ในปัจจุบันนี้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากมายออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากนั่นก็คือ หญ้าหวาน หรือ สตีเวีย (Stevia) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีรสชาติหวานแต่ไม่ทำให้อ้วน นิยมนำมาใช้แทนน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นแบบสด แบบแห้ง แบบผง และแบบสำเร็จรูปไว้สำหรับชงเป็นชา
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หากต้องตัดความหวานออกจากอาหารเลยก็เป็นเรื่องที่ยาก วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักและประโยชน์ของหญ้าหวาน ตัวช่วยที่จะทำให้เพื่อน ๆ รับประทานของหวานต่อไปได้อย่างมีความสุขไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำตาลจะสูงเกินไป
หญ้าหวาน คืออะไร
มาเริ่มทำความรู้จักหญ้าหวานกันก่อนค่ะ หญ้าชนิดนี้นิยมปลูกในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน มีลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ย ๆ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย เมื่อนำใบมาต้ม หรือเคี่ยว จะได้น้ำที่มีรสชาติหวาน
ใบของหญ้าชนิดนี้สามารถให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 150 – 300 เท่า ไม่มีคุณค่าทางอาหาร ไม่ให้พลังงาน หรือ 0 แคลอรี่นั่นเอง นิยมนำมาทำเป็นสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล ปัจจุบันมีการนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น เครื่องดื่ม ยาสมุนไพร น้ำเชื่อมหญ้าหวาน และด้านการแพทย์เอาไว้ใส่ในเครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและคนรักสุขภาพ
สรรพคุณของ หญ้าหวาน ใช้ทดแทนน้ำตาลสำหรับผู้รักสุขภาพ
- แคลอรี่ต่ำ สรรพคุณที่โดดเด่น คือ สมุนไพรชนิดนี้เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพในการลดปริมาณน้ำตาล มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้ สามารถให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งโดยปกติแล้วน้ำตาล 1 ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ 45 แคลอรี การใช้สารสกัดแทนน้ำตาลช่วยให้คุณอิ่มและรู้สึกพึงพอใจโดยที่ได้รับแคลอรีน้อยลง จึงเป็นทางเลือกที่ดีเลยทีเดียวสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน
- ลดความเสี่ยงของการเกิดดันโลหิตสูง การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมากเกินความต้องการจะทำให้เป็นโรคอ้วนได้ เนื่องจากน้ำตาลที่ล้นเกินความต้องการจะสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ การลดปริมาณน้ำตาลและหันมาใช้สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูง ช่วยให้สามารถรับประทานอาหารได้หลากหลายขึ้น แถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานน้ำตาลมากเกินไป จะทำให้อินซูลินที่มีหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดถูกผลิตออกมาเกินความจำเป็น ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะมีภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงได้ง่าย จึงควรระมัดระวังการบริโภคน้ำตาล รวมถึงการรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไป เพราะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ การบริโภคน้ำตาลแบบไม่มีแคลอรีช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ได้
- ลดความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินและเบาหวาน สาเหตุสำคัญของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเกิดจากการได้รับพลังงานจากจากการรับประทานอาหารเกินความจำเป็นของร่างกาย เช่น อาหารประเภทแป้งและน้ำหวานที่มีน้ำตาลปริมาณมาก แม้ว่าของหวานจะอร่อย แต่หากรับประทานมากไปก็เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากได้รับพลังงานมากเกินกว่าที่ร่างกายเผาผลาญ จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันส่วนเกิน เป็นสาเหตุของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
- ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับอ่อน หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสารสกัดจากหญ้าหวานช่วยป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตจากเนื้องอกต่าง ๆ ในร่างกาย สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับอ่อนได้ถึงร้อยละ 23
- ช่วยป้องกันฟันผุ อีกหนึ่งสรรพคุณที่หลายคนคาดไม่ถึง คือหญ้าหวานเป็นตัวช่วยให้ฟันของเราสวยงาม เนื่องจากหญ้าชนิดนี้เป็นสารให้ความหวานที่ไม่ใช่คาร์โบไฮเดรต จึงช่วยลดจำนวนแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฟันผุและลดการเกิดหินปูนได้ เพราะไม่ใช่อาหารของเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก
ข้อควรรู้ก่อนรับประทานหญ้าหวาน
- ห้ามรับประทานใบหญ้าหวานดิบ เพราะอาจะเป็นอันตรายต่อระบบต่าง ๆ หรืออวัยวะในร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นไต ระบบสืบพันธุ์ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ก่อให้เกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีอาการชาตามร่างกาย จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้
- สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อน หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานหญ้าหวาน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยในสตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรหากบริโภค
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต และโรคความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน ถึงแม้ว่าจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่หากรับประทานมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ และควรหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หากมีอาการผิดปกติควรเข้าพบแพทย์ทันที
- ผู้ที่แพ้พืชในตระกูลเดียวกับหญ้าหวาน เช่น เบญจมาศ ดาวเรือง และเดซี่ เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงเพราะมีความเสี่ยงที่อาจจะมีอาการแพ้หญ้าหวานได้
เป็นยังไงกันบ้าง กับสรรพคุณของ หญ้าหวาน รู้แบบนี้แล้วก็อย่ารอช้า รีบบอกลาน้ำตาลทรายที่บ้าน แล้วรีบไปหาซื้อหญ้าหวานมาแทน อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม หรือการประกอบอาหาร ควรอ่านฉลากและใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ซึ่งถึงแม้ว่าหญ้าหวานจะให้ความหวานแทนน้ำตาลได้โดยไม่มีแคลอรี แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ อย่าให้ร่างกายติดความหวานเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็จะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้
ที่มาข้อมูล: dtam , pobpad , liveandfit