ในบรรดาเครื่องเขียนที่เรามักหยิบมาใช้งานกันบ่อย ๆ นอกจากพวกปากกาชนิดต่าง ๆ แล้ว ก็มี ดินสอเปลี่ยนไส้ หรือ ดินสอกด (Mechanical Pencil) ที่ใช้งานได้ยาวนานกว่าดินสอไม้ธรรดา เพราะสามารถเติมไส้ดินสอได้ไม่จำกัด แถมยังมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม น้อยคนนักที่จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วดินสอประเภทนี้มีรายละเอียดเชิงลึกให้ศึกษาทำความเข้าใจก่อนเลือกซื้อมากกว่าที่คิด ดังนั้น วันนี้เราก็มีสาระความรู้เกี่ยวกับดินสอเปลี่ยนไส้ รวมถึงเคล็ดลับการเลือกซื้อดินสอที่หลายคนยังไม่เคยรู้มาฝากัน
ดินสอกด มีกี่ประเภท แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร?
สำหรับดินสอกดที่วางขายอยู่ในปัจจุบันนั้น มีเกณฑ์การแบ่งประเภทของดินสออยู่หลายเกณฑ์ มีทั้งแบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิต, แบ่งตามประเภทการใช้งาน และแบ่งตามขนาดของหัวดินสอ โดยสามารถอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- แบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิตด้าม
- ด้ามพลาสติก: เป็นดินสอยอดนิยม มีจุดเด่นอยู่ที่น้ำหนักเบา ราคาถูก แม้จะไม่ทนทานมากนัก แต่ก็ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับเด็กนักเรียนและนักศึกษาทั่วไป
- ด้ามโลหะ: มีจุดเด่นอยู่ที่ความทนทาน ใช้งานได้ยาวนาน เขียนลายเส้นได้มั่นคง เหมาะสำหรับใช้ในการเขียนแบบและงานดีไซน์ต่าง ๆ
- ด้ามไม้: มีจุดเด่นอยู่ที่น้ำหนักกำลังพอเหมาะกับการจับถือ ให้ความรู้สึกกระชับมือ ไม่ลื่นเหมือนด้ามพลาสติกและด้ามเหล็ก
- แบ่งตามประเภทการใช้งาน
- ดินสอใช้งานทั่วไป: เป็นดินสอที่วางขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะราคาไม่แพง เน้นใช้งานเพื่อเขียนหรือจดบันทึกเพียงอย่างเดียว สามารถใช้เขียน ๆ ลบ ๆ ได้หลายครั้ง แต่จะไม่เหมาะสำหรับการใช้วาดรูปหรือเขียนลายเส้นต่าง ๆ
- ดินสอเขียนแบบ: เป็นดินสอแบบพิเศษที่ตัวด้ามได้รับการออกแบบให้รับกับหลักสรีระศาสตร์เพื่อให้ผู้ใช้จับได้อย่างมั่นคง ใช้งานได้เป็นเวลานานโดยไม่เมื่อย ส่วนใหญ่มักจะใช้ในงานออกแบบของสถาปนิกหรือดีไซเนอร์
- แบ่งตามขนาดหัวดินสอ หัวดินสอของ ดินสอกด มีด้วยกันหลายขนาด ซึ่งแต่ละขนาดก็จะเหมาะสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน
- หัวขนาด 0.2 – 0.3 มม. : เหมาะสำหรับใช้วาดภาพที่ต้องการเส้นความละเอียดสูง
- หัวขนาด 0.5 มม. : เหมาะสำหรับการเขียน/วาด ถือเป็นขนาดที่พบได้ทั่วไปในท้องตลาด
- หัวขนาด 0.7 มม. : เหมาะสำหรับงานร่างและงานวาดที่ไม่ต้องการรายละเอียดมาก
- หัวขนาด 0.9 มม. : เหมาะสำหรับการเขียนหรือวาดที่ต้องการเส้นหนาเป็นพิเศษเพื่อให้มองเห็นชัดเจน
- หัวขนาด 1.3 – 2.0 มม. : เหมาะสำหรับเด็กไว้ใช้ฝึกเขียนหรือฝึกวาด
ความแตกต่างของไส้ดินสอ ประเภทต่าง ๆ
เมื่อพูดถึงตัว ดินสอกด ไปแล้ว ลำดับต่อไปก็ต้องทำความรู้จักกับประเภทของไส้ดินสอกดที่อยู่ด้านในกันบ้างว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และแต่ละประเภทเหมาะสำหรับใช้งานด้านไหนบ้าง
- ไส้ HB: หรือเรียกอีกอย่างว่า “ไส้ดำกลาง” เพราะสีของไส้ดินสอจะไม่เข้มจนเกินไป อยู่ในระดับกลาง ๆ แถมยังมีความแข็งแรง หักยาก เหมาะสำหรับใช้จดบันทึกหรือเขียนหนังสือทั่วไป
- ไส้ B: ความเข้มของไส้ดินสอจะอยู่ในระดับกลาง ๆ เหมือน HB แต่จะมีจุดเด่นคือ สามารถลบทำความสะอาดได้ง่ายกว่า ใช้ยางลบธรรมดาลบก็เพียงพอที่จะไม่เหลือร่องรอย ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักวาดรูปมือใหม่
- ไส้ 2B: ไส้ดินสอยอดนิยมที่พบเห็นได้ทั่วไปในท้องตลาด มีความเข้มมากกว่า HB และ B พอสมควร เหมาะสำหรับใช้ในชั้นเรียน หรือในสนามสอบที่ต้องการลายเส้นที่ชัดเจน ลบหรือปลอมแปลงได้ยากเพราะจะเหลือร่องรอยไว้ชัดเจน
