พระแม่คงคา มหาเทวีแห่งสายน้ำ หนึ่งในเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูสู่ความเชื่อของคนไทยซึ่งในแต่ละปีจะมีการไหว้ขอพรและขอขมาพระแม่คงคาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงเทศกาลลอยกระทง รูปเคารพเป็นสตรีที่สง่างาม ท่าทางใจดี สีผิวพระวรกายอ่อน พระหัตถ์หนึ่งทรงดอกบัว อีกพระหัตถ์ทรงพิณอินเดีย หากเป็นรูปสี่พระหัตถ์อาจจะทรงหม้อใส่น้ำอมฤต (หม้อกลัศ) , ประคำ , ศิวลึงค์ , ตรีศูล หรือทรงวรทมุทรา ตามแต่ศิลปะนั้น ๆ เช่น หากเป็นศิลปะของเบงกอล พระแม่คงคาจะมีลักษณะทรงสังข์ , จักร , ดอกบัว และทรงอภัยมุทรา พร้อมทั้งเทน้ำมนต์จากหม้อกลัศ
พระแม่คงคามักจะประทับบนพระวาหนะ (พาหนะ) คือจระเข้ หรือ มกร ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นปลาใหญ่ บ้างก็ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายมังกร โดยตีความกันว่าการประทับบนพระวาหนะที่ดุร้ายนั้นเปรียบเสมือนการเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความเฉลียวฉลาด ทั้งนี้ไม่ได้มีการแบ่งภาคลงมาเกิดจึงไม่มีปางอื่นใด เพียงแต่อาจจะพบเทวลักษณะของพระแม่ที่ปรากฏองค์ร่วมกับพระศิวะในปางคงเคศวรซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะที่มีน้ำไหลออกจากมวยผม
เปิดตำนานพระแม่คงคา เทวีแห่งสายน้ำ ที่ผู้คนเคารพ
เช่นเดียวกับเทพองค์อื่นของฮินดูที่พบว่ามีตำนานจากหลายความเชื่อ เรื่องราวส่วนใหญ่ของพระแม่คงคามักจะปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวทต่างๆ เช่น คัมภีร์รามายณะ คัมภีร์มหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะ เป็นต้น พระองค์เป็นพระธิดาของท้าวหิมวัตและพระนางเมนกา มีน้องสาวคือพระอุมาภควตีหรือพระแม่อุมาซึ่งเป็นพระชายาของพระศิวะ ที่ประทับอยู่ที่วิมานบนสวรรค์ ซึ่งบ้างก็ว่าองค์ท่านประทับอยู่ที่เขาไกรลาศอันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำคงคา
การปรากฏพระองค์อยู่ในมวยผมของพระศิวะ (ปางคงเคศวร) นั้นเล่ากันว่าเมื่อครั้งโลกมนุษย์เกิดความแห้งแล้ง จึงมีการขอให้พระแม่คงคาเสด็จจากสวรรค์ลงมาช่วยบรรเทาทุกข์ แต่ทว่าพลังของท่านแรงเกินกว่าที่โลกมนุษย์จะรับไหว พระศิวะจึงต้องรับพลังจากพระแม่คงคาเสียก่อนโดยให้น้ำไหลผ่านมวยผมขององค์ท่าน น้ำที่ไหลไปทางด้านขวาจะลงสู่แม่น้ำคงคา ส่วนทางซ้ายจะไหลไปจีน ธิเบต หิมาลัย แล้วไหลออกสู่แม่น้ำโขง
บางตำนานก็เล่าว่าครั้งหนึ่งเกิดความแห้งแล้งอย่างหนักทั้งคนและสัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมากเนื่องจากพระแม่คงคาเสด็จหนีออกจากที่ประทับและไม่ยอมปล่อยน้ำลงมาที่โลกมนุษย์ เหล่าเทวะทั้งหลายจึงไปแจ้งเหตุแก่พระศิวะ พระองค์จึงออกตามหาพระแม่จนเจอแล้วให้คืนสายน้ำแก่มนุษย์ พระแม่ไม่ยอมทำตาม พระศิวะเลยต้องบังคับด้วยการใช้พระเกศรัดจนพระแม่ยอมปล่อยสายน้ำออกมา
อีกตำนานกล่าวว่าเมื่อครั้งที่โลกมนุษย์เกิดความลำบากยากแค้น สายน้ำเหือดแห้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนี้ ท้าวภคีรถจึงไปขอพรจากพระพรหมให้แม่น้ำคงคาไหลผ่านลงมายังเมืองมนุษย์ ซึ่งพระพรหมตรัสว่าเป็นหน้าที่ของพระแม่คงคา และเนื่องจากผืนแผ่นดินไม่สามารถต้านทานแรงน้ำได้ ดังนั้นควรไปขอความช่วยเหลือจากพระศิวะด้วย ท้าวภคีรถจึงเฝ้าเพียรภาวนาจนพระศิวะยอมช่วยโดยให้แม่คงคาไหลผ่านมวยพระเกศก่อนที่จะไหลลงสู่เมืองมนุษย์ บางตำนานก็ว่าแม่คงคานั้นไหลเวียนอยู่ที่นิ้วเท้าของพระวิษณุแต่ที่ต้องไหลลงมายังโลกมนุษย์เนื่องจากมีการทำพิธีอัญเชิญโดยเริ่มตั้งแต่สมัยท้าวสักราช สืบต่อมาหลายชั่วอายุคน จนประสบความสำเร็จในสมัยของท้าวภคีรถ
