้อนคัน หรือจอดรถบนคอสะพาน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โดนจับได้ และอีกอย่างถ้าหากขอบฟุตบาทเป็นแถบสีขาวดำแต่มีเครื่องกั้นห้ามจอด ก็ไม่สามารถจอดได้เช่นกัน เพราะนั่นคือเครื่องกั้นที่เจ้าหน้าที่นำมาตั้งไว้เพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่าง แต่เป็นการนำมากั้นเป็นบางช่วงเวลาหรือบางครั้งเท่านั้น
ข้อควรระวังในการจอดรถเพื่อไม่ให้ทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก
บนท้องถนนล้วนแล้วแต่มีสัญลักษณ์การจราจรกำกับเอาไว้อย่างละเอียดว่าสามารถจอดได้หรือไม่ ใช่ว่าเจอช่องว่างข้างถนนก็สามารถจอดรถได้เลย ดังนั้นก่อนจอดที่บริเวณใดก็ตามควรดูป้ายจราจร หรือเครื่องหมายจราจรให้ชัดเจน เพราะถ้าหากคุณเผลอจอดแบบไม่ได้ตั้งใจบนพื้นที่ห้ามจอด คุณตำรวจก็จะสามารถล็อกล้อรถของคุณได้ทันที มาดูกันว่ามีกรณีใดบ้างที่ผู้ใช้รถมักทำผิดกันบ่อย ๆ เมื่อรู้แล้วจะได้ใช้ความระมัดระวังและไม่กระทำผิดอีก เช่น
- จอดรถบนทางเท้า
- จอดรถไม่ชิดขอบทางหรือไม่ขนานกับขอบทาง หรือจอดห่างจากขอบทางเกิน 25 เซนติเมตร
- จอดรถซ้อนคัน
- จอดรถบนเส้นทางข้ามหรือจอดรถอยู่ในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม
- จอดรถบนพื้นที่ที่มีเครื่องหมายห้ามจอด
- จอดรถในระยะ 10 เมตรจากสัญญาณจราจร
- จอดรถบนทางร่วมหรือทางแยก หรือจอดรถในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก
- จอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงจุดหยุดรถประจำทาง หรือจอดในระยะเลยเครื่องหมายไป 3 เมตร
- จอดรถขวางทางเข้า-ออกอาคาร หรือจอดรถในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ
ตัวอย่างที่ดีของการจอดรถ
1. ควรจอดรถในช่องจอดรถ และควรจอดให้ขนานกับเส้นที่กำหนด ไม่ควรล้ำเส้นไปข้างหน้ามากเกินไป พร้อมกับเคลื่อนคันเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่ง P และพับเก็บกระจกด้านข้างให้เรียบร้อยเพื่อให้รถคันอื่นขับขี่ได้สะดวก
2. ควรจอดรถให้ชิดขอบทาง ชิดขอบฟุตบาท โดยเฉพาะบริเวณที่กำหนดสีฟุตบาทเป็นสีขาวดำ หรือชิดกำแพงให้มากที่สุด พร้อมกับหมุนพวงมาลัยให้ล้อหน้าเลี้ยวไปทางขอบทาง เพื่อป้องกันรถไหลไปกีดขวางจราจร
3. เมื่อต้องจอดรถบนช่องทางเดินรถอย่างเช่นริมทาง ควรจอดรถให้อยู่ด้านซ้ายของทางเดินรถเสมอ โดยให้รถอยู่ในลักษณะชิด หรือขนานกับขอบทางในระยะไม่เกิน 25 เซนติเมตร
4. เมื่อจำเป็นที่จะต้องจอดรถขวางช่องทางเดินรถ หรือจอดรถซ้อนคัน ควรปลดเกียร์ว่างและห้ามดึงเบรกมือ เพื่อให้คนอื่นสามารถเข็นรถของเราออกไปได้ แต่ก็ไม่ควรจอดรถบริเวณหัวมุม ทางแคบ หรือทางโค้ง เพราะค่อนข้างมีพื้นที่จำกัดและทำให้กีดขวางการจราจรได้
5. ถ้าหากรถเสีย ควรเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินให้คนอื่นได้รับรู้ หรือควรหาวัสดุที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนนำมาวางไว้ในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร จากตัวรถ จากนั้นก็หาวิธีนำรถออกจากช่องทางเดินรถโดยเร็ว เป็นการช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งต่อตัวเองและเพื่อนร่วมทาง
สุดท้ายนี้ขอแนะนำว่าการขับขี่รถยนต์นอกจากจะต้องเคารพกฎจราจร โดยการไม่จอดในบริเวณที่มี สีฟุตบาท กำกับเอาไว้ว่าห้ามจอดแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยด้วย ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การขับขี่ในระดับความเร็วที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการหมั่นตรวจเช็คสภาพรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และการใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดด้วย อย่างเช่น เรื่องการขับเบียดฟุตบาท ซึ่งอาจจะเป็นเพียงแค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลายคนอาจข้ามไป แต่ถ้าหากเกิดขึ้นแล้วก็สามารถส่งผลทำให้ยางรถยนต์เสียหายได้มากกว่าที่คิด โดยอาจจะทำให้แก้มยางฉีกขาด หรือบวม ซึ่งหากมีอาการแบบนี้แล้วก็ถึงขั้นต้องรีบเปลี่ยนยางเส้นใหม่เลยทีเดียว เพราะถือว่ามีความเสี่ยงที่ยางรถยนต์เส้นนั้นจะแตกหรือระเบิดระหว่างขับขี่ได้
ที่มาข้อมูล: grandprix , chobrod , tidlor , dtc , bolttech , smileinsure