ผู้เลี้ยงสัตว์ย่อมทราบดีว่าปัญหาเรื่อง เห็บหมัด เป็นของอยู่คู่กับสัตว์เลี้ยงมานาน โดยเฉพาะสัตว์ขนเยอะ เช่น สุนัข หรือแมว เป็นต้น และต่อให้แก้ไขปัญหาอย่างไร ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ สร้างความรำคาญใจให้แก่เหล่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้หากสัตว์เลี้ยงมีพาหะเหล่านี้มาอยู่บนตัวนานวันเข้า ก็อาจเกาจนเกิดรอยแผล ทำให้ต้องหาทางรักษาอีก ดังนั้นมาดูกันดีกว่าว่าเราจะจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไร ให้แก้ไขได้ระยะยาว
ปัญหา เห็บหมัด เกิดจากอะไร
ก่อนหาทางแก้ไขเรื่องเห็บหมัดเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องทราบเบื้องต้นว่าหมัดมาอยู่ในบ้านของเราได้อย่างไร ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีที่มาดังนี้
- ติดจากสัตว์ตัวอื่น หากสัตว์เลี้ยงของคุณได้รับการดูแลในบ้านอย่างมิดชิด ไม่ออกไปไหน ปัญหาหมัดอาจเกิดน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงที่ชอบเดินออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะสุนัขที่มักพบปัญหาดังกล่าวได้บ่อยกว่าแมว ซึ่งสัตว์จรมีแนวโน้มเป็นหมัดเยอะกว่าสัตว์เลี้ยงในบ้าน เพราะไม่มีผู้ดูแลเรื่องความสะอาดให้ ทำให้เมื่อสัตว์เลี้ยงเราเดินผ่านก็ติดหมัดได้อย่างง่ายดาย และหมัดมีความสามารถในกระโดดไกลถึง 400 เมตรเลยทีเดียว ดังนั้นต่อให้ไม่มีสุนัขหรือแมวจรเดินผ่านสวนบ้านของคุณที่สุนัขอาศัยอยู่ ก็มีโอกาสที่หมัดจะเกาะตามร่างกายโดยที่คุณมองไม่เห็นเลย
- ติดจากร่างกายของเราเอง เห็บสามารถขึ้นเกาะร่างกายคุณได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเวลาอยู่ใกล้กับสัตว์จร หมัดอาจเกาะอยู่บนเสื้อผ้าหรือกางเกงของเราโดยไม่รู้ตัว และเมื่อคุณกลับไปถึงบ้าน หมัดเหล่านี้อาจกระโดดเกาะใส่สัตว์เลี้ยงเราอีกทีแม้ว่าเลี้ยงในบ้านอย่างดีก็ตาม
- จากสภาพแวดล้อมภายในบ้าน เราสามารถพบหมัดได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าที่มีฝุ่นเกาะเต็มไปหมดโดยไม่ได้ทำความสะอาด ดินหรือสนามหญ้าหน้าบ้าน ก็อาจเจอได้เช่นกัน ซึ่งหมัดหนึ่งตัววางไข่ได้สูงสุด 18 ฟอง และตลอดชีวิตวางไข่ได้รวมถึง 500 ฟอง และหากเราไม่ทำความสะอาดบ้านให้ดี ปล่อยให้มีฝุ่น หรือเศษดินเข้ามาในบ้านบ่อย ๆ หมัดย่อมมีโอกาสวางไข่และแพร่พันธุ์ในบ้านได้ง่าย
อันตรายที่มาพร้อมกับ เห็บหมัด
- โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด เกิดขึ้นเพราะสัตว์เลี้ยงแพ้น้ำลายหมัด ทำให้เกิดอาการคัน ซึ่งเป็นอาการปกติของสุนัขที่โดนหมัดกัดอยู่แล้ว วิธีเบื้องต้นที่เจ้าของช่วยได้ก็คือ พยายามสังเกตดูว่าสุนัขมีอาการคันบริเวณใด และลองแหวกขนบริเวณนั้นดู หากพบหมัดสามารถจับออกได้เลย
- โรคพยาธิเม็ดเลือด อาการพยาธิเม็ดเลือด ส่งผลต่อเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ให้มีปริมาณลดลงและสัตว์เลี้ยงจะง่วงซึม ไม่กินอาหารเป็นเวลาหลายวัน บางตัวรุนแรงจนอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือดได้ เนื่องจากเมื่อเห็บกัดร่างกายของสัตว์เลี้ยงจะปล่อยพยาธิออกมาตามน้ำลายด้วย
- โรคโลหิตจาง เมื่อสัตว์เลี้ยงโดนหมัดเกาะเต็มตามตัวไปหมด โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่มีขนมาก เช่น บางแก้ว, โกลเด้นท์ รีทรีฟเวอร์, ไซบีเรียน ฮัสกี้ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวได้มากกว่าสุนัข หรือแมวพันธุ์ขนสั้น ซึ่งอาการโลหิตจางที่เห็นได้ชัด คือ สีของเหงือกจะซีด หัวใจเต้นเร็ว ในขณะที่อุณหภูมิร่างกายลด หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อถ่ายเลือดโดยทันที
แก้ไขปัญหาด้วยยากำจัด เห็บหมัด
การใช้น้ำยากำจัดเห็บหมัดเป็นวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมั่นใจได้ว่าหมัดจะถูกกำจัดด้วยฤทธิ์ยา ซึ่งรูปแบบของน้ำยากำจัดหมัดมีดังนี้
- ยาชนิดรับประทานและฉีด เหมาะสำหรับรักษาสัตว์เลี้ยงที่มีอาการรุนแรง เช่น โรคพยาธิในเม็ดเลือด ซึ่งยากลุ่มดังกล่าวรู้จักกันในชื่อไอเวอร์เมคติน ทานเพียง 1 เม็ด ให้ผลนานถึง 3 เดือน ออกฤทธิ์เร็ว และไม่ใช่ยาทั่วไปที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงใช้รักษาได้เอง ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน เพราะผลข้างเคียงรุนแรง
- ยาพ่นหรือน้ำยาทาภายนอก สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เช่น ฟรอนการ์ด พลัส หรือ ฟรอท์ไลน์พลัส ซึ่งเป็นชนิดยาหยดเฉพาะจุด เหมาะแก่สัตว์เลี้ยงที่โดนหมัดกัดภายนอก ที่สำคัญหลังใช้ยาภายนอกควรเว้นอาบน้ำประมาณ 1 – 2 วัน เพื่อมั่นใจได้ว่ายาจะทำงานเต็มที่ ไม่โดนน้ำล้างออก
- ยาที่มาในรูปแบบของแชมพู เป็นยาที่ฤทธิ์ไม่รุนแรง เหมาะกับสัตว์เลี้ยงที่แพ้ยากำจัดหมัด หรือสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในวัยไม่ถึง 3 เดือน ที่สำคัญแชมพูกำจัดหมัด ยังช่วยให้ขนของสัตว์เลี้ยงเงางาม มีกลิ่นหอม
ข้อควรรู้ของการใช้ยาจัดการ เห็บและหมัด
- ข้อจำกัดเรื่องอายุของสัตว์เลี้ยง ยาบางชนิดมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าไม่สามารถใช้กับสัตว์เลี้ยงในวัยแรกเกิด ช่วงอายุประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้อย่างยิ่ง เพราะจะเกิดการแพ้อย่างรุนแรง อาทิ อาเจียน น้ำลายไหลมาก รูม่านตาขยาย เดินโซเซไปมา หากสัตว์เลี้ยงอายุยังน้อย แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพรธรรมชาติ จะช่วยบรรเทาอาการได้ดีกว่า
- ชนิดของพันธุ์ ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ที่สามารถใช้ยากำจัดหมัดได้ เช่น สุนัขสายพันธุ์เชพเพิร์ด หรือออสเตรเลียน จะแพ้ยากลุ่มไอเวอร์เมคตินหนักมาก ในขณะที่บางสายพันธุ์ก็ไม่แพ้ยาอะไรเลย ก่อนใช้ยาไม่ว่าจะยากิน ยาทา และยาพ่นจึงควรศึกษาให้ดี และห้ามเก็บยาในจุดที่สัตว์เลี้ยงเข้าถึงได้เพราะอาจจะเผลอกินเข้าไป
นอกจากการใช้ยากำจัดหมัดแล้ว การทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะสุนัขที่ชอบเอาตัวคลุกดิน หรือแมวที่ชื่นชอบการปีนขึ้นต้นไม้ ก็มีโอกาสที่เห็บและหมัดจะเกาะตามตัวได้ทั้งสิ้น
ดังนั้นการหมั่นดูแลทำความสะอาดและไม่ปล่อยให้บ้านและบริเวณบ้านสกปรกเกินไป ก็ช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพสำหรับดูแลสัตว์เลี้ยงที่คุณรักได้เลยที่ร้านค้าออนไลน์ของลาซาด้า
ที่มาข้อมูล: muangakepethospital , frontline , thonglorpet