เชื่อว่าเด็กมหาลัยที่เพิ่งเรียนจบมาใหม่ ๆ เมื่อทำงานครั้งแรกต่างต้องประสบปัญหาไม่มีเงินเก็บแน่นอน เพราะเมื่อเงินเดือนออกมาต่างก็ต้องหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต, ค่าปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ค่าผ่อนโทรศัพท์ใหม่ ทำให้ไม่อาจเก็บเงินได้ตามที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้เราจึงนำตัวช่วยเก็บเงินอย่าง ตารางออมเงิน มาแนะนำ เพื่อให้ทุกคนสามารถเก็บเงินได้ถึงเป้าหมาย พร้อมมีเงินใช้จ่ายสำหรับรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ในอนาคตได้
ตารางออมเงิน คืออะไร
ตารางออมเงิน หรือ ปฏิทินออมเงิน เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บเงินได้ง่ายขึ้น โดยจะให้เก็บเงินรายวันตามที่ปฏิทินกำหนด เช่น ออมเงินวันละ 20 บาท หรือ 100 บาท ต่อวัน เป็นต้น เมื่อเก็บเงินไปเรื่อย ๆ จากเงินจำนวนเล็กน้อยก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ ซึ่งลักษณะภายนอกของตารางเก็บเงินจะแตกต่างกันออกไป เช่น บางตารางมีช่องใส่เงินตรงวันที่ของปฏิทิน คล้าย ๆ กับกระปุกออมสินที่สามารถหยอดเงินได้ หรือตารางบางชนิดจะไม่มีช่องอะไรให้คุณใส่เลย เพียงแค่ระบุจำนวนเงินออมที่คุณต้องเก็บตรงวันที่ เช่น วันที่ 1 ธันวาคม ออม 10 บาท, 2 ธันวาคม ออม 15 บาท ถ้าออมเงินตามที่กำหนดได้แล้วให้คุณขีดฆ่าวันนั้น ๆ ออกด้วยปากกาสีแดง
นอกจากนี้ตารางเก็บเงินยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ตารางชนิดไม่ระบุเป้าหมาย และตารางชนิดระบุเป้าหมาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ตารางชนิดไม่ระบุเป้าหมาย
เป็นตารางเก็บเงินที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า เพราะไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ต้องออมอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถออกแบบแผนการออมได้ด้วยตนเอง โดยการใส่เงินเก็บเข้าไปในช่องของปฏิทินตามที่ต้องการ ข้อดี คือ ไม่ต้องออมเงินทุกวัน หากใครมีภาระทางบ้านหรือมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวเยอะ แนะนำให้ลองใช้ตารางเก็บเงินชนิดนี้ไปก่อน หากในอนาคตมีช่องทางหารายได้มากขึ้นหรือสามารถจัดการกับค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้นแล้ว สามารถขยับไปใช้งาน “ตารางเก็บเงินชนิดระบุเป้าหมาย” เพื่อเพิ่มความท้าทายในการเก็บเงินได้มากยิ่งขึ้น
- ตารางชนิดระบุเป้าหมาย
เป็นตารางที่กำหนดยอดออมอย่างชัดเจน ตัวอย่างของตารางประเภทนี้ คือ ตารางเก็บเงิน 5,000 บาท, ตารางเก็บเงิน 15,000 บาท หรือเป็นตารางกำหนดระยะเวลาแทนเป้าหมายเงินเก็บ เช่น ตารางเก็บเงิน 1 ปี หรือตารางเก็บเงิน 6 เดือน เป็นต้น ตารางชนิดระบุเป้าหมายจะกำหนดให้คุณออมเงินทุกวัน โดยช่วงวันแรก ๆ มักให้เก็บเงินจำนวนเล็กน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะจะให้ออมเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เพิ่มเป็นออมเงินวันละ 100 – 200 บาทต่อวัน ทำให้การเก็บเงินด้วยตารางประเภทนี้มีความท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ผลที่ได้กลับมาก็คุ้มค่าเช่นกัน
ข้อดีของการใช้งาน ตารางออมเงิน
- ฝึกวินัยในการออมเงิน
ตารางเก็บเงินจะเสริมสร้างทัศนคติทางการเงินที่ดีให้แก่ผู้ออมมากขึ้น เนื่องจากต้องอดออมทุกวัน เช่น นำเงินออมมาใส่ในปฏิทินเก็บเงินแทนที่จะซื้อของฟุ่มเฟือย ทำให้มีความยับยั้งชั่งใจคิดก่อนซื้อได้ดียิ่งขึ้น ลดโอกาสเผลอใช้เงินเกินตัวไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น อย่างเช่นการรูดบัตรเครดิตซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นสาเหตุของการก่อหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ แต่หากคุณเป็นหนี้อยู่แล้ว และต้องการหาทางปิดหนี้ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม การใช้งานตารางออมเงินมาเป็นผู้ช่วยในการเก็บออมเงินอย่างมีวินัย จะช่วยให้สามารถเก็บเงินใช้หนี้ได้ง่ายและเร็วขึ้น
- มีเงินเก็บเผื่อใช้ยามฉุกเฉิน
หากเกิดสถานการณ์ที่ต้องใช้เงินอย่างไม่คาดฝัน เช่น ตกงานกะทันหัน คุณก็จะสามารถนำเงินออมที่ได้จากตารางออมเงินมาใช้จ่ายระหว่างหางานใหม่ได้ อย่ามองว่าเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเด็ดขาด เพราะถ้าคุณเก็บเงินได้ตามที่ตารางระบุ เช่น เก็บเงินได้ 10,000 บาท ตามแผนของตารางเก็บเงิน 1 ปี ก็จะมีเงินใช้จ่ายไปอย่างน้อย 1 – 2 เดือนเลยทีเดียว
แนะนำ ปฏิทินออมเงิน ดีไซน์เก๋
หากรู้จักกับประโยชน์ของตารางออมเงินกันไปแล้ว และต้องการฝึกออมเงินเพื่ออนาคต เรามี ปฏิทินออมเงิน ดีไซน์เก๋มาแนะนำ รับรองว่าซื้อไว้ใช้งานเองเพื่อเก็บเงินก็ได้ประโยชน์หรือจะเอาไปฝากคนที่เรารักก็ได้เช่นกัน
- CeeJay DIY
ปฏิทินเก็บเงินติดผนัง ขนาด 44*52 ซม. ทำมาจากวัสดุลินินผ้าฝ้าย นอกจากจะนำไปเป็นตัวช่วยออมเงินได้แล้ว ยังสามารถนำไปแต่งบ้านให้สวยงามได้อีกด้วย ตัวปฏิทินเป็นชนิด 31 ช่อง ที่ให้คุณเลือกออกแบบแผนการออมและจำนวนเงินเก็บได้ตามที่ต้องการ จึงเหมาะอย่างยิ่งหากใครมีลูกอยู่ที่บ้านแล้วต้องการสอนทัศนคติที่ดีด้านการเงินตั้งแต่วัยเด็ก
- ปฏิทินเก็บเงิน Pocket Planner
ปฏิทินแบบแขวน ขนาด 41*43 ซม. ผลิตมาจากวัสดุผ้ากำมะหยี่ มีรูปแบบปฏิทินหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรายเดือน (31 วัน) หรือรายสัปดาห์ จึงช่วยให้คุณสามารถออกแบบแผนการเงินร่วมไปกับคนในครอบครัวและคนที่คุณรักได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้หากคุณต้องการมีเงินเก็บเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินแต่งงาน เก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ แนะนำให้พิจารณานำเงินเก็บที่ได้จากตารางเก็บเงินไปลงทุนในช่องทางต่าง ๆ อาทิ กองทุนรวม หรือหุ้น เพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากงานประจำ ทั้งนี้ควรศึกษารายละเอียดของการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ว่าคุณรับความเสี่ยงได้เต็มที่เท่าไหร่ และเพื่อป้องกันการสูญเสียเงินต้นอย่างไม่จำเป็น
ที่มาข้อมูล : makebykbank.kbtg.tech, enfababy