โลกใต้น้ำ เป็นโลกอีกโลกหนึ่งที่เหมือนกับอยู่ต่างมิติกับเรา เมื่อเราดำดิ่งลงสู่โลกสีคราม ก็จะได้พบกับสิ่งมีชีวิตมากมายที่ไม่คุ้นเคย รายล้อมไปด้วยความเงียบงันของโลกไร้เสียง ได้เห็นแนวปะการังหนาทึบเหมือนป่าในทะเลที่มีความมหัศจรรย์ของรูปร่างและสีสัน ซึ่งนอกจากจะสร้างความพึงพอใจที่ได้สัมผัสด้วยสองตาและสองมือแล้ว นักดำน้ำจำนวนมากยังบอกว่า การลงไปใต้น้ำนั้นช่วยเยียวยาจิตใจ ทำให้เกิดความสงบ และเติมพลังชีวิตให้กลับมาสู้ต่อในโลกบนบกอันวุ่นวายได้เป็นอย่างดี จนทำให้หลาย ๆ คนหลงใหลจนกลับไป ดำน้ำ ยังโลกใต้น้ำครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีเบื่อ
ประเภทของการ ดำน้ำ
ถ้าคุณตกลงใจว่าจะลงไปสำรวจโลกใต้น้ำกันเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเลือกประเภทของการ ดำน้ำ ที่เหมาะกับคุณ การดำน้ำในปัจจุบันนั้นจะแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ
1. Snorkeling
Snorkeling เป็นการลอยตัวอยู่บนผิวน้ำโดยใช้หน้ากากดำน้ำที่มีท่อหายใจโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ช่วยให้หายใจเวลาอยู่ใต้น้ำได้สะดวก หน้ากากดำน้ำ ในปัจจุบันมีทั้งแบบแยกชิ้นกับท่อหายใจ และ หน้ากากดำน้ำแบบเต็มหน้า ที่มีท่อหายใจเป็นส่วนหนึ่งของหน้ากาก ช่วยให้ใช้งานได้สะดวก นักดำน้ำต้องใส่เสื้อชูชีพเพื่อช่วยในการลอยตัวบนผิวน้ำ และตีนกบเพื่อช่วยให้การว่ายน้ำไปมาทำได้สะดวกขึ้น ส่วนใหญ่จะดำน้ำกันในบริเวณน้ำตื้นที่มีสัตว์ทะเลและปะการังสวยงามให้ชม ทริปดำน้ำแบบ Snorkeling มักจะหาได้ทั่วไปตามสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นจังหวัดที่มีทะเลและเกาะต่าง ๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
2. Free Diving
ถ้าคุณมีความชำนาญในการกลั้นหายใจและว่ายน้ำเก่ง ก็จะสามารถ ดำน้ำ แบบ Free Diving ได้ การดำน้ำแบบนี้คล้ายกับ Snorkeling และยังนับเป็นการดำน้ำตื้นเช่นกัน แตกต่างตรงที่เวลาดำน้ำแบบนี้ นักดำน้ำจะต้องกลั้นหายใจลึกแล้วดำลงไปสำรวจสัตว์ทะเลและปะการังในระดับที่ลึกกว่าแบบ Snorkeling โดยไม่มีเสื้อชูชีพที่จะประคองตัวให้อยู่เหนือน้ำ ซึ่งก็ต้องคำนวณลมหายใจให้ดี ให้เพียงพอต่อการขึ้นสู่ผิวน้ำ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายได้
3. Scuba diving
สำหรับคนที่อยากจะลงไปสำรวจความมหัศจรรย์ในโลกใต้น้ำในระดับลึก และเอาจริงเอาจังกับการดำน้ำมากกว่าการไป Snorkeling บนผิวน้ำตามแหล่งท่องเที่ยว ก็ต้องลงทุนลงแรงไปกับการดำน้ำแบบ Scuba diving ที่บอกว่าต้องลงทุนเพราะคุณจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับ Scuba gear ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นชุดเว็ทสูท ถังออกซิเจน ท่อหายใจพร้อมเรกูเลเตอร์ ตัวควบคุมการลอยตัว BCD ตลอดจนคอมพิวเตอร์ควบคุมการดำน้ำ ที่จะแสดงค่าต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำน้ำ อุปกรณ์เหล่านี้อาจจะไปเช่าใช้ตามสถาบันสอนดำน้ำก็ได้ แต่ถ้าคุณอยากจริงจังกับการดำน้ำแบบ Scuba diving คุณก็ต้องซื้อบางชิ้นเอาไว้เอง ส่วนที่บอกว่าต้องลงแรงเพราะการดำน้ำแบบ Scuba diving ไม่ใช่ว่าใครจะคว้าอุปกรณ์มาใส่แล้วโดดตูมลงน้ำไปได้เลย แต่คุณต้องไปลงเรียนในระดับต่าง ๆ ตามสถาบันที่เปิดสอนจนได้ใบอนุญาตก่อน สถาบันสอนดำน้ำมาตรฐานที่เปิดสอนและเมื่อเรียนจบก็มีประกาศนียบัตรรับรองให้ด้วยก็มี เช่น
– PADI (Professional Association of Diving Instructors) เป็นองค์กรที่มีสมาชิกมากที่สุดในวงการ ดำน้ำ มีสถาบันสอนดำน้ำ PADI Dive Centers และ PADI Resorts ทั่วโลก ซึ่งนำเสนอหลักสูตรต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับผู้เริ่มต้นจนถึงระดับมืออาชีพ
– SSI (Scuba Schools International) เป็นสถาบันสอนดำน้ำที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรการฝึกฝนดำน้ำ มีผู้เรียนและสถานที่สอนในหลายประเทศทั่วโลก
– NAUI (National Association of Underwater Instructors) เป็นสถาบันสอนดำน้ำที่ยาวนานและมีชื่อเสียง มุ่งเน้นการฝึกฝนและการพัฒนาทักษะในการดำน้ำอย่างมืออาชีพ
– CMAS (Confédération Mondiale des Activités Subaquatiques): เป็นองค์กรที่ครอบคลุมกิจกรรมใต้น้ำทั่วโลก มีสถาบันสอนดำน้ำที่ให้การฝึกฝนและการรับรองคุณวุฒิในด้านดำน้ำ
4. Snuba Diving
เป็นการดำน้ำที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ Snuba Diving จะผสมผสานระหว่าง Snorkeling และ Scuba diving นักดำน้ำจะสวมอุปกรณ์ดำน้ำอย่างเช่น หน้ากากดำน้ำ ท่อหายใจ และตีนกบเหมือนกับ Scuba diving แต่ไม่ต้องแบกถังออกซิเจนไว้บนหลัง เพราะท่อหายใจจะถูกเชื่อมต่อกับถังออกซิเจนที่อยู่บนเรือหรือเหนือผิวน้ำ ซึ่งตัวท่อจะยาวประมาณ 6 เมตร เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสัมผัสการดำน้ำในระดับลึกกว่า Snorkeling แต่ไม่ต้องใช้ความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ดำน้ำขั้นสูง Snuba diving นั้นจะคล้าย ๆ กับ Sea walker และมีบริการในสถานที่ท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่ง
แนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมที่มี กิจกรรมดำน้ำ
ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำประเภทไหน ถ้าตกลงใจจะไปสำรวจความมหัศจรรย์ของโลกใต้น้ำกันแล้ว เราก็มีสถานที่แนะนำซึ่งเหมาะกับการจัดทริปไปดำน้ำ ดังนี้
– อ่าวแสมสาร จ.ชลบุรี
อ่าวแสมสารเป็นคนละที่กับเกาะแสมสาร อย่าเข้าใจผิด อ่าวแสมสารอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เต่าทะเล ดูแลโดยทหารเรือ จึงไม่อนุญาตให้ขึ้นฝั่ง ดังนั้นถ้าจะไปที่นี่คือต้องพุ่งตัวไปดำน้ำเท่านั้น โดยใช้บริการดำน้ำของบริษัททัวร์ได้ที่ท่าเรือแสมสาร ซึ่งจะพาเราไปดำน้ำตามเกาะต่าง ๆ รอบอ่าวแสมสาร เช่น เกาะโรงโขน เกาะโรงหนัง เกาะจวง และเกาะยุ้งเกลือ ซึ่งมีทั้งน้องปลานานาชนิดและปะการังสวยงามมากมาย
