บัตรประชาชน ถือเป็นเอกสารสำคัญที่คนไทยทุกคนต้องพกติดกระเป๋าตลอดเวลา เพราะบัตรใบนี้เป็นสิ่งที่ทางภาครัฐออกให้กับประชาชนชาวไทยเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนเข้าใช้บริการและรับสิทธิ์ต่าง ๆ ในฐานะคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมทางการเงิน การเข้ารับบริการในโรงพยาบาล การติดต่อหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน และการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงเกณฑ์อายุที่ต้องไปทำบัตรประจำตัวประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนส่วนใหญ่จะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่จะได้บัตรประจำตัวประชาชนใบแรก แต่ปัจจุบันสามารถทำที่ไหนบ้างนั้น มาดูกันเลย
ทำบัตรประชาชน ทำที่ไหนได้บ้าง
ตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่กำหนดให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) อายุตั้งแต่ 7 – 70 ปีขึ้นไป จะต้องทำบัตรประชาชน หากอายุมากกว่านั้นจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำบัตรประชาชนสำหรับสถานที่ที่สามารถเดินทางไปทำบัตรประจำตัวประชาชนมีดังต่อไป
- สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล สำนักบริหารการทะเบียน
สถานที่ราชการที่ทำหน้าที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ให้กับคนไทยในทุกกรณี ทั้งทำบัตรครั้งแรก เปลี่ยนข้อมูลทำบัตรใหม่ บัตรหมดอายุ บัตรชำรุด และบัตรสูญหาย ได้แก่ สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล สำนักบริหารการทะเบียนของกรมการปกครอง ซึ่งในอดีตต้องทำที่สำนักงานเขตที่ตัวเองมีชื่ออยู่เท่านั้น แต่เพื่อเพิ่มความสะดวกในปัจจุบันสามารถดำเนินการนอกเขตที่อยู่อาศัยได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่เปิดให้ดำเนินการเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนในเวลาราชการ วันจันทร์ถึงศุกร์ หยุดวันนักขัตฤกษ์ ยกเว้นสำนักงานเขตกรุงเทพฯ จะเปิดให้บริการในวันเสาร์เพิ่มด้วย
- สถานีรถไฟฟ้า
สำหรับสถานีรถไฟฟ้าที่เปิดบริการทำบัตรประจำตัวประชาชนมีด้วยกันทั้งสิ้น 4 สถานี ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าสยาม (หน้าห้างสยามพารากอน) สถานีหมอชิต (ทางออก 2) สถานีอุดมสุข (ใกล้จุดบริการแลกเหรียญ) และสถานีวงเวียนใหญ่ (ทางออก 1) โดยจะเปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุดราชการ เปิดให้บริการเวลา 10.00 – 18.30 น. ยกเว้นสถานีสยามพารากอนในวันธรรมดาจะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.30 – 19.00 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์เปิดให้บริการเวลา 10.00 – 18.00 น.
อย่างไรก็ตามการ ทำบัตรประชาชน BTS ให้บริการเฉพาะกรณีทำบัตรครั้งแรก บัตรหมดอายุไม่เกิน 1 ปี เปลี่ยนข้อมูล คัดสำรองบัตรประจำตัวประชาชนหรือทะเบียนบ้าน และทำบัตรใหม่กรณีชำรุดเท่านั้น
เอกสารที่ต้องใช้ในการทำ บัตรประชาชน กรณีต่าง ๆ
นอกจากต้องรู้จุดทำบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ เอกสาร เพราะการทำบัตรประชาชนแต่ละกรณีจะใช้เอกสารแตกต่างกัน ส่วนจะใช้เอกสารอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย
- กรณีทำบัตรประชาชนครั้งแรก ได้แก่ สูติบัตรหรือเอกสารแสดงตัวตนที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ของเด็กที่ต้องการทำบัตร ทะเบียนบ้านตัวจริงของเด็ก และบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ปกครอง แต่หากเด็กและผู้ปกครองมีการเปลี่ยนชื่อนามสกุลต้องนำเอกสารเปลี่ยนชื่อนามสกุลมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนกรณีผู้ทำบัตรประจำตัวประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ทำบัตรเป็นครั้งแรกต้องนำเจ้าบ้านและบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างน้อย 2 คน เพื่อทำหน้าที่รับรองให้กับเจ้าของบัตรด้วย สำหรับการทำบัตรประชาชนครั้งแรกจะไม่มีค่าธรรมเนียมในการบริการ
- กรณีบัตรประชาชนใบเดิมหมดอายุ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนใบเดิมที่หมดอายุ โดยต้องดำเนินการภายใน 60 วัน นับจากวันที่บัตรเดิมหมดอายุ สำหรับการทำบัตรใหม่เนื่องจากบัตรใบเดิมหมดอายุจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากเกินกำหนดต้องนำเจ้าบ้านและบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างน้อย 2 คน มารับรองด้วย พร้อมกับเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท
- กรณีบัตรหาย ได้แก่ เอกสารทางราชการที่มีรูปถ่ายของผู้ต้องการทำบัตรใหม่ อย่างใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือหลักฐานการศึกษา แต่หากไม่มีเอกสารดังกล่าวสามารถนำเจ้าบ้านและบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างน้อย 2 คน มารับรองแทนได้ สำหรับการออกบัตรใหม่กรณีบัตรหายต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังบัตรหาย และเสียค่าธรรมเนียม 100 บาท
- กรณีบัตรชำรุด ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดิมที่ชำรุด เอกสารทางราชการที่มีรูปถ่ายของผู้ต้องการทำบัตรใหม่ กรณีไม่มีบัตรใบเดิมและเอกสารทางราชการที่ยืนยันตัวตนได้ ให้นำเจ้าบ้านและบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างน้อย 2 คน มารับรองแทนได้ สำหรับการออกบัตรใหม่กรณีบัตรชำรุดต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังบัตรชำรุด เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท แต่ถ้าเกินกำหนดเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท
- กรณีเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดิมและหลักฐานการเปลี่ยนชื่อนามสกุล สำหรับการออกกรณีเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังเปลี่ยนชื่อนามสกุล เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท ถ้าเกินกำหนดเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาทเช่นเดียวกัน
เคล็ดลับน่ารู้เกี่ยวกับการทำ บัตรประชาชน ในปี 2566
ถึงแม้ว่าปัจจุบันการทำ บัตรประชาชน จะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสามารถทำในเขตที่ตัวเองอยู่หรือนอกเขตก็ได้ ทั้งยังมีสถานที่ ทำบัตรประชาชน BTS อีกด้วย แต่เพื่อให้การทำบัตรเป็นเรื่องง่ายกขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า วันนี้เรามีเคล็ดลับน่ารู้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝาก รับรองว่าสะดวกขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
- อยากทำบัตรใหม่แนะนำให้จองคิวทำบัตรประชาชนล่วงหน้าได้ทุกสำนักงานเขตทั่วประเทศผ่านเว็บไซต์ https://Q-online.bora.dopa.go.th แต่ในกรณีทำในเขตกรุงเทพฯ ให้จองผ่านแอปพลิเคชัน BMAQ ซึ่งหลังจากจองเรียบร้อยผู้ลงทะเบียนจะได้รับ QR Code สามารถนำไปแสดงในวันนัดหมายและเข้ารับบริการได้เลย
- กรณีทำบัตรประจำตัวประชาชนหายไม่ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่ให้เตรียมเอกสารไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตได้เลย
- จุดให้บริการด่วนมหานคร (Bangkok Express Service) หรือจุดให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนบนสถานีรถไฟฟ้า BTS ไม่รับบริการกรณีบัตรหาย หากทำบัตรหายต้องดำเนินการที่สำนักงานเขตเท่านั้น
- ไม่ว่าจะทำบัตรประจำตัวประชาชนที่สำนักงานเขตหรือสถานีรถไฟฟ้า BTS ควรตรวจสอบประกาศข้อมูลการให้บริการก่อนทุกครั้ง เนื่องจากวันเวลาให้บริการอาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำบัตรประจำตัวประชาชนที่เรานำมาฝาก ซึ่งจะเห็นว่าการทำบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะทำที่สำนักงานเขตไหนก็ได้ ทั้งยังมีระบบจองล่วงหน้า ทำให้ประชาชนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล: Thairath , It24hrs , Landprothailand , Sanook , Ananda , Bangkokbiznews , Punpro , Punpro , Trueid