ปัจจุบันการฟังเพลงจาก แผ่นเสียง ไวนิล (vinyl) หรือแผ่นบันทึกเสียงแบบคลาสสิกเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกระแสการฟังเพลงฮิตในยุค 1960’s ถึง 1980’s กลับมาฟีเวอร์อีกรอบ แม้ว่าเพลงเหล่านี้จะสามารถหาฟังในสตรีมมิ่งผ่านสมาร์ทโฟนหรือเครื่องเสียงยุคใหม่ได้ไม่ยาก
แต่หลายคนเชื่อว่าการฟังเพลงยุคดังกล่าวให้เข้าถึงในอารมณ์อย่างที่สุดนั้นจะต้องฟังผ่าน “เครื่องเล่นแผ่นไวนิล” เท่านั้น และเพื่อเป็นการช่วยให้คนรักเสียงเพลงเข้าใจวัฒนธรรมการฟังเพลงจากแผ่นไวนิลมากขึ้น วันนี้เราก็มีสาระความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับแผ่นบันทึกเสียงแบบคลาสสิก รวมถึงเทคนิคการเลือกซื้อที่มือใหม่ควรรู้มาฝากกัน
แผ่นเสียง มีด้วยกันกี่ประเภทและแตกต่างกันอย่างไร?
แผ่นเสียงที่มีวางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันนั้นมีด้วยกัน 3 ประเภทใหญ่ ๆ แบ่งตามขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ได้แก่ 12 นิ้ว, 10 นิ้ว และ 7 นิ้ว
- แผ่นขนาด 12 นิ้ว (LP): เริ่มผลิตเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1948 สามารถบันทึกเพลงที่มีความยาวมากสุด 60 นาที แต่ส่วนใหญ่จะบันทึกกันไม่เกิน 40 นาที
- แผ่นขนาด 10 นิ้ว (SP): เป็นแผ่นเสียงรุ่นบุกเบิก นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุค 1900’s จนถึง 1960’s ปัจจุบันไม่ค่อยมีการผลิตออกมาแล้ว
- แผ่นขนาด 7 นิ้ว: ถูกผลิตมาทดแทนแผ่นขนาด 10 นิ้ว ได้รับความนิยมตั้งแต่ยุค 1960’s มาจนถึงปัจจุบัน มักถูกนำมาเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นที่เรียกว่า “Jukebox” หรือตู้เพลง โดยจะสามารถบันทึกเพลงได้ด้านละ 1-2 เพลง จนเป็นที่มาของคำว่าเพลง Side A/Side B นั่นเอง
สำหรับความแตกต่างระหว่างเสียงที่ได้จากเพลงผ่านแผ่นบันทึกเสียงแบบคลาสสิกกับเสียงที่ได้จากแผ่นซีดีหรือสตรีมมิ่งนั้น ส่วนใหญ่แล้วแผ่นไวนิลจะให้เสียงที่กว้างและมีน้ำหนักมากกว่าแผ่นซีดีหรือไฟล์ดิจิทัล แต่ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น คุณภาพของแผ่น หรือคุณภาพของเครื่องเล่น
เทคนิคการเลือกซื้อ แผ่นเสียง ที่มือใหม่ควรรู้
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีแผ่นเสียง ทั้งที่เป็นของเก่าแท้ ๆ และของใหม่ที่เพิ่งผลิตให้เลือกเก็บสะสมกันเป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็มีบางส่วนที่เป็นของไม่ได้คุณภาพ หรือเป็นของที่อยู่ในสภาพไม่ดี ไม่เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งวันนี้เราก็มีเคล็ดลับการเลือกซื้อที่มือใหม่ควรรู้มาฝากกัน
- ตรวจสอบสภาพของแผ่นไวนิลก่อนซื้อ แผ่นเสียงที่วางขายอยู่มีทั้งแบบมือสองและของใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนเราก็ควรต้องพิจารณาสภาพภายนอกของแผ่นก่อนซื้อ โดยสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้
- เกรด F/G (Fair/Good) : ถือเป็นเกรดต่ำสุด สภาพพอดูได้ มีสิ่งแปลกปลอมที่ล้างไม่ออกอยู่ตามร่อง แต่ยังเปิดฟังได้ มีเสียงรบกวนพอสมควร ส่วนใหญ่จะพบในแผ่นที่มีอายุ 40 – 50 ปี
- เกรด VG (Very Good) : แผ่นมีริ้วรอยอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับน่าเกลียด ที่สำคัญคือแผ่นยังมีความมันวาวอยู่ เปิดฟังแล้วอาจมีเสียงรบกวนเล็กน้อย
- เกรด EX (Excellent) : แผ่นสภาพดี มีตำหนิแค่เล็กน้อย เช่น รอยนิ้วมือ หรือฝุ่น แต่ไม่มีเสียงรบกวน
- เกรด NM (Near Mint) : แผ่นสมบูรณ์กริ๊บ แทบไม่มีร่องรอยการเล่น หรือตำหนิที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เงางามเสมอกันหมดทั้งแผ่น
