เมื่อต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน การเตรียมตัวรับมือจึงสำคัญมาก เพราะปัจจุบันสภาพแวดล้อมและภัยธรรมชาติต่าง ๆ มีรูปแบบของการเกิดที่แตกต่างไปจากครั้งในอดีต ทำให้บ้านพักหรือสิ่งของมีค่าต่าง ๆ อาจจะได้รับความเสียหายได้ ดังนั้นในหน้าฝนแบบนี้ วันนี้เรามีวิธีรับมือปัญหา น้ำท่วม เพื่อเตรียมตัวป้องกันเอาไว้ก่อนมาฝากกัน
ระดับการแจ้งเตือนภัย น้ำท่วม ของทางราชการ
การได้รับแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้และลดผลกระทบให้น้อยที่สุด เพื่อให้ความเข้าใจในการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทางหน่วยงานราชการมีการจัดลำดับการแจ้งเตือนอุทกภัยออกเป็น 4 ระดับดังนี้
- การเฝ้าระวังน้ำท่วม หมายถึง มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมและอยู่ในระหว่างสังเกตการณ์
- การเตือนภัยน้ำท่วม หมายถึง เตือนภัยจะเกิดน้ำท่วม
- การเตือนภัยน้ำท่วมรุนแรง หมายถึง เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง
- ภาวะปกติ หมายถึง เหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ พื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม
วิธีรับมือปัญหา น้ำท่วม บ้าน
ให้ทุกคนติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอุทกภัยในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ สิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามหลังจากทางภาครัฐได้ประกาศแจ้งเตือน คือ
- ทยอยขนสิ่งของมีค่า เครื่องใช้ไฟฟ้า ขึ้นที่สูง
สิ่งแรกหลังจากที่ได้ยินประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและอุทกภัย เจ้าของบ้านทุกคนควรทยอยเก็บของมีค่า เครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นบนชั้น 2 ของบ้านหรือพื้นที่ที่คาดว่าน้ำจะท่วมไม่ถึง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากมวลน้ำมาจริง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมกับเตรียมสับเบรกเกอร์ทันทีเมื่อน้ำเริ่มท่วมหรือมีความเสี่ยงที่จะทะลักเข้าไปในบ้าน เพื่อป้องกันอันตรายจากเหตุไฟฟ้าช็อต
สำหรับบ้านใดมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อาจจำเป็นต้องนำไปฝากจอดในพื้นที่ที่ให้ความช่วยเหลือ เช่น ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะต้องล็อกรถให้แน่นหนา พร้อมนำเอกสารสำคัญออกจากรถ เพื่อที่เวลาไปรับกลับจะได้มีเอกสารในการยืนยันว่าเป็นเจ้าของรถที่นำมาจอดจริง
- เก็บเอกสารสำคัญห่อใส่พลาสติกกันน้ำ
นอกจากของมีค่าและเครื่องใช้ไฟฟ้า เอกสารทางราชการ เอกสารส่วนบุคคล เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร สำเนาเอกสารสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ ควรจัดเก็บในซองพลาสติกที่กันน้ำ พร้อมกับซีลให้ดีเพื่อป้องกันน้ำเข้า เพราะหากเอกสารเหล่านี้สูญหาย จะต้องเสียเวลาไปทำเอกสารใหม่ทั้งหมด
- กักตุนอาหารและน้ำดื่ม
ต้องบอกว่าเมื่อถึงเวลาที่น้ำท่วมจริง กว่าที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะเข้าไปช่วย บางพื้นที่เกิดภัยน้ำท่วมมากกว่า 1 เดือน ดังนั้น ควรกักตุนอาหารแห้ง เครื่องกระป๋องต่าง ๆ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อที่จะมีอาหารกินในช่วงที่รอน้ำลดหรือหน่วยงานอื่น ๆ เข้าไปช่วย
- เตรียมอุปกรณ์ส่องสว่าง แบตเตอรี่สำรอง
รวมถึง ยารักษาโรค ถุงดำ ของใช้ที่จำเป็นสำหรับทำอุปกรณ์ขับถ่าย ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือยังไม่เกิดก็ตาม หากพื้นที่ข้างเคียงได้รับผลกระทบ ทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าอาจจะต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ได้รับผลกระทบ
ดังนั้นควรจัดเตรียมอุปกรณ์ส่องสว่าง แบตเตอรี่สำรองยามฉุกเฉินเอาไว้ด้วย เช่นไฟฉายเทียน ไฟแช็ค และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะจะช่วยส่องสว่างและคอยระวังสัตว์และแมลงมีพิษที่มากับน้ำ การจัดเตรียมถุงดำและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการขับถ่าย เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญ เพราะจะได้ลดเชื้อโรคและทำความสะอาดได้ง่ายเมื่อต้องนำไปทิ้งแบบฝังกลบ
- รองเท้ายาง รองเท้าบูท ชุดกันน้ำและโคลน
เมื่อระดับน้ำลดลง พอที่จะเดินลุยน้ำได้ การใส่รองเท้ายางรองเท้าบูทที่มีพื้นหนาก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการเหยียบเศษไม้ เศษแก้วหรือแมลงมีพิษที่ซ่อนอยู่กัดได้ รวมถึงชุดกันน้ำ กันโคลน เมื่อต้องเดินในพื้นที่ที่มีน้ำและโคลนท่วมขังอยู่
รวมเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกบ้านควรเขียนและบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือนั่นก็คือหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน กู้ภัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือบรรเทาเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งน้อยคนนักที่จะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ ด้วยความคิดที่ว่าอาจไม่จำเป็นหรือเดี๋ยวค่อยหาก็ได้
แต่ใครจะไปคาดคิดว่าเมื่อถึงเวลาเกิดเหตุจริง ๆ กับไม่สามารถนึกเบอร์เหล่านั้นได้ออกหรือจะติดต่อหน่วยงานใดให้เข้าช่วยเหลือก็ไม่สามารถติดต่อได้เพราะไม่รู้เบอร์โทร ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทในชีวิตและทรัพย์สินควรบันทึกเบอร์เหล่านี้ไว้ในโทรศัพท์มือถือหรือจะเขียนติดฝาผนังไว้จะเป็นการดียิ่ง
- ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พื้นที่กรุงเทพฯ โทร. 1111 กด 5
- สายด่วนข้อมูลภัยพิบัติ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ICT) โทร. 192
- เครือข่ายอาสาสมัครวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน โทร. 1677
- กรมชลประทาน สอบถามข้อมูลน้ำในเขื่อน โทร. 1460
- ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท สอบถามเส้นทางน้ำท่วม โทร. 1146
- สายด่วนแจ้งเตือนสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โทร. 1784
- สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669
- หมายเลขโทรศัพท์สถานีตำรวจในพื้นที่
- เบอร์โทรเพื่อเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่
ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ น้ำท่วม หรือลมพายุ เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่ตามมามีแต่ความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นชีวิตและทรัพย์สิน การเตรียมตัวเพื่อป้องกันความเสียหายจึงมีความสำคัญ หมั่นติดตามข่าวสารและประกาศต่าง ๆ จากทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและพร้อมที่จะอพยพเสมอเมื่อได้รับประกาศให้อพยพ
ที่มาข้อมูล: bkkcitismart , thairath