หากบ้านใครมีเด็กเล็ก คนท้อง และผู้สูงอายุ ไอเทมในห้องน้ำที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ แผ่นกันลื่น ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหกล้ม เนื่องจากพื้นห้องน้ำมีลักษณะผิวที่แข็ง เมื่อเจอกับสารสบู่ หรือแชมพูที่มีเนื้อสัมผัสลื่น จะทำให้พื้นห้องน้ำลื่นมาก ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลกลุ่มดังกล่าวได้สูง ยิ่งไปกว่านั้นถ้าห้องน้ำใครไม่มีที่จับเพื่อยึดเกาะเลย ยิ่งควรต้องใช้งานแผ่นป้องกันลื่นร่วมด้วย
วิธีเลือกซื้อ แผ่นกันลื่น เพื่อให้มีประสิทธิภาพการป้องกันสูงสุด
- เลือกใช้ขนาดของแผ่นกันลื่นที่ใหญ่พอดีกับเนื้อที่ห้องน้ำ
การใช้งาน แผ่นกันลื่น ขนาดเล็ก หรือไม่พอดีกับเนื้อที่ห้องน้ำ อาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ดีนัก หากแผ่นดังกล่าววางในพื้นที่น้อยเกินไป จะมีพื้นที่ยืนได้จำกัด ก่อให้เกิดเหตุการณ์สะดุดแผ่นกันลื่นได้ ยิ่งก่อนให้เกิดเหตุอันตรายได้ขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อเด็กเล็กใช้งานที่มักซุกซนเดินไปมาในห้องน้ำ ซึ่งมีโอกาสเกิดการหกล้มจนศีรษะกระแทกกับสุขภัณฑ์ห้องน้ำได้ จึงเป็นการดีที่สุดหากผู้ปกครองวางแผ่นป้องกันลื่นให้เต็มพื้นที่ห้องน้ำ
- ระดับความสูงไม่มากเกินไป
แผ่นป้องกันลื่นที่ดี ไม่ควรสูงกว่าพื้นห้องน้ำมากนัก เพราะผู้ใช้งานจะกะจังหวะก้าวเท้ายากเมื่อต้องเดินออกจากประตูห้องน้ำ ทำให้อาจหกล้มได้ แถมการปูแผ่นดังกล่าว หากไม่ปูทั้งพื้นห้องน้ำ กล่าวคือ มีทั้งพื้นที่ที่ปูแผ่น และไม่ได้ปู จะอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจสะดุดเข้ากับแผ่นที่สูงกว่าระดับพื้นได้
- มีรูระบายน้ำ
หากไม่มีรูระบายน้ำบนแผ่น ก็มีสิทธิ์เกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้งาน เพราะน้ำสบู่จะท่วมไปทั่ว จนอาจหกล้มบนแผ่นทั้งที่คุณยืนอยู่ได้เลย แต่แผ่นป้องกันลื่นที่มีรูระบายน้ำ จะช่วยไม่ให้หกล้มได้ดีกว่า และรูระบายน้ำช่วยไม่ให้เกิดสิ่งสกปรกหมักหมมบนแผ่นป้องกันลื่นมากเกินไป ลดการเกิดคราบสะสมที่อาจทำให้ผู้เข้าห้องน้ำลื่นได้ง่าย
- วัสดุไม่อมน้ำ และนุ่ม
วัสดุของแผ่นป้องกันลื่นควรทำมาจากพลาสติก เพราะมีคุณสมบัติไม่อมน้ำ และผิวสัมผัสนุ่มกว่าผ้า ทำให้ผู้ใช้งานเดินแล้วรู้สึกสะดวกสบาย แถมไม่ต้องคอยนำไปตากแดดให้แห้งอยู่บ่อยๆ ที่สำคัญพลาสติกยังมีความทนทาน ช่วยให้ใช้งานได้นาน
- ไม่ขยับไปมา
แผ่นรองพื้นกันลื่นที่ขยับไปมาย่อมเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานแน่นอน ซึ่งการวางแผ่นกันลื่นให้พอดีกับพื้นที่ห้องน้ำนั้นมีส่วนช่วยให้แผ่นกันลื่นไม่ขยับไปมา สำหรับแผ่นกันลื่นที่ดีควรมีขารองด้านล่างซึ่งขารองด้านล่างนี้จะเป็นตัวยกให้แผ่นกันลื่นสูงขึ้น จะทำให้พื้นที่การยืนไม่ชื้นแฉะ เมื่อผู้ใช้งานเดินบนแผ่นกันลื่นในห้องน้ำ ก็จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ ในขณะที่พื้นห้องน้ำที่ไม่ได้มีขารองสำหรับกันแรงเสียดทาน ย่อมขยับตามแรงเดินได้ง่ายเพราะน้ำบางส่วนจะขังอยู่ใต้แผ่นกันลื่น ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ที่อาจเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น