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา
ข้ามมาฝั่งอันดามันกันบ้าง หมู่เกาะสุรินทร์ถือเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำตื้นอย่าง Snorkeling หรือดำน้ำลึกแบบ Scuba diving เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพของปะการังน้ำตื้นและสัตว์น้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากบริเวณนี้อุดมไปด้วยแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารของเหล่าน้องปลา หมู่เกาะสุรินทร์ประกอบด้วยเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง และจุดที่นิยมไปดำน้ำกันก็คือ อ่าวไม้งาม อ่าวช่องขาด อ่าวแม่ยาย และอ่าวสุเทพ นอกจากการไปดำน้ำแล้ว คุณยังสามารถไปเยี่ยมเยือนชุมชนมอแกนที่อ่าวบอนใหญ่ เพื่อไปสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวพื้นถิ่นที่นี่ได้ด้วย แต่การจะไปเที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์นั้น จะไปได้ในช่วงระหว่างกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายนเท่านั้น เพราะทุกปีจะมีการปิดอุทยานเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเป็นเวลา 6 เดือน
– เกาะสิมิลัน จ.พังงา
ถ้าพูดถึงการดำน้ำแล้ว จะข้ามเกาะสิมิลันไปไม่ได้เลย เพราะปะการังของเกาะสิมิลันนั้นติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก จึงกลายเป็นจุดหมายของนักดำน้ำนานาชาติ ที่นี่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมากสำหรับการเติบโตของปะการัง เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงสุดประมาณ 28°C และน้ำใสรับแสงสว่างได้อย่างพอเพียง จึงพบน้องปลานานาชนิดและปะการังถึงกว่า 200 สายพันธุ์ได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น
– เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
เกาะเต่า เป็นเกาะที่ติดอันดับ 25 ชายหาดที่ดีที่สุดของประเทศไทย และเป็นแหล่งดำน้ำที่ติดอันดับโลกด้วย เพราะมีแนวปะการังให้นักดำน้ำไม่ว่าน้ำตื้นหรือน้ำลึกได้ลงไปสำรวจยาวถึง 8 กิโลเมตร มีสัตว์น้ำมากมายหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่ปลากระเบน ม้าน้ำ ปลาสากใหญ่ ไปจนถึงฉลามวาฬให้ได้พบเห็น มีจุด ดำน้ำ มากกว่า 24 จุด ทั้งจุดสำหรับ Snorkeling หรือ Scuba diving และสำหรับใครที่สนใจจะเรียนดำน้ำเป็นจริงเป็นจัง ที่นี่ก็มีสถาบันสอนดำน้ำเกือบทุกสถาบันมาเปิดให้บริการอีกด้วย
แล้วคุณล่ะ อยากลองดำดิ่งลงไปสำรวจความมหัศจรรย์ของโลกใต้น้ำดูบ้างหรือยัง หลีกหนีโลกอันแสนวุ่นวายบนบก แล้วลงไปสำรวจโลกมหัศจรรย์ใต้น้ำกันดีกว่า!
ที่มาข้อมูล: wikipedia, diveinfo, padi, ticket2attraction, MukosurinNP, my-best, bestreview, renown-travel, thefunkyturtle, mgronline