หากทารกแรกคลอดมีอาการที่ผิวหนังบนใบหน้า ลำตัว แขนขา เล็บ และฝ่ามือฝ่าเท้า ออกสีเหลืองมากกว่าปกติ อาจแปลได้ว่าลูกน้อยมีอาการ ภาวะตัวเหลือง นั่นเอง โดยภาวะนี้ผิวเผินแล้วอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่จำเป็นต้องเอาใจใส่ เพราะมีทั้งภาวะทารกตัวเหลืองชนิดปกติที่จะหายได้เองใน 2 สัปดาห์ และภาวะตัวเหลืองผิดปกติที่เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกันซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อลูกน้อยหลายประการ วันนี้เราจึงจะมาแนะนำทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวรับมือได้อย่างถูกต้อง
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้
ภาวะตัวเหลืองในทารกไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาสุขภาพที่อาจพบในทารกแรกคลอดได้ถึง 50% โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนด สาเหตุเกิดจากการพบว่ามีสารสีเหลือง ซึ่งศัพท์ทางการแพทย์ เรียกว่า บิลิรูบิน เกาะตามร่างกายทำให้สีผิวและสีตาเป็นสีเหลือง
ภาวะตัวเหลือง แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ภาวะตัวเหลืองปกติ และ ภาวะตัวเหลืองผิดปกติ ดังนี้
- ภาวะตัวเหลืองปกติ เกิดจากทารกในครรภ์มีจำนวนเม็ดเลือดแดงมากและมีอายุสั้น เมื่อคลอดออกมาจากครรภ์และเริ่มหายใจด้วยปอดของตัวเองได้ เม็ดเลือดแดงจะเปลี่ยนไปเป็นสารบิลิรูบินจำนวนมาก ซึ่งตับของทารกยังทำงานไม่สมบูรณ์ ยังกำจัดบิลิรูบินได้ไม่มากพอ โดยปกติภาวะตัวเหลืองจากหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่ถ้าทารกกินนมแม่น้อยในช่วงแรกคลอดอาจใช้เวลานานและมีอาการตัวเหลืองมากกว่าปกติ
- ภาวะตัวเหลืองผิดปกติ มีหลายสาเหตุแตกต่างกัน เช่น
- มีภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอนไซม์ G6PD หรือเอนไซม์บางชนิดต่ำกว่าปกติ มักพบในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิง
- หมู่เลือดของแม่กับลูกไม่ตรงกัน ทำให้ร่างกายทารกสร้างสารสีเหลืองมากกว่าปกติ
- ทารกดื่มนมแม่น้อยเกินไป หรือท่าอุ้มให้นมไม่ถูกต้องทำให้น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน ลูกมีภาวะดูดนมยาก หรือเกิดจากคลอดก่อนกำหนด
- สาเหตุจากความผิดปกติอื่น ๆ ที่พบน้อยแต่มีความเสี่ยงสูง เช่น ภาวะตับอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะพร่องไทรอยด์แต่แรกเกิด ภาวะท่อหรือทางเดินน้ำดีตีบตันหรือโป่งพอง
ภาวะตัวเหลือง ส่งผลร้ายต่อทารกอย่างไร
ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจะดูดนมน้อย มีอาการซึม มีไข้ ตัวอ่อนปวกเปียก ชักเกร็งหลังแอ่น ต้องรีบนำไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในทันที ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลร้ายจากการขาดออกซิเจน ภาวะเลือดเป็นกรด น้ำตาลในเลือดต่ำ การได้ยินบกพร่อง การมองเห็นผิดปกติ ร่างกายและแขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติ เนื้อสมองพิการ สติปัญญาลดลง หรือเสียชีวิตได้ สิ่งสำคัญคือต้องดูแลรักษาเพื่อลดระดับสารบิลิรูบินทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงที่ไม่หายขาด