อีกตำนานเล่าว่า พระแม่คงคาเป็นภรรยาลับของพระศิวะ ด้วยความกลัวว่าพระแม่อุมาจะรู้แล้วพิโรธ พระศิวะจึงซ่อนพระแม่ไว้ในมวยผม และเพื่อเป็นการล้างบาปในครั้งนี้ พระแม่จึงปล่อยน้ำออกมาจากพระเกศ
คำขอขมาและคาถาไหว้บูชา พระแม่คงคา
พระแม่คงคา ได้รับความนับถือเป็นเทพผู้ปกป้องสายน้ำ ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยเมตตาจึงเป็นเทพแห่งการให้อภัย การชำระล้างความชั่วและการทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งชาวอินเดียเชื่อว่าแม่น้ำคงคามีความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์เพราะถือกำเนิดมาจากพระแม่คงคา ดังนั้นการได้อาบหรือชำระร่างกายในแม่น้ำคงคาจะช่วยล้างบาป และหนุนนำให้ไปสู่โมกษะหรือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ นอกจากนี้ยังนิยมนำเถ้ากระดูกของบรรพบุรุษมาลอยในแม่น้ำคงคาด้วยเพราะเชื่อกันว่าจะสามารถปลดปล่อยดวงวิญญาณให้ไปสู่โมกษะได้เช่นกัน
ศาสนาฮินดูเชื่อว่าพระแม่คงคาคือสัญลักษณ์แห่งการอยู่ร่มเย็นเป็นสุขจึงมี “ ศิวราตรี ” หรือพิธีกราบไหว้พระแม่คงคา รวมทั้งการเฉลิมฉลองพระแม่คงคาในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ริมฝั่งแม่น้ำคงคา โดยในประเทศไทยได้รับอิทธิพลและความเชื่อนี้จากฮินดู จึงมีการสักการะขอพรและขอขมาต่อพระแม่คงคาในวันเพ็ญเดือนสิบสอง หรือวันลอยกระทง
คำขอขมาพระแม่คงคา
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต
หรือจะกล่าวเป็นภาษาไทยว่า
วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย
ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้
พระแม่คงคา เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต
ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา
ลูกขอขมา อโหสิกรรม ทำกิจใดใด
อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ
ของขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา
อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา
อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา
รับขมาลูก เทอญ
คาถาบูชาพระแม่คงคา
โอม อัคคีคงคานัง วาโยอาโปธรณี นะ มะ พะ ทะ
ทุติยัมปิ อัคคีคงคานัง วาโยอาโปธรณี นะ มะ พะ ทะ
ตะติยัมปิ อัคคีคงคานัง วาโยอาโปธรณี นะ มะ พะ ทะ
สำหรับคนที่อยากชำระล้างบาปแต่ไม่มีโอกาสเดินทางไปประกอบพิธียังแม่น้ำคงคา ก็สามารถทำพิธีไหว้บูชาได้โดยจะต้องกระทำต่อหน้ารูปพระแม่คงคา หรือแม่น้ำสายใหญ่ด้วยการสวดมนต์พระเวทย์และบูชาด้วยการอารตีซึ่งในถาดอารตีนั้นควรจะมีดอกไม้สีส้มหรือสีเหลืองและดอกบัว ผลไม้รสหวาน 5 ชนิด น้ำนม ตะเกียงน้ำมัน กำยาน และขนมหวาน เมื่อกล่าวคำบูชาเรียบร้อยแล้วให้ลอยเครื่องบูชาบางส่วนไปกับสายน้ำ เว้นตะเกียงกับกำยาน เก็บเครื่องบูชาที่เหลือไว้รับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล
ที่มาข้อมูล: komchadluek , dhammathai , facebook , pra9wat , inzpy , brighttv , wikipedia , wikipedia