- ไส้ดินสอกดสี: เหมาะสำหรับคนที่ชอบจดโน้ตเป็นสีสันต่าง ๆ แต่ไม่อยากพกปากกาหลาย ๆ สี โดยตัวไส้ดินสอสามารถเขียนได้เหมือนไส้ดินสอปกติ แถมยังเขียนได้ดีบนกระดาษ A4 อีกด้วย
เคล็ดลับการเลือก ดินสอกด ให้ได้ของดีในราคาไม่แพง
อย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่า ดินสอกด ที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ณ ปัจจุบันนั้นมีด้วยกันหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากเราไม่อยากเสียเงินซื้อดินสอใหม่บ่อย ๆ ก็ควรเลือกซื้อแบบที่ตอบโจทย์การใช้งานของเรามากที่สุด โดยพิจารณาจากองค์ประกอบดังต่อไปนี้
- รูปทรงของดินสอ
รูปทรงของดินสอถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าเราจะแฮปปี้กับการใช้งานดินสอด้าม ๆ นั้นหรือไม่ เพราะหากดินสอมีรูปทรงที่อ้วนกลมเกินไปก็จะทำให้มือของเราเกิดความเมื่อยล้าได้ง่าย ใช้งานได้ไม่นานก็ต้องวางดินสอ และที่สำคัญคือหัวดินสอจะต้องรับแรงกดมากทำให้แตกง่าย ขณะเดียวกัน หากดินสอมีรูปทรงที่เรียวเล็กเกินไปก็จะทำให้เราจับมือไม่ถนัด เวลาใช้งานก็จะต้องเกร็งข้อมือ ทำให้เมื่อยล้าได้ง่าย แถมลายเส้นที่ได้ก็อาจจะไม่สวยด้วย
- ขนาดของหัวดินสอ
ดินสอแบบกดมีขนาดหัวดินสอตั้งแต่ 0.2 – 0.3 มิลลิเมตร ไปจนถึง 2 มิลลิเมตร ยิ่งหัวดินสอมีขนาดเล็กเท่าไหร่ ลายเส้นที่ได้ก็จะมีขนาดเล็กเท่านั้น โดยหัวขนาดเล็กเหมาะสำหรับคนที่ชอบเขียนหรือวาดภาพที่ต้องการรายละเอียดมาก ๆ แต่ข้อเสียคือ ไส้ดินสอจะค่อนข้างเปราะ แตกหักง่ายมาก ส่วนหัวขนาดใหญ่จะเหมาะสำหรับใช้จดโน้ตเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือวาดรูปลายเส้นใหญ่ ๆ รวมถึงเป็นดินสอหัดเขียนของเด็ก ๆ อีกด้วย
- ปลอกหุ้มด้ามจับดินสอ
ปลอกหุ้มด้ามจับดินสอ (Grip) ถือเป็นส่วนที่รับแรงกดจากมือของเราเวลาจับเขียน ซึ่งปลอกหุ้มที่ว่านี้มีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ “ปลอกแบบนิ่ม” ผลิตจากยางหรือซิลิโคน ข้อดีคือช่วยลดอาการเมื่อยล้าของมือได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียคือไม่ค่อยมีความมั่นคงเวลาเขียน และ “ปลอกแบบแข็ง” ข้อดีคือสามารถจับเขียนได้อย่างมั่นคง ลายเส้นหนักแน่นไม่บิดเบี้ยว แต่ข้อเสียคือ เจ็บนิ้วได้ง่ายหากใช้งานเป็นเวลานาน
- ทดลองเขียนก่อนซื้อ
ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อดินสอด้ามไหน เราควรทดลองเขียนก่อนทุกครั้งเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจับถนัดมือไหม และขนาดของสายเส้นใหญ่หรือเล็ก ซึ่งการทดสอบก่อนซื้อนี้จะช่วยให้เราได้ดินสอที่สามารถใช้งานได้ระยะยาว ไม่ต้องเสียเงินซื้อดินสอใหม่บ่อย ๆ
- ราคาของดินสอ
ราคาของดินสอควรสอดคล้องกับการใช้งาน เช่น หากเราเพียงแค่ต้องการดินสอไว้จดบันทึกหรือเขียนงานเป็นครั้งคราว ก็อาจจะมองหาดินสอที่ราคาไม่แพงมากราว ๆ 20 – 50 บาท แต่หากเราต้องการดินสอที่รองรับการใช้งานเป็นเวลานาน เขียนแล้วไม่เจ็บนิ้ว ไม่เมื่อยมือ ก็อาจจะต้องมองหาดินสอที่มีราคาสูงขึ้นมาประมาณ 100 – 200 บาท
ทั้งหมดนี้คือสาระความรู้เกี่ยวกับ ดินสอกด แบบเปลี่ยนไส้ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ จะเห็นได้ว่าดินสอแต่ละประเภทก็ตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกัน สำหรับใครที่กำลังมองหาดินสอในการทำข้อสอบ อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบมากเป็นพิเศษ เพราะสนามสอบส่วนใหญ่มักกำหนดมาตรฐานไส้ดินสอความเข้มระดับ 2B ขึ้นไปเท่านั้น ฉะนั้น ก่อนเลือกซื้อดินสอและไส้ดินสอทุกครั้งควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีค่าความเข้มถูกต้องตามที่ต้องการ
ที่มาข้อมูล: my-best , bestreview , trueid , my-best