- เกรด SS (Still Sealed) : แผ่นที่ยังไม่เคยถูกเปิดฟังเลย มีพลาสติกหุ้มอยู่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นมือหนึ่ง 100%
- หากเป็นไปได้ให้เลือกแผ่น Original Press สิ่งที่เรียกว่า Original Press หรือแผ่นปั๊มแรกนั้น เป็นแผ่นที่ถูกอัดจากเสียงฉบับมาสเตอร์โดยตรง ทำให้เป็นของหายากและเป็นที่ต้องการมาก ยิ่งแผ่นรุ่นหลัง ๆ ที่ถูกปั๊มต่อมาเรื่อย ๆ คุณภาพของเสียงจะด้อยกว่าแผ่นปั๊มแรกพอสมควร
- หากเป็นไปได้ให้เลือกแผ่นยุค 1990’s หากคุณเห็นแผ่นไวนิลที่ผลิตในยุค 1990’s แล้วก็อย่าได้ตกใจกับราคา เพราะเป็นที่รู้กันดีในหมู่นักสะสมว่า แผ่นของวงดนตรีในยุค 1990’s นั้นมีราคาค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งก็เพราะช่วงนั้นเป็นยุคทองของ “เทปคาสเซ็ตต์” ทำให้ไม่ค่อยมีการผลิตในรูปแบบแผ่นไวนิลมากนัก
- ลองฟังเพื่อหาตำหนิ แม้ว่าแผ่นไวนิลบางแผ่นจะมีสภาพใหม่กริ๊บ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีปัญหา เพราะนาน ๆ ที จะเจอแผ่นที่มีความผิดพลาดจากโรงงาน เช่น แผ่นโก่ง, แปะกระดาษทับร่องเสียง หรือมีคราบฝุ่นติดร่อง ดังนั้น วิธีที่จะช่วยให้เรามั่นใจที่สุดคือต้องลองฟังด้วยตัวเองว่ามีเสียงกรอบแกรบ ซึ่งหากเป็นความผิดปกติเพียงเล็กน้อยเราก็สามารถบอกให้ทางร้านใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดแผ่นไวนิลเช็ดทำความสะอาดเพื่อให้เสียงกลับมาเป็นปกติได้
- รอแผ่นที่ผลิตรอบใหม่ แผ่นไวนิลอัลบั้มดัง ๆ มักจะมีการผลิตหลายรอบ ยิ่งอัลบั้มของวงดนตรีระดับตำนานเมื่อครบรอบ 10 ปี หรือ 20 ปี ก็มักจะมีการผลิตใหม่ ดังนั้น หากเราหาแผ่นปั๊มแรกไม่ได้จริง ๆ ก็ขอให้ใจเย็น ๆ รอเก็บแผ่นที่ผลิตรอบใหม่ ซึ่งต้องคอยเช็กข่าวดี ๆ เพื่อไม่ให้พลาดกำหนดวางขาย
ประเภทของ เครื่องเล่นแผ่นเสียง
เมื่อเราได้ แผ่นเสียง ที่ถูกใจแล้ว ลำดับต่อไปก็คือการเลือกเครื่องเล่นแผ่นไวนิลมาทำหน้าที่ปลดปล่อยเสียงดนตรีที่บันทึกอยู่ภายใน โดยเครื่องเล่นที่วางขายอยู่ในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังต่อไปนี้
- เครื่องเล่นแผ่นระบบอัตโนมัติ (full-automatic): เป็นเครื่องเล่นที่เหมาะสำหรับมือใหม่เพราะใช้งานง่ายมาก เพียงแค่กดปุ่ม Play เครื่องก็จะเล่นแผ่นเองอัตโนมัติ
- เครื่องเล่นแผ่นระบบกึ่งอัตโนมัติ (semi-automatic): เป็นเครื่องเล่นที่มีกลไกบางอย่างที่เราต้องจัดการด้วยตัวเอง เช่น ยกก้านหัวเข็ม (tonearm) มาวางให้ตรงร่องแผ่นเสียง ทั้งตอนเริ่มและตอนจบเพลง
- เครื่องเล่นแผ่นแบบแมนนวล (manual): เป็นเครื่องเล่นที่เราต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเปิด/ปิด, การวางก้านหัวเข็ม ฯลฯ แม้จะไม่สะดวกเท่าระบบอัตโนมัติ แต่ก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า และที่สำคัญคือเครื่องแบบนี้มีราคาค่อนข้างสูง
ทั้งหมดนี้คือสาระความรู้เกี่ยวกับ แผ่นเสียง แบบคลาสสิกที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ข้อสำคัญคือแผ่นไวนิลเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างเปราะบาง ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้งาน และต้องมีความเอาใจใส่ในการเก็บรักษามากกว่าแผ่นซีดีหรือไฟล์ดิจิทัล แม้อาจจะฟังดูจุกจิกยุ่งยากไปหน่อย แต่สำหรับคนที่มีใจรักแล้วย่อมถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับประสบการณ์สุดพิเศษที่ได้จากการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงแน่นอน
ที่มาข้อมูล: sanook , ratisil , happeningandfriends , elpashaw