วิธีทำความสะอาด แผ่นรองพื้นกันลื่น ที่ควรรู้
แม้ว่าแผ่นรองพื้นกันลื่น จะใช้งานในห้องน้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื้อโรคเชื้อรา ก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เนื่องจากสิ่งสกปรกมาจากน้ำที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย เป็นน้ำสกปรกผ่านการใช้งานมาแล้ว เมื่อระยะเวลาผ่านไปสักระยะ สิ่งสกปรกที่มากับน้ำก็จะแห้งติดกับแผ่นป้องกันลื่น โดยเฉพาะส่วนรูระบายที่สามารถมองเห็นคราบสกปรกได้ชัดเจน หากปล่อยไว้ก็จะไม่ดีต่อสุขอนามัยของผู้ใช้ห้องน้ำ จำเป็นอย่างยิ่งต้องทำความสะอาดให้หมดจด ซึ่งขั้นตอนการทำความสะอาดมีดังนี้
- ถอดทำความสะอาด การทำความสะอาดแผ่นป้องกันลื่น ควรถอดออกมาล้างทีละชิ้น ไม่ควรล้างด้วยการเทสบู่ หรือน้ำยาลงบนแผ่นกันลื่นแล้วฉีดน้ำแรงดันสูงชะล้าง เพราะมีโอกาสที่แผ่นด้านใต้ และรูระบายน้ำสกปรกอยู่ จึงควรถอดแผ่นรองพื้นออกมาทีละชิ้น จากนั้นนำแผ่นรองพื้นทั้งหมดไว้ในกะละมัง เปิดน้ำ แล้วเทน้ำยาฟอกขาว หรือน้ำยาทำความสะอาดตามที่สะดวกเทใส่ลงไปในกะละมัง หากต้องการให้คราบเชื้อราออกไปอย่างหมดจด ควรแช่ทิ้งไว้เป็นเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เมื่อแช่จนถึงระยะเวลาที่ต้องการ ให้ใช้แปรงขัดให้ทั่วทีละแผ่น และในกรณีที่ต้องการทำความสะอาดเพียงไม่กี่แผ่น สามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าคู่กับเสื้อผ้าได้เช่นกัน เพราะคุณสมบัติของแผ่นรองพื้นมีความยืดหยุ่นสูง จึงใช้งานกับเครื่องซักผ้าได้ แต่อย่าใส่ในจำนวนที่มากเกินไป
- ตากให้แห้ง เมื่อถอดทำความสะอาดเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการผึ่งแดดให้แห้ง ซึ่งสามารถตากแดดเหมือนผ้าได้เลย แต่อย่าวางแผ่นรองพื้นซ้อนกัน เพราะแผ่นด้านล่างอาจไม่แห้งสนิท และเกิดเชื้อราได้
ถึงแม้ว่าแผ่นรองพื้นกันลื่นจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ในระดับหนึ่ง แต่การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุและเด็กเล็กก็ยังต้องใช้ควบคู่กันไป เช่น เปลี่ยนกระเบื้องให้พื้นผิวฝืดมากขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้พื้นห้องลักษณะเงางาม ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยจับยามฉุกเฉินมากขึ้น ได้แก่ ราว หรือลูกบิดประตูแบบจับ และลดการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีมุม/เหลี่ยมตามขอบ ก็ช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการกระแทกรุนแรงได้
ที่มาข้อมูล: wikihow , elehotelproducts , my-best