อย่างที่เกริ่นไว้ว่าภาวะตัวเหลืองอาจพบได้มากถึง 50% ของทารกแรกคลอด กรณีสารสีเหลืองไม่สูงมาก ร่างกายทารกจะขับสารสีเหลืองออกมาได้เองจึงไม่ต้องรักษา หากเป็นภาวะที่ตัวเหลืองผิดปกติอาจส่งผลร้ายรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการตรวจสอบทารกเบื้องต้นว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดบนผิวหนังเบา ๆ แล้วแยกนิ้วรีดเลือดออกจากเส้นเลือดฝอยเพื่อสังเกตสีผิวว่าเหลืองผิดปกติหรือไม่ สังเกตบนร่างกายว่ามีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติหรือไม่ หากท้องบวม มีไข้ มีอาการชัก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อวัดระดับบิลิรูบินและเจาะเลือดเพื่อหาสาเหตุของภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด รักษาได้อย่างไร
เมื่อแพทย์ตรวจเลือดทารกพบว่ามีบิลลิรูบินในเลือดสูง หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต้องรีบกำจัดบิลลิรูบินออกจากร่างกาย เรามีวิธีการรักษา ทารกตัวเหลือง มาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน
- วิธีการรักษาคือการส่องไฟแสงสีขาวหรือสีฟ้าเพื่อให้ผิวหนังของทารกสัมผัสกับแสงมากที่สุด โดยแพทย์จะถอดเสื้อผ้าของทารกออกเหลือแต่ผ้าอ้อม จัดท่านอนหงาย ตะแคง หรือคว่ำ โดยเปลี่ยนท่านอนทุก 2-4 ชั่วโมง ปิดตาและอวัยวะเพศของทารกให้สนิทเพื่อป้องกันการระคายเคือง และให้ทารกดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ อุ้มเรอก่อนนำกลับไปนอนอีกครั้ง
- แสงไฟจะเปลี่ยนสภาพของสารสีเหลืองแล้วขับออกทางอุจจาระและปัสสาวะ ทีมแพทย์จะประเมินอาการทุก 4 ชั่วโมง การรักษาด้วยการส่องไฟใช้เวลา 1-2 วัน เพื่อช่วยขับบิลลิรูบินออกทางปัสสาวะมากขึ้น
- ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าอาการไม่ค่อยดีต้องรีบแก้ปัญหาเร่งด่วน จะเปลี่ยนถ่ายเลือดให้ทารกก่อนนำไปส่องไฟต่อ วิธีนี้จะเห็นผลเร็วขึ้น หรือใช้ยากระตุ้นการขับสารบิลลิรูบิน รับประทานวันละ 1 ครั้ง เพียง 2 วันก็เห็นผล ถือว่าปลอดภัยและราคาไม่แพง
ควรดูแลลูกน้อยที่มี ภาวะตัวเหลือง อย่างไร
ภาวะตัวเหลือง ในทารกแรกเกิดเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเกิดกับทารกแรกเกิดด้วยถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรงส่งผลต่อสมองและระบบประสาทอย่างรุนแรง หากทารกแรกคลอดมีภาวะตัวเหลือง แพทย์จะรักษาตามวิธีข้างต้นและนัดคุณพ่อคุณแม่ให้พาลูกน้อยมาตรวจติดตามอาการ ในกรณีที่นำทารกกลับบ้านไปแล้วมีอาการตัวเหลือง หรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม ท้องอืด ปัสสาวะสีน้ำตาลเข้มหรืออุจจาระสีซีด ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที ภายหลังการรักษาด้วยการส่องไฟอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ทารกเสียน้ำมากทำให้มีไข้ ต้องคอยดูแลเช็ดตัวลดไข้ให้ อาจเกิดผื่นแดงขึ้นตามลำตัวเพราะผิวระคายเคืองจากการส่องไฟ หรืออาจถ่ายเหลวด้วย เมื่อหยุดรักษาโดยการส่องไฟ อาการจะดีขึ้น สิ่งที่ต้องระวังมากคือแสงไฟทำให้ดวงตาระคายเคือง จึงต้องปิดตาให้มิดชิดขณะส่องไฟ
หากลูกมีอาการภาวะตัวเหลือง ควรได้รับการดูแลอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการรักษาคือการส่องไฟตามมาตรฐาน ไม่ควรถอดเสื้อผ้าทารกออกเพื่อนำออกไปรับแสงแดดโดยตรง เพราะผิวทารกอาจถูกแดดเผาไหม้หรือเด็กอาจเจ็บป่วยได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้คุณพ่อคุณแม่วางใจได้ เพราะสำหรับทารกที่มีภาวะตัวเหลืองเมื่อหายดีแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ การดูแลรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ทารกที่มีระดับบิลิรูบินสูงสามารถหายดี กลับมาแข็งแรงเร็วไวโดยไม่เกิดผลกระทบที่เป็นอันตราย
ที่มาข้อมูล: si.mahidol , sikarin , hpc.go , pharmacy.mahidol