เชื่อว่าในหมู่คนที่รักสุขภาพและให้ความสำคัญกับการนอนหลับพักผ่อนหรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่ประสบกับปัญหานอนไม่หลับจะต้องคุ้นหูดีกับ เมลาโทนิน ( Melatonin ) สารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าเมลาโทนินกันให้มากขึ้นว่าแท้ที่จริงแล้วมันคืออะไร เกี่ยวข้องกับการนอนของเราอย่างไร ที่สำคัญเลยมันช่วยให้นอนหลับได้จริงหรือเปล่า ไปหาคำตอบพร้อมกันได้เลย
เมลาโทนิน คืออะไร
เมลาโทนินหรือMelatoninเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายของเราสร้างขึ้นได้เองจากในสมองบริเวณต่อมไพเนียล เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกง่วง กระบวนการหลั่งเมลาโทนินสัมพันธ์กับแสง โดยตามธรรมชาติฮอร์โมน เมลาโทนินจะหลั่งออกมาในช่วงเวลาหัวค่ำที่ไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์ เราจึงรู้สึกง่วงและพร้อมจะเข้านอน ซึ่งเมลาโทนินจะหลั่งสูงขึ้นและอยู่ในร่างกายไปอย่างน้อย 12 ชั่วโมง แล้วจะค่อย ๆ ลดลงในตอนเช้าพร้อมกับแสงของวันใหม่ ด้วยเหตุนี้เมลาโทนินจึงขึ้นชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งการนอน
กระบวนการหลั่งเมลาโทนินในร่างกายเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติ หรือ Biological Clock เว้นเสียแต่ว่าวัฏจักรดังกล่าวถูกรบกวนหรือมีปัจจัยอื่นใดมายับยั้งกระบวนการหลั่งของเมลาโทนินก็จะส่งผลทำให้เรานอนหลับยากและอาจจะหนักถึงขั้นที่กลายเป็นโรคนอนไม่หลับเลยก็ว่าได้
ปัจจัยที่รบกวนการหลั่ง Melatonin
ปัจจัยที่มากระตุ้นการทำงานของ Melatonin ในร่างกายนั้นอย่างแรกเลยก็คือการที่เรานอนไม่เป็นเวลา นอนดึกตื่นบ่าย หรือบางทีนอนตอนเช้าไปตื่นอีกทีช่วงค่ำ พฤติกรรมลักษณะนี้จะส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินรวน สะสมไปนาน ๆ เข้าจะทำให้กลายเป็นคนหลับยาก และที่สำคัญยังอาจส่งผลร้ายต่อร่างกายเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย
นอกจากการนอนดึกหรือนอนไม่เป็นเวลาแล้วปัจจัยที่ทำให้การหลั่งเมลาโทนินน้อยลงก็คือแสงสว่าง เพราะเมลาโทนินจะหลั่งออกมาได้ดีในช่วงมืด แต่ถ้าเรามีพฤติกรรมจ้องหน้าจอก่อนนอนหรือต้องไปอยู่ในที่ที่มีแสงไฟก็จะทำให้เมลาโทนินหลั่งออกมาน้อยเราก็จะนอนหลับยากขึ้น ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์เมลาโทนินแบบสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการนอน
เมลาโทนินสังเคราะห์แบบรับประทานดีจริงหรือ
เมลาโทนินสังเคราะห์ (Melatonin supplement ) ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบเจลลี่กัมมี่ที่ใช้อมละลายในปากและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทันที และแบบเม็ดรับประทาน ซึ่งจะค่อย ๆ ออกฤทธิ์ผ่านทางเดินอาหารช้า ๆ ในประเทศไทยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้เฉพาะผลิตภัณฑ์เมลาโทนินในรูปแบบเม็ดรับประทานเท่านั้น วิธีใช้ก็คือจะรับประทานก่อนเข้านอนประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จากนั้นให้งดการดูหน้าจอ ปิดไฟสลัว ๆ และผ่อนคลายร่างกาย จะช่วยให้เริ่มง่วงและนอนหลับได้สนิท
ผลข้างเคียงจากการรับประทาน เมลาโทนิน
แม้ว่าเมลาโทนินสังเคราะห์จะมีประโยชน์ช่วยให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่การรับประทานเมลาโทนินสังเคราะห์ไปนาน ๆ อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกับร่างกายได้ ดังนี้
- ง่วงระหว่างวัน หากเรารับประทานเมลาโทนินเข้าไปหรือรับประทานสะสมติดต่อกันอาจจะทำให้เมลาโทนินสลายออกจากร่างกายไม่ทัน เมลาโทนินที่สลายไม่หมดจะหลงเหลืออยู่ในกระแสเลือดซึ่งจะส่งผลให้เราเกิดอาการง่วงนอนระหว่างวัน ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลง
- ปวดศีรษะ ผลกระทบจากการใช้เมลาโทนินจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือบางรายอาจจะมีอาการเวียนศีรษะในลักษณะบ้านหมุน เพราะเมลาโทนินที่รับประทานเข้าไปอาจจะไปตีกับเมลาโทนินที่ร่างกายสร้างออกมา ซึ่งเป็นการรบกวนให้ปริมาณเมลาโทนินในร่างกายรวน
- ติดเมลาโทนิน การรับประทานเมลาโทนินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจจะทำให้ร่างกายของเราผลิตเมลาโทนินตามธรรมชาติออกมาน้อยลง เราจึงต้องอาศัยเมลาโทนินสังเคราะห์อย่างเดียวเพื่อช่วยในการนอนหลับ ซึ่งจะทำให้เราติดมันได้ในที่สุด เพราะหากไม่รับประทานจะทำให้มีปัญหาการนอน นอนหลับไม่สนิท และนอนไม่หลับได้
- กระตุ้นโรคประจำตัว ผู้ป่วยโรคประจำตัวอย่างโรคซึมเศร้าหากรับประทานเมลาโทนินจะทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลง ผู้ป่วยโรคเบาหวานเมลาโทนินอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเมลาโทนินอาจไปเพิ่มระดับความดันโลหิตได้ คนที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติเมลาโทนินอาจทำให้อาการเลือดออกแย่ลง เป็นต้น
- อันตรายต่อทารกในครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรรับประทานเมลาโทนิน เพราะมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อพัฒนการการเจริญเติบโตของลูกน้อยได้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับสาระดี ๆ วันนี้ หวังว่าข้อมูลเกี่ยวกับ Melatonin ที่เรานำมาฝากนี้จะมีประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการรับประทานเมลาโทนินในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในทางที่ดีแนะนำว่าควรพึ่งพาเมลาโทนินตามธรรมชาติจากร่างกายของเราจะดีกว่าเมลาโทนินสังเคราะห์ เพราะจะได้ไม่เสี่ยงกับผลข้างเคียงในอนาคต อาศัยการทำให้ร่างกายผ่อนคลาย งดกิจกรรมน่าจอ เท่านี้ก็ช่วยให้เราพร้อมเข้านอนได้ง่ายขึ้นแล้ว
ที่มาข้อมูล: dric.nrct , pharmacy.